กรมเชื้อเพลิงฯ ชี้ปี 64 นำรายได้กิจการปิโตรเลียมเข้ารัฐกว่า 1 แสนล้าน
“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ” ระบุปี 2564 สามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐรวมกว่า 103,585 ล้านบาท ประมาณการตัวเลขธุรกิจปิโตรเลียมปี2565 อยู่ที่ระดับ 1-2 แสนล้านบาท
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) กล่าวว่า ปี 2564 ที่ผ่านมา กรมฯ สามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐในรูปแบบค่าภาคหลวง ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ รายได้จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย และรายได้อื่นๆ เช่น ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาผลิต ได้จำนวน 53,637 ล้านบาท ในส่วนของภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง เป็นจำนวน 49,948 ล้านบาท รวม 103,585 ล้านบาท ประมาณการตัวเลขธุรกิจปิโตรเลียมปี2565 นี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 1-2 แสนล้านบาท
สำหรับการดำเนินงานปี 2565 กรมฯ มีแผนในการเตรียมเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 24 จำนวน 3 แปลงในทะเลอ่าวไทย ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ประกอบด้วย 1. แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 มีพื้นที่รวม 8,487.20 ตารางกิโลเมตร 2. แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 มีพื้นที่รวม 15,030.14 ตารางกิโลเมตร และ 3. แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G3/65 มีพื้นที่รวม 11,646.67 ตารางกิโลเมตร
โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการนำเสนอนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการออกประกาศเชิญชวนให้ยื่นขอสิทธิฯ ซึ่งกรมฯ คาดหวังว่าพื้นที่แปลงสำรวจและผลิตดังกล่าวจะเข้ามาช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ปัจจุบันจะเริ่มมีปริมาณน้อยลงไปเรื่อยๆ คาดว่าการเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯ ครั้งนี้ จะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท และทดแทนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้ คาดว่าจะเริ่มขายก๊าซและน้ำมันได้ไม่เกินปี 2569
สำหรับการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านของแปลง G1/61 หรือแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณนั้น กรมฯ ได้ประสานการเจรจาระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้รับสัมปทานรายเดิม และบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ. อีดี ในฐานะผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) มาโดยตลอด ในเรื่องการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) แหล่งเอราวัณก่อนจะสิ้นอายุสัมปทานในเดือนเม.ย.2565
“เชื่อว่าไม่เกิน 1 ปีครึ่ง ปตท.สผ.จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯที่หายไปในแหล่งเอราวัณได้ตามสัญญา 800 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ถือว่าเร็วกว่าเป้าที่วางไว้ 2 ปี เพราะได้ทำสัญญาในการเข้าพื้นที่เรียบร้อยแล้ว และในขณะนี้ก็พยายามให้เพิ่มกำลังการผลิต อาทิ แหล่งอาทิตย์ เพื่อชดเชยในปริมาณที่หายไป”
นอกจากนั้น กรมฯ ยังเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมถึงการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าในอนาคต เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการร่วมมือกับบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มทำการศึกษาและทดลองใช้เทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) เพื่อดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการประกอบกิจการต่างๆ ลงไปเก็บในชั้นหินใต้ดินในระดับความลึกที่มีความเหมาะสมในการกักเก็บคาร์บอนป้องกันไม่ให้มีการปล่อย เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นหนึ่งในมาตรการที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด