เงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง สอดคล้องกับมุมมองเชิงกลยุทธ์
เงินทุนไหลเข้าอาเซียนต่อเนื่อง สอดคล้องกับมุมมองของเรา วานนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 6,675 ล้านบาท นับจากต้นปีนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเป็นบวกถึง 17 จาก 26 วันทำการ และมียอดซื้อสุทธิสะสมที่ 26,322 ล้านบาท
ขณะที่ทิศทางของตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP market อื่นทั้งอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีทิศทางของเงินทุนต่างชาติที่ดีกว่า เกาหลีไต้ และไต้หวัน อย่างชัดเจน ซึ่งทิศทางดังกล่าวสอดคล้องกับมุมมองของเราที่สื่อสารกับนักลงทุนตั้งแต่ ต้นธ.ค.64 ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะฟื้นตัวชัดเจนในปีนี้หลังเปิดเมือง และโดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่น จะดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้าจาก asset allocation ที่คาดว่าจะจัดสรรน้ำหนักให้ไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกกับหุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธนาคารหรือหุ้นขนาดใหญ่
ไม่ว่าเงินเฟ้อสหรัฐออกมาสูงหรือต่ำ เรายังมองบรรยากาศลงทุนเป็นบวก ด้วยภาพของคาดการณ์เงินเฟ้อประเทศขนาดใหญ่ที่จะสูงสุดในช่วงต้นปีก่อนทยอยปรับลดลงต่อเนื่อง ทำให้เราประเมินตลาดจะไม่กังวลมากนักหากการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อ ม.ค.65 ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 7.3% (สูงสุดในรอบ 40 ปี) ในขณะที่หากตัวเลขออกมาต่ำกว่านั้น หรือโดยเฉพาะต่ำกว่าเงินเฟ้อ ธ.ค.64 ที่ 7.0% ตลาดจะมองเป็นบวกว่าเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุด และแรงกดดันของการขึ้นดอกเบี้ยจะผ่อนคลายลง ซึ่งเมื่อดูจากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 2 และ 10 ปี ที่เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำในปีก่อนที่ 1.1-1.3% สะท้อนมุมมองของนักลงทุนต่อการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในระดับ 4-5 ครั้งแล้ว ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในจุดที่มีโอกาสจะใกล้สูงสุดในระยะสั้น ซึ่งการปรับลดลง จะเป็นปัจจัยบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง
อาจผันผวนจากการย่อของราคาน้ำมัน และยอดติดเชื้อในประเทศ แม้เรายังมองบวกต่อราคาน้ำมันที่น่าจะทรงตัวในระดับ 80-100 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ประเด็นการเจรจาเพื่อยกเลิกคว่ำบาตรอิหร่าน มีโอกาสทำให้ราคาน้ำมันดิบย่อตัวลงสู่ 80-85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศเก็งกำไรระยะสั้นของกลุ่มพลังงานและหุ้นที่เกี่ยวข้อง ขณะที่การติดเชื้อในประเทศเช้าวันนี้ (9 ก.พ.) ที่ระดับ 13,182 ราย เร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนจาก 4 วันก่อนหน้า อาจสร้างแรงกดดันให้ตลาดผันผวนจากความกังวลผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่
ประเด็นเก็งกำไรอื่น 1) กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง การเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ บวกต่อ CK, STEC, ITD, UNIQ 2) กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ ตลาดเก็งกำไรการเข้าสู่ธุรกิจใหม่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิตอล และผลประกอบการปี 2564 ที่น่าจะเห็นการจ่ายปันผลในระดับที่ดี อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่ชัดเจนของภาพรายได้ปี 2565 อีกมาก การเก็งกำไรจึงควรกำหนจุดตัดขาดทุนทุกครั้ง KGI, ASP, CGH, FSS 3) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นกลุ่มที่มักจะเคลื่อนไหวได้ดีในภาวะเงินเฟ้อ อีกทั้ง valuation ต่ำ และปันผลสูง ทำให้มีโอกาสเห็นการฟื้นตัวของ LH, SPALI, AP, SC, ASW 4) กลุ่มบันเทิง ผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวจากงบโฆษณาที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ บวกต่อ ONEE, BEC, WORK, MONO 5) หุ้นเก็งกำไรทางเทคนิค อาทิ SFT, WFX, CV, UBE, VPO, CPI, TOP, RAM, IND, MAKRO, CPALL
ภาพรวมกลยุทธ์: ยกกรอบขึ้นเป็น 1,667-1,700 จุด ยังคงมุมมองความผันผวนจะทยอยลดลงและบรรยากาศลงทุนรวมจะทยอยดีขึ้น โดยให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อสหรัฐฯ ใกล้ถึงจุดสูงสุด ซึ่งจะลดแรงกดดันการขึ้นดอกเบี้ย //หุ้นแนะนำ: CPN*, SPALI*, BANPU*, KSL*
แนวรับ: 1,667 / แนวต้าน : 1,685-1,700 จุด สัดส่วน : เงินสด 50% : พอร์ตหุ้น 50%
ประเด็นการลงทุน
เลื่อนพืจารณาต่อสัมปทานสายสีเขียว – หลังรมต.พรรคภูมิใจไทย 7 ราย ลาประชุม ขณะที่กระทรวงคมนาคมคัดค้านการต่อสัญญาสัมปทาน ทำให้ประเด็นดังกล่าวยังเป็นปัจจัยถ่วงหุ้น BTS
AMA – รุกธุรกิจขนส่งทางบก เพิ่มรถบริการเป็น 225 คัน รองรับขนส่งน้ำมันไป PTG ขณะที่ขนส่งทางเรือปีนี้ทรงตัว
SK – เตรียมประมูลโปรเจ็กต์ใหญ่ กฟผ. มูลค่า 300 ล้านบาท โชว์แบ็กล็อกเต็มหน้าตัก 250 ล้านบาท พร้อมดันผลงานยืนระดับปกติที่ 670 ล้านบาท เผยศึกษาแผนลุยธุรกิจใหม่ คาดมีความชัดเจนในไตรมาสแรกปีนี้
CRC – วางแผนดันรายได้ปี 69 โต 250% จากปี 64 หลังรุกขยายฐาน-ธุรกิจใหม่หนุน
TKS – ตั้งบริษัทย่อยลงทุนสตาร์ทอัพ Blockchain Digital Transformation เผยเจรจาอยู่ 4-5 บริษัท ปีนี้ผลงานดีลุ้นรับงานบัตรเลือกตั้ง เผยไตรมาส 1/65 ติดตั้งเครื่องจักรใหม่เตรียมบุกธุรกิจผลิตฉลากและบรรจุภัณฑ์
ประเด็นติดตาม: 9 ก.พ. – ประชุมกนง., MSCI Rebalancing / 10 ก.พ. – US CPI / 11 ก.พ. – IEA Monthly Report
(* หมายถึง หุ้นทางกลยุทธ์ ซึ่งอาจมีคำแนะนำต่างกับพื้นฐาน หรือที่ไม่ ได้อยู่ในการวิเคราะห์ของ UOBKH ซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาตั้งจุดตัดขาดทุน 3-5% ของราคาที่เข้าซื้อ)