รัฐจ่อขยับเพดานดีเซล-แอลพีจี “พลังงาน” ทำแผนน้ำมันดิบ 150 ดอลลาร์
“ประยุทธ์” แจงราคาน้ำมันกระทบทั่วโลก ตรึงดีเซล 30 บาท จนกว่าจะไม่ได้ “พลังงาน” เตรียมแผนรับมือน้ำมันดิบ 150 ดอลลาร์ กพช.ปลดล็อกเพดานกู้กองทุนน้ำมัน เล็งขยับก๊าซหุงต้มขึ้น 15 บาท ปตท.-กฟผ.ร่วมรับมือวิกฤติ “หอการค้า” แนะตรึงน้ำมันถึง มิ.ย.หวั่นเงินเฟ้อสูง จีดีพีต่ำ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วานนี้ (9 มี.ค.) เพื่อติดตามสถานการณ์พลังงานที่ได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการรับมือกับวิกฤติพลังงาน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดมาตรการดูแลทั้งดีเซล เบนซินและแอลพีจี เพื่อกระทบประชาชนน้อยที่สุด โดยมาตรการที่ใช้ครอบคลุมด้านภาษี รวมถึงการจัดหาสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีเงินหมุนเวียนลดลง ซึ่งต้องดูว่าจะอุดหนุนให้ราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท ได้นานแค่ไหนและถ้าราคาน้ำมันสูงขึ้นจะทำอย่างไร ส่วนเบนซินก็ให้ไปหามาตรการดูแลเฉพาะกลุ่ม
“ถ้าสูงขึ้นอีกต้องช่วยเหลือกันและกัน เพราะหลายประเทศเดือดร้อนเช่นกัน ราคาน้ำมันหรือแก๊ซของเราอยู่ระดับต่ำถ้าเทียบกับอาเซียน แต่ไม่ได้ต่ำที่สุดเพราะบางประเทศมีแหล่งพลังงาน”
สำหรับการตรึงดีเซลลิตรละ 30 บาท จะดำเนินการจนกว่าจะตรึงไม่ได้ โดยรัฐบาลกำหนดสมมติฐานแต่ละระดับราคาว่าจะทำอย่างไร ทั้งระดับ 130 ดอลลาร์ ระดับ 150 ดอลลาร์ แต่ถ้าถึง 180 ดอลลาร์ จะทำอย่างไร
เตรียมแผนรับมือ150ดอลลาร์
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความเดือดร้อนประชาชน ซึ่งกระทรวงพลังงานศึกษาแนวทางช่วยเหลือเป็นกรณี คือ 1.กรณีน้ำมันดิบบาร์เรลละ 100-130 ดอลลาร์ 2.กรณีน้ำมันดิบบาร์เรลละ 131-150 ดอลลาร์ 3.ราคาน้ำมันดิบเกิน 150 ดอลลาร์
ทั้งนี้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะชี้แจงมาตรการแต่ละระดับวันที่ 11 มี.ค.2565
นอกจากนี้ กพช.พิจารณาราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ซึ่ง กพช.เห็นชอบหลักเกณฑ์การดำเนินการเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ โดยเปิดโอกาสให้นำราคาของผู้นำเข้าหลักที่มีสัญญาระยะยาว เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะชิปเปอร์รายใหม่ที่นำเข้าก๊าซได้ถูกมาคิดเฉลี่ยกับต้นทุนแอลเอ็นจีเดิม (พูล แก๊ซ)
ทั้งนี้ การนำเข้าจากกลุ่มดังกล่าวจะถูกกว่าต้นทุนแอลเอ็นจี ที่สำนักงานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ใช้คำนวณค่าไฟฟ้า เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันที่นำมาผลิตไฟฟ้าถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ จึงเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงจากชิปเปอร์ที่นำเข้าได้ถูกทั้งแอลเอ็นจี ดีเซลและน้ำมันเตา ซึ่งลดภาระค่าเอฟทีจากรอบที่ 1 ที่ 16.71 สตางค์ต่อหน่วย ที่คาดว่าต้องปรับสูงกว่าเดิมให้บรรเทาลง
ขยับราคาก๊าซหุงต้ม15บาท
สำหรับมาตรการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน (แอลพีจี) 45 บาทต่อ 3 เดือน น้ำหนัก 15 กก.ต่อถัง ให้อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก. ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2565 และกระทรวงพลังงานไม่สามารถพยุงราคาได้เท่าเดิมอีก จึงมีแผนปรับขึ้นราคาที่ 15 บาทต่อถัง 15 กก. มาอยู่ที่ 333 บาทต่อถัง 15 กก. เนื่องจากราคาจริงปัจจุบันอยู่ที่ 435 บาทต่อถัง 15 กก. ซึ่งเป็นระดับที่สูงมากจนเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถแบกรับภาระได้ทั้งหมด
ส่วนที่กระทรวงพลังงานจะอุดหนุนเพิ่มเติมอีก 55 บาทต่อถัง 15 กก. รวมเป็น 100 บาทต่อถัง 15 กก. อยู่ระหว่างหาแนวทางช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
นอกจากนี้ กพช.เห็นชอบปรับเพิ่มวงเงินลงทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี เทอมินอล) แห่งที่ 2 จังหวัดระยอง ที่มอบหมายให้ ปตท.ดำเนินการ จากเดิมวงเงิน 38,500 ล้านบาท เป็นวงเงินไม่เกิน 41,400 ล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จเร็วกว่าแผนเดิมจากเดือน พ.ย.2565 มาเป็นเดือน พ.ค.65 ทำให้สามารถรองรับการนำเข้าแอลเอ็นจี ได้เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านตันต่อปี เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติจากการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ รวมถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์
ชง ครม.ปลดล็อกเพดานกู้
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานเตรียมนำเสนอเรื่องการปลดล็อกเพดานกู้เงินของสำนักงานกองทุนน้ำม้นเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันกำหนดเพดานกู้เงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า เพื่อให้กองทุนคล่องตัวในการบริหารจัดการ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบ ครม.ทุกครั้ง และรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินภายใต้วิกฤติพลังงาน
ทั้งนี้ แม้จะปลดล็อกเพดานกู้เงินแต่ต้องคำนึงถึงวินัยการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ที่ดูแล้วจะไม่สามารถทำได้เกิน 40,000 ล้านบาท ดังนั้น จะยังมีเพดานอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท
ผนึก ปตท.-กฟผ.รับมือวิกฤติ
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า กกพ.จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับ กฟผ.และ ปตท.เพื่อติดตามราคาเชื้อเพลิงให้มีราคาที่เฉลี่ยไม่สูงมากนัก ในช่วงวิกฤตและต้องดูสถานการณ์ก่อน เมื่อราคาก๊าซใกล้เคียงกับราคาปกติค่อยกลับมาใช้ส่วนผสมเดิม ทั้งนี้จะช่วยลดต้องทุนภาคการไฟฟ้า เพราะแก๊สที่ใช้ในหลายธุรกิจ ถือเป็นการตัดสินใจใช้เชื้อเพลิงง่ายขึ้น อะไรมี่ถูกสุดก็เอาเข้ามาบริหารจัดการให้ง่ายขึ้นและตรงไปตรงมา
ทั้งนี้ ปกติใช้น้ำมันเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติวันละ 10 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็น 300 ล้านลิตรต่อเดือน ซึ่งการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลและน้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลงเหลือ 0% นาน 6 เดือน สิ้นสุด 15 ก.ย.2565 จะประหยัดเงินได้ 4 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลงได้ 6 สตางค์ต่อหน่วย
“การลดหย่อนภาษีลงเหลือ 0% จะนำมาใช้คำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าทันการพิจารณางวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 หรือไม่นั้น ขึ้นกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกว่าจะสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับใด ซึ่งถ้าราคาน้ำมันดิบขึ้นไปแตะ 300 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล การลดภาษีส่วนนี้ก็ไม่มีผลช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าเช่นกัน” นายคมกฤช กล่าว
เอกชนแนะตรึงน้ำมันถึง มิ.ย.
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยติดตามสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนใกล้ชิด เพราะมีแนวโน้มยืดเยื้อ โดยผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น และจะทำให้เศรษฐกิจของไทยย่อลงจากที่คาดการณ์ไว้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลยังตรึงราคาน้ำมันได้จนถึงเดือน มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ อาจจะต้องเตรียมแผนรับมือล่วงหน้า เพราะสถานการณ์มีโอกาสยืดเยื้อสูง ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงต่อไปทั้งปี ซึ่งการที่รัฐบาล ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า ภายใน 6 เดือนนี้ จะเป็นการบรรเทาผลกระทบได้ส่วนหนึ่ง โดยประชาชนจะมีภาระค่าไฟฟ้าที่ลดลงประมาณ 1.0-1.5 บาทต่อหน่วยอย่างไรก็ตามควรต้องเตรียมแผนในด้านอื่นเพิ่มเติม
ผู้ผลิตสินค้าห่วงต้นทุนพุ่ง
นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI กล่าวว่า กรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น ยอมรับว่าบริษัทได้รับผลกระทบบ้างแล้ว โดยเบื้องต้นบริษัทได้รับผลกระทบในส่วนของต้นทุนราคาวัตถุดิบบรรจุภัณฑ์ (พลาสติก) ซึ่งปรับขึ้นมาราว 3% แล้ว (ปัจจุบัน-มิ.ย.2565) ซึ่งการซื้อวัตถุดิบจะมีการสั่งซื้อทุก 6 เดือนครั้ง ดังนั้น หากเดือน มิ.ย.2565 สถานการณ์ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง บริษัทต้องมาประเมินต้นทุนอีกครั้ง
“หากภายในเดือนมิ.ย.นี้ ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง หรือราคาน้ำมันขยับขึ้นไปแตะ 200-300 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตอนนั้นคงต้องมาประเมินผลกระทบกันใหม่อีกรอบ และถ้าสถานการณ์ถึงขั้นแบบนั้นคงต้องโดนผลกระทบหนักหนากันหมด”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันจะกระทบต้นทุนการผลิตบ้าง แต่อิชิตันพยายามปรับแผนบริหารการผลิตเพื่อควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ