เฉลิมชัย สั่งจับตายูเครน-รัสเซีย รับมือราคายางพุ่ง ตามราคาน้ำมัน
เฉลิมชัย สั่งประเมินสถานการณ์ยาง รายงานทุกสัปดาห์ รับมือหลังสงครามหลังรัสเซีย-ยูเครน ทำราคาพุ่งเกิน 65บาทต่อกก.ตามราคาน้ำมันดิบ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน อาจส่งให้ราคาพลังงาน ราคาพืชน้ำมัน เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ หลังจากราคายางพาราเพิ่มขึ้น มากกว่า 65 บาทต่อกิโลกรัม(ก.ก.) ซึ่งสูงกว่าราคาเป้าหมายที่เคยประกาศไว้ จึงสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนตลอด พร้อมประเมินแนวโน้มของราคาสินค้าโดยให้รายงานทุกสัปดาห์ เพื่อเตรียมรับมือ
“ราคายางพาราขณะนี้ถือว่าสอดคล้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเป็นขาขึ้น ตามความต้องการของตลาดทำให้ราคายางพาราขณะนี้ก็ขยับเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 65 บาทต่อกิโลกรัม แต่ยังเร็วไปที่จะปรับเป้าหมายนำ ต้องจับตาดูสถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงเร็ว แล้วประเมินผลกระทบกันตลอดเวลา จะทุกสัปดาห์ทุกวัน “
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า สำหรับการเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายปี 2565 สำหรับกระทรวงเกษตร ยังคงเดินหน้ามาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตร เพราะรัฐบาลดำเนินการควบคู่กับ มาตรการทางด้านตลาด โดยพืชเกษตรที่รัฐบาลยังเดินหน้าโครงการประกันรายได้ ยังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักๆ อาทิ ข้าว มัน ปาล์ม และยางพารา เป็นต้น แต่ที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินน้อยลงเรื่อยๆ เพราะมีมาตรการผลักดันราคา และมุ่งเปิดตลาดใหม่ๆให้พืชเศรษฐกิจของไทยมากขึ้น
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวว่า แนวโน้มราคายางพารามีทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันระดับ 98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลกระทบต่อราคายางสังเคราะห์ที่มีการปรับตัวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน และสินค้าทดแทนอย่างยางพาราจึงมีการปรับตัวทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน ประกอบกับ ตั้งแต่ปี 2565 สถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้งส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัว
ดังนั้นราคายางที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นน่าจะเป็นช่วงระยะ ที่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย และยูเครนยังดำเนินอยู่ แต่หลังจากนั้น ราคายางพาราน่าจะกลับมาอยู่ในสภาวะที่ปกติ ราคายางพาราอาจขยับลงมาบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม กยท. จะดำเนินการรักษาระดับราคายางให้มีเสถียรภาพ บรรเทาปัญหาให้ทุกภาคส่วนอย่างดีที่สุด
สำหรับราคาซื้อขายน้ำยางสด ณ ตลาดกลางยางพารา กยท. ขยับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. 65 ราคาอยู่ที่ 61.30 บาท/กก.) โดยช่วง 2 วันที่ผ่านมา ราคายางแตะระดับ 70 บาท/กก. คาดว่าราคายางจะอยู่ในระดับที่ดีแบบนี้ต่อไปอีก ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลให้ราคายางปรับตัวในแนวบวก จนแตะราคา 70 บาท/ กก.
ในรอบ 1 ปี 4 เดือน ส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศในกลุ่มประเทศผู้ผลิตยาง เช่น สถานการณ์ฝนที่ตกชุกในหลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทย ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดกรีดยาง ส่งผลให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดน้อยลง
" สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในระดับ 98 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ยางสังเคราะห์ปรับตัวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน ตลาดจึงต้องการยางพารามาเป็นสินค้าทดแทน ราคายางจึงมีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากตลาดยางเซี่ยงไฮ้ที่ราคาเหนือ 14,000 หยวน/ตัน มาโดยตลอดตั้งแต่ต้นปี 2565 นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้ง ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัว แนวโน้มราคายางพาราจึงมีทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"
อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงนี้ราคายางจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่เกษตรกรชาวสวนยางต้องเตรียมรับมือกับการปรับตัวลดลงของราคายาง หากสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน และสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศคลี่คลายลง ส่วนผู้ประกอบกิจการยางอาจต้องเตรียมการรับมือกับต้นทุนราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้น และเงินบาทที่อ่อนค่าลงอาจส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจบ้าง ขอให้เชื่อมั่นในการกำกับนโยบายของ กยท. ว่าจะสามารถดำเนินการรักษาระดับราคายางให้มีเสถียรภาพ และบรรเทาปัญหาให้ทุกภาคส่วนอย่างดีที่สุด