3 CEO กลุ่มปตท. มองทิศทางน้ำมัน บนภาวะสงคราม 'รัสเซีย-ยูเครน'

3 CEO กลุ่มปตท. มองทิศทางน้ำมัน บนภาวะสงคราม 'รัสเซีย-ยูเครน'

กลุ่มปตท. คาดน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 65 อยู่ที่ 81-86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ย้ำปัญหาทางการเมือง “รัสเซีย-ยูเครน” ไม่กระทบการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในไทย แต่ส่งผลกระทบโดยตรงของค่าครองชีพที่สูงขึ้น แนะ ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัด

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า คาดว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้ที่ 81-86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่รุนแรงทำให้ราคาน้ำมันดิบทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่จะไม่ส่งผลกระทบจากจัดหาน้ำมัน เพราะแหล่งซื้อน้ำมันอยู่ห่างไกลจากพื้นที่สู้รบในยูเครน อีกทั้ง การนำเข้ามาน้อยมาก

อีกทั้ง จะไม่กระทบต่อก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย เนื่องจากไทยซื้อก๊าซฯ ในพื้นที่ห่างไกลจากการสู้รบ และปตท.สามารถจัดหาก๊าซฯ รองรับความต้องการใช้ในประเทศและไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลน แต่จะส่งผลกระทบจากราคาน้ำมันที่จะต้องปรับราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอน จึงอยากเสนอให้รณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันประหยัดการใช้น้ำมัน

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า สำหรับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี2564 รัฐบาลได้ใช้หลายมาตรการ ทั้งเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมัน และลดภาษีสรรพสามิตลง 3บาท ที่เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนหนึ่ง อีกส่วนให้ค่าการตลาดที่ถูกกดไว้ เพื่อให้ราคาไม่กระทบ

OR มีการสต็อกน้ำมันจึงไม่มีผลกระทบมาก แต่กระทบค่าการตลาดหายไปราว 200 ล้านบาท ที่ทยอยปรับขึ้นราคา ทำให้จำนวนผู้เข้าสถานีบริการน้ำมัน OR มีจำนวนสูงขึ้น ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจนอนออยล์ได้รับการตอบรับที่ดี แม้ปริมาณยอดขายน้ำมันทั่วไปจะลดลง 2-3% 

"OR ยังคงส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ที่ 42.3% จะดำเนินธุรกิจตอบรับกลยุทธ์ที่ว่าปั๊มน้ำมันจะไม่ใช่แค่ปั๊มน้ำมัน จะเป็นแพลตฟอร์มให้ทั้งนอนออยด์และรีเทล ที่ปัจจุบันใน 1 สถานีบริการน้ำมัน มีผลตอบแทนจากหัวจ่ายน้ำมัน 30% อีก 70% มาจากนอนออยล์" 

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ปัญหาทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครน ยืนยันว่าประเทศไทยจะไม่มีผลกระทบต่อการนำเข้าตัวน้ำมันดิบกับกลุ่มปตท. เพราะอาจจะเป็นแรงผลักดันให้อเมริกาปฏิบัติร่วมกับอิหร่านมากขึ้นเพื่อชดเชยส่วนที่ขาดหายไปของน้ำมันรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือราคาน้ำมันที่ทะลุกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล และยังอยู่ในช่วงของการผันผวนจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ถือเป็นแรงกดดันราคาน้ำมันสำหรับภาครัฐ เพราะประเทศไทยจะต้องนำเข้า เป็นเรื่องทั่วไปที่จะต้องเจอ

สำหรับภาพรวมผลกระทบของสงครามจะขยายตัวออกไปหรือไม่ หากไม่ขยายระยะเวลายืดยื้อ จะทำให้การค้ากลับมาหลังโควิดของประเทศต่างๆ อยู่ในภาวะปกติ หรือหากน้ำมันดิบจะหายไป 4 ล้านบาร์เรล จะต้องหาแหล่งอื่นมาทดแทน โอเปกยังมีคาร์ปาซิตี้ที่ยังไม่ได้ผลิตหรือปั๊มออกมาและปริมาณใกล้เคียงที่ 2-4 ล้านบาร์เรล อาจจะชดเชยตรงนี้ขึ้นมาได้ ดังนั้น จึงต้องดูสถานการณ์เป็นรายวัน

ทั้งนี้ แต่ละประเทศทั่วโลกนี้พบว่า การผลิตจะไม่กลับมาเท่าเดิมแต่ตัว Demand เพิ่มขึ้น เมื่อถึงเวลากลับมาลงทุน โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็น Community และมีปัจจัยบวกในเรื่องของพลังงาน และถ้าราคาพลังงานสูงขึ้นไปอีก จะมีผลกระทบ จึงต้องหาแผนรองรับให้สามารถดำรงธุรกิจต่อเนื่อง อีกทั้งประเทศไทยได้เจอเรื่องของราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น 3-4 เท่า จึงหยุดการนำเข้าและหันมาใช้ดีเซลแทน เป็นต้น และท้ายที่สุดจะต้องปรับค่าไฟฟ้า

ทีมวิเคราะห์น้ำมันกลุ่ม ปตท.คาดการณ์สัปดาห์ที่ 21-25 ก.พ. 65 และแนวโน้ม 28 ก.พ.–4 มี.ค. 65 ว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 10 และราคาน้ำมันดิบ Dubai เฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 9 จากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนทวีความรุนแรงขึ้น

วันที่ 27 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา นาย Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซีย มีคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซียและเสนาธิการทหารของกองทัพ สั่งให้กองกำลังนิวเคลียร์อยู่ในสถานะพร้อมขั้นสูงสุด โดย ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden ประณามการตัดสินใจของ Vladimir Putin ในทันทีว่า เป็นการยกระดับที่ยอมรับไม่ได้

สหภาพยุโรปได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึง การจัดหาเงินทุนจัดหาอาวุธสำหรับยูเครน ห้ามเครื่องบินรัสเซียทั้งหมดใช้น่านฟ้าของสหภาพยุโรป และงดเว้นสื่อ Sputnik และ Russia Today ของรัสเซีย

นาย Evgeny Yenin รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของยูเครน กล่าวว่า การเจรจาระหว่างคณะผู้แทนรัสเซียและยูเครน จะมีขึ้นในเช้าวันที่ 28 ก.พ. 65 ตามเวลาท้องถิ่น ที่พรมแดนยูเครน-เบลารุส ย่านแม่น้ำ Pripyat ทั้งนี้ เบลารุสรับประกันว่าเครื่องบินรบทุกลำและขีปนาวุธในเบลารุสจะถูกระงับการใช้งานในระหว่างที่ผู้แทนของยูเครนเดินทางมาร่วมประชุม

ด้าน Rystad Energy คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เดือน มิ.ย. 65 เพิ่มขึ้นที่ 128 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนกระทบอุปทานน้ำมันจากรัสเซียที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อนึ่ง รัสเซียผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทอยู่ที่ 10.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมันดิบอยู่ที่ 4.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2564 ด้านเทคนิค สัปดาห์นี้ราคา ICE Brent มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 101.5 – 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

Reuters รายงานอัตราความร่วมมือในการปฏิบัติตามข้อตกลง (Compliance Rate) ของกลุ่ม OPEC+ ในเดือน ม.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 7% จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 129% สูงสุดในรอบ 2 ปี ขณะที่ Compliance Rate ของกลุ่ม OPEC เพิ่มขึ้น 6% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 133% (OPEC ผลิตน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 0.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 28.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ก.พ. 2565 เพิ่มขึ้น 4.5 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 416 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์