ถอดคัมภีร์ "แพ้เพื่อชนะ!" สไตล์ "กัมพล ตันสัจจา" สวนนงนุชพัทยา
หากเปรียบอาณาจักร “สวนนงนุช พัทยา” บนพื้นที่กว่า 1,700 ไร่ซึ่งเปิดให้บริการมานาน 41 ปี เหมือนหนังเรื่องหนึ่ง “กัมพล ตันสัจจา” ประธานสวนนงนุช พัทยา คือผู้อยู่เบื้องหลังนั่งแท่น “ผู้กำกับ” คอยตัดแต่งภาพสวนใหญ่ให้สวยดั่งฝัน คุมการเล่าเรื่องให้ลงตัวมากที่สุด
จนได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 10 สวนสวยที่สุดของโลก!!
กัมพล กรอม้วนฟิล์มย้อนไปยังจุดเริ่มต้น ฉายภาพที่มาของสวนนงนุช พัทยา ให้ฟังว่า คุณแม่ (นงนุช ตันสัจจา) ได้ก่อตั้งสวนนงนุชฯขึ้นหลังไปเห็นสวนสวยในประเทศอื่นๆ แล้วบอกว่าประเทศไทยควรจะมีบ้าง ด้วยโลเกชันอยู่ใกล้เมืองพัทยา สามารถดึงนักท่องเที่ยวมาสวนนงนุชฯได้
ตอนนั้นผมไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรก เตือนคุณแม่ว่าการทำสวนสร้างรายได้ค่อนข้างลำบาก เพราะไม่ใช่สถานที่ที่ทุกคนอยากจะมาเที่ยว แต่คุณแม่ก็ตัดสินใจเดินหน้าสร้างขึ้นมา! แม้จะเจอโจทย์ยาก
เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยไม่ค่อยชอบเดิน ไม่ชอบแดด ไม่ชอบฝน และไม่ชอบเที่ยววันธรรมดา แต่ก็ได้ปรับให้มีบริการนั่งรถชมสวน และมีการแสดงวัฒนธรรมไทยและการแสดงช้างเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ช่วยสร้างรายได้ให้สวนนงนุชฯอยู่ได้
“ช่วง 5 ปีแรกผมไม่ได้เข้ามายุ่งเลย แต่หลังจากนั้นคุณแม่ก็เลือกผมจากบรรดาพี่น้อง 3 คนให้เข้ามาดูแลกิจการนี้ ยอมรับว่าตอนนั้นผมไม่รู้เรื่องต้นไม้เลย ต้องปฏิบัติตามท่าน ฝึกฝนจนกระทั่งเข้าใจว่าสวนพฤกษศาสตร์คืออะไร ควบคู่กับการคิดวิธีหาเงินให้สวนนงนุชฯอยู่รอดได้ด้วย เราจึงมุ่งทำทุกอย่างเพื่อให้กรุ๊ปทัวร์นักท่องเที่ยวต่างชาติพอใจ”
แต่พอช่วง 10 ปีให้หลังก่อนนี้ ผมคุยกับคุณแม่ว่าขอเลิกทำสวนสัตว์เล็กๆ เหลือไว้แค่สัตว์บางชนิดไว้โชว์ แล้วเบนเข็มมา “ปั้นสัตว์ด้วยซีเมนต์” แทน ตอนนั้นปั้นเป็นร้อยกว่าชนิด แต่ลูกค้าเด็กๆ ก็ยังไม่มา สุดท้ายลูกน้องถามผมว่าขอปั้น “ไดโนเสาร์” ได้ไหม? ผมบอกลองดูสักตั้ง
ปรากฏกลายเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” กระแสตอบรับท่วมท้น มีคนแห่มาถ่ายรูปกับไดโนเสาร์อย่างเดียว ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้เรามีกว่า 400 ชนิด รวมเกือบ 1,000 ตัวแล้ว เรียกได้ว่ามากที่สุดในโลก และเพิ่งปั้นตัวที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อเร็วๆ นี้เอง เคยมีนักท่องเที่ยวฝรั่งบอกผมว่า “คุณทำสำเร็จแล้ว” ที่สามารถดึงดูดเด็กได้ขนาดนี้! และผมมั่นใจว่าลูกค้าเด็กที่เคยมาถ่ายรูปกับรูปปั้นสัตว์ ภาพเหล่านั้นจะอยู่ในความทรงจำ และจะพาลูกหลานของเขากลับมาเที่ยวที่นี่อีกครั้ง
กัมพล เล่าเพิ่มเติมถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสวนนงนุชฯว่า มีอยู่วันหนึ่ง...ผมเห็นหนังสือเล่มหนึ่ง บนหน้าปกเขียนว่า “สวนสำหรับศตวรรษที่ 21” พอเปิดดูเนื้อหาข้างในเต็มไปด้วยข้อมูลที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และทำให้เข้าใจว่าแท้จริงแล้ว “การทำสวน” ไม่จำเป็นต้องทำตามสิ่งที่ควรเป็น แต่สามารถทำตามสิ่งที่คิดได้ จึงเปลี่ยนแปลงสวนนงนุชฯให้เป็น "สวนที่แปลกใหม่!" อาศัยมุมมองจากอาชีพเก่าของผมซึ่งเคยเป็น “คนทำหนัง” มาก่อน
“สำหรับคนทำหนังแล้ว เวลามาทำกิจการอื่นจะได้เปรียบตรงที่เรามองในมุมผู้ใช้หรือผู้ดู ไม่ใช่มองในมุมที่เราอยากทำเพียงอย่างเดียว ลูกค้าจะเป็นคนบอกเราเองว่าเวลามาสวนอยากมาถ่ายรูปสวนแปลกๆ ตามมุมต่างๆ อีกสิ่งสำคัญคือการรับฟังฟีดแบ็กจากลูกค้า โดยเฉพาะตอนนั่งรถชมวิว คนขับรถจะมีหน้าที่มารายงานผมทุกวันว่าลูกค้าชมและบ่นอะไรบ้าง เพื่อแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น”
อย่างตอนทำหนัง การทำให้คนนั่งดูตั้งแต่ต้นจนจบ ต้องมีฉากต่างๆ เร้าอารมณ์หลากหลาย การทำสวนก็เช่นกัน ให้คนนั่งรถชมวิว 45 นาทีเหมือนดูหนังเรื่องหนึ่ง ต้องมีฉากที่ดึงดูดให้เขาดูจนจบและพึงพอใจ ยิ่งคนสมัยนี้ต้องการเสพคอนเทนต์ด้วยความเร็วแต่รู้เรื่อง! ผมเลยเพิ่งตกผลึกคอนเซปต์ใหม่เมื่อไม่กี่ปีนี่เองว่าต้องทำสวนแบบ “Pocket Park in The Park” ให้เป็นสวนสมัยใหม่ (Modern Garden)
คำว่า “Pocket Park” คือสวนเล็กๆ ที่มีทุกอย่างอยู่ในสวนใหญ่อีกที เมื่อเดินทางมาถึงสวนนงนุชฯจะเห็นสวนกระบองเพชรเป็นตัวชูโรง มีไฮไลต์อื่นๆ อย่างโชว์รูมรถ สวนผีเสื้อ โรงละคร การแสดงวัฒนธรรม การแสดงช้าง รวมถึง “สวนลอยฟ้า” ที่เป็น “มาสเตอร์พีซ” ของเรา! หลังจากสิงคโปร์มี Garden By The Bay ผมเลยสร้างสวนอีกแบบที่ไม่เหมือนใครในโลกบนพื้นที่ 6 ไร่ ถ้าคิดเนื้อที่รวมชั้นบนและชั้นล่างก็เหมือนมี 12 ไร่
“เฉพาะ “สวนนงนุช 1” ก็มีทั้งหมด 40 สวนแล้ว มาเที่ยวหนเดียว ไม่มีทางดูหมดแน่นอน และถ้ามีโอกาสมาอีก ก็จะพบว่าสวนเก่าบางจุดเปลี่ยนไป เหมือนกับการทำหนัง ซีนนี้ไม่ดีเลย ตัดต่อใหม่ได้ไหม ถ่ายใหม่ได้ไหม เมื่อเห็นว่าบางจุดของสวนไม่มีคนสนใจ ก็รื้อทำใหม่ เติมไอเดียใหม่เข้าไป แก้แล้วแก้อีกจนกว่าจะลงตัว สวนนงนุชฯจึงมีการเปลี่ยนแปลงตลอด เพราะเรามีพันธุ์ไม้จากเนอร์สเซอรีต้นไม้ที่มีอยู่ทั่วประเทศรวมเกือบ 5,000 ไร่ นี่คือส่วนสำคัญที่ทำให้สวนนงนุชฯแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร จนได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 10 สวนสวยที่สุดในโลก”
ด้าน “สวนนงนุช 2” ผมภูมิใจที่ได้พัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เกี่ยวกับต้นไม้ การปลูกผักปลอดสารพิษ สวนสมุนไพร ตอนนี้กำลังขออนุญาตปลูกกัญชา นอกจากนี้ยังมีบริการบุฟเฟต์ผลไม้ คลาสสอนทำอาหาร มีคอลเลคชั่นของพันธุ์ไม้ต่างๆ เช่น คอลเลคชั่นพันธุ์ไม้ในพุทธประวัติ รวมถึงแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม เช่น สนามมวยไทย พื้นที่สำหรับเล่นสงกรานต์ ลอยกระทง ล่าสุดที่เพิ่งทำเสร็จคือพิพิธภัณฑ์หัวโขน ถือเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวชอบที่สุดในตอนนี้ ควบคู่กับให้บริการที่พัก ห้องประชุมสัมมนา จัดเลี้ยงนอกสถานที่ อีเวนท์ หรือคอนเสิร์ต รองรับได้ครั้งละ 2,000-3,000 คน
“ตอนสร้างสวนนงนุช 2 ขึ้นมา เรารู้อยู่แล้วว่าจะไม่ค่อยได้กำไร แต่จะเป็นจุดที่ทำให้มีคนมาเยือนสวนนงนุชฯเป็นประจำ ทำให้เรามีรายได้แบบพออยู่ได้ ทั้งจากตลาดนักเรียน นักศึกษา และข้าราชการ มาดูงานด้วยเที่ยวไปด้วย ถ้าเป็นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อนเจอโควิด-19 ก็จะนิยมมาเที่ยวพร้อมทานบุฟเฟต์ผลไม้และนั่งรถชมวิว”
การพัฒนาสวนนงนุช 2 จึงสอดคล้องกับ “คติประจำใจ” ของกัมพล ...ไม่ว่าทำอะไรก็ตาม “ต้องแพ้เพื่อชนะ!” เพราะทุกวันนี้ทุกคนต้องการที่จะเอาชนะท่ามกลางคู่แข่งมากมาย แต่การแพ้เพื่อชนะ จะทำให้เราไม่ค่อยมีคู่แข่ง ผมลงทุนไปหลายอย่าง ทางธนาคารถามว่าจะมีกำไรไหม ผมบอกไม่มี แต่ถ้าไม่มีสิ่งนี้ อย่างอื่นจะดีขึ้นไม่ได้ หลายๆ องค์ประกอบที่เราใส่เข้าไปในสวนนงนุช 2 จึงมีส่วนสร้างเอกลักษณ์ใหม่และทำให้สวนนงนุช 1 ดีขึ้น!!
สำหรับหลักการบริหารงานและคน ผมใช้คำว่า “อีกนิดนึง” เพราะถ้าเราเปลี่ยนทัศนคติคนให้คิดได้ว่า “ขออีกนิดนึงได้ไหม...ว่าจะทำอย่างไรให้มันดีขึ้นกว่านี้” จะมีส่วนช่วยพัฒนาสวนนงนุชฯอย่างมาก อีกคำคือคำว่า “เดี๋ยว” กับ “เดี๋ยวนี้” เพื่อขจัดการผัดวันประกันพรุ่ง เพราะถ้าพนักงานบอกว่าเดี๋ยวก่อน ก็จะลืมว่าต้องทำอะไร แต่ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้! คือไม่มีลืมแน่นอน นี่คือจุดที่ผมพยายามสอนพวกเขามาตลอด
ด้านวิกฤติโควิด-19 ที่ต้องเผชิญมาตลอด 2 ปีเต็ม ถือเป็นวิกฤติหนักที่สุด เพราะสวนนงนุชฯพึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 70-80% ส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าคนไทยจากตลาดการจัดประชุมสัมมนา การเข้าพัก การจัดอีเวนท์ต่างๆ สมมติว่าตอนนี้ทำได้ดีเยี่ยม ก็ยังได้แค่ 30% ของรายได้เดิมก่อนเจอโควิด-19 ซึ่งไม่เพียงพออยู่แล้ว ต้องมีรายได้ฟื้นเป็น 60-70% ถึงจะมีกำไร
“ช่วงโควิดผมบอกลูกน้องทุกคนว่า คำว่า “นิวนอร์มอล” จะทำให้ธุรกิจของสวนนงนุชฯไม่เหมือนเดิม รายได้อาจน้อยลง เราต้องปรับตัวเพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด รอวันที่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา ที่ผ่านมาก็มีขอลดเงินเดือนพนักงาน มีกู้เงินจากธนาคารมาช่วยส่วนหนึ่ง ใช้เงินเก็บบางส่วนมาหมุนเวียน และมีเงินจากบริษัทลูกที่รับจัดสวน ดูแลสวน และเนอร์สเซอรีต้นไม้ซึ่งเริ่มมีเงินพอมาช่วยได้บ้าง ทำให้สวนนงนุชฯยังยืนอยู่ได้ แต่ก็เป็นการยืนได้ด้วยความยากลำบาก”
และจากบทเรียนกับประสบการณ์มากมาย สอนให้ กัมพล รู้ว่าอย่ามานั่ง “เสียดายเวลา” ทีหลัง! ปล่อยให้เวลาล่วงเลยโดยเปล่าประโยชน์ ควรใช้เวลาเพื่อเร่งความเร็วสร้างสิ่งที่เราอยากให้เป็นเกิดขึ้นจริง เมื่อผลงานที่ทำอย่างเหนื่อยยากสำเร็จ ผลงานอื่นแม้ยากเท่าไร ก็สำเร็จได้เหมือนกัน
“อย่างผมเองเคยทำหนัง ผมก็เคยไปถึงจุดสุดยอดของหนัง ผมมาเริ่มทำสวน ผมก็คิดว่ามาอยู่ในจุดสุดยอดของการทำสวนเหมือนกัน โดยเราไม่ได้ถือว่าเราเป็นคนเก่ง แต่เป็นคนที่ปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน ถ้าเราทำได้ก็จะประสบความสำเร็จ!”