ทำไมไทยต้องเปลี่ยนระบบสัมปทานปิโตรเลียมเป็น "ระบบ PSC"
ปี2565 ถือเป็นปีประวัติศาสตร์ของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแห่งประเทศ เพราะเป็นปีที่เปลี่ยนผ่านจากสัมปทานเดิมที่ใช้มา 50 ปีแล้ว มาเป็นระบบสัญญาแบบปันผลผลิต (PSC) โดยสมบูรณ์
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) กล่าวว่า ความแตกต่างของสัญญาในปัจจุบันส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับความแตกต่างของแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมในแต่ละประเทศ และช่วงเวลาของทรัพยากรที่อยู่ใต้ดินและในท้องทะเล
สำหรับข้อแตกต่างของสัญญาหลักๆ แบ่งเป็น 3 รูปแบบคือ 1. สัญญาจ้างบริการ (SC) จะเหมาะกับพื้นที่ที่มีปริมาณสํารองน้ำมันดิบตั้งแต่ 300 ล้านบาร์เรลขึ้นไป และมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตขึ้นไป ซึ่งเหมาะกับแหล่งขนาดใหญ่ โดยจะให้สิทธิ์ภาครัฐในการควบคุมการดำเนินธุรกิจอย่างเข้มข้น
ทั้งนี้ รัฐก็จะต้องแบกรับความเสี่ยง 100% ดังนั้น รัฐเองจะต้องมั่นใจในแต่ละแหล่งด้วยเช่นกันว่ามีปริมาณก๊าซธรรมชาติเพียงพอหรือไม่ อย่างไร ถือเป็นสร้างแรงจูงในนักลงทุน
2. ระบบสัญญาแบบปันผลผลิต (PSC) หากรัฐมีความมั่นใจว่าจะมีโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์สูงกว่าร้อยละ 38 จะเหมาะกับพื้นที่ที่มีข้อมูลการสำรวจค่อนข้างมาก ขนาดของแหล่งปิโตรเลียมตามความต้องการ และมีความเสี่ยงต่ำกว่า อีกทั้ง ภาครัฐเองก็จะมีส่วนร่วมในการอนุมัติแผนงานและงบลงทุน ตลอดจนการดำเนินงานต่างๆ ร่วมกับผู้ได้รับสัญญา
และ 3. ระบบสัมปทาน (Concession) หากโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ต่ำกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 38 ระบบสัมปทานเหมาะกับพื้นที่ที่มีข้อมูลการสำรวจน้อยหรือยังไม่มีการสำรวจทำให้พื้นที่มีความเสี่ยงสูงในการสำรวจพบปิโตรเลียม
โดยจะเริ่มใช้ระบบ PSC แหล่งก๊าซเอราวัณที่จะสิ้นสุดสัมปทานวันที่ 23 เมษายน 2556 โดยในช่วงก่อนหน้า G1 ได้ประมูลเป็นการทั่วไปหลังจากที่เปิดประมูลได้ผู้ชนะปลายปี2564 โดยปตท.สผ.
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมจะมีระบบหลักๆ ทั้ง 3 ระบบ เป็นระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นมาดูแลทรัพยากรของประเทศ ทุกระบบมีข้อดีข้อเสีย มีความชอบธรรม ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะชอบระบบไหน และขึ้นอยู่กับเกณฑ์สำคัญ
ซึ่งระบบการจัดเก็บรายได้โดยรวมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบ่งออกเป็น 2 ระบบคือ สัมปทาน ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ นอร์เวย์ เป็นต้น และระบบ PSC ซึ่งมีประเทศที่ใช้ระบบนี้ได้แก่มาเลเซีย พม่า อินโดนีเซีย และพื้นที่พัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย เป็นต้น
“แตกต่างที่สำคัญของทั้ง 2 ระบบนี้ คือ ระบบ PSC จำเป็นต้องมีการเจรจาระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการจะต้องเข้าร่วมไปร่วมลงทุนด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งรัฐจะต้องเข้าไปร่วมรับกับความเสี่ยงจากการลงทุนสำรวจและพัฒนา ส่วนระบบสัมปทาน ผู้ประกอบการจะต้องรับความเสี่ยงแต่เพียงผู้เดียว”
โดยรูปแบบทั่วไปของหลักเกณฑ์การเก็บรายได้ สำหรับระบบสัมปทานกลไกการจัดเก็บรายได้จะมีค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ และไม่มีการเจรจา ซึ่งรัฐไม่ต้องลงทุน ในขณะที่สัญญา PSC กลไกการจัดเก็บรายได้คือมีค่าภาคหลวง ส่วนแบ่งกำไรปิโตรเลียม ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม การเจรจาคือรัฐเจรจาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ
สำหรับระบบ CS ใช้ในประเทศแอลจีเรีย ซูดาน ตุรกี โปแลนด์ รัสเซีย อิรัก อิหร่าน อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนามและพม่า โดยค่าจ้างจะจ่ายเป็นเงินหรือปิโตรเลียมตามสัญญา เป็นต้น
ดังนั้น คงถึงเวลาที่ประเทศไทยจะใช้รูปแบบระบบ PSC เพื่อบริหารจัดการธุรกิจปิโตรเลียมให้สามารถนำเงินเข้ารัฐ และดึงเอาทรัพยากรที่อยู่ใต้ดินและใต้ท้องทะเลออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ ลดการนำเข้าน้ำมันและก๊าซ เพื่อป้องกันเงินตราไหลออกนอกประเทศให้ได้มากที่สุด