ส่องเทรนด์ "ผลิตภัณฑ์ความงาม" ปี 2022 ทำไมต้อง "Clean Beauty" ?
ส่องเทรนด์บิวตี้ ผ่านมุมมอง "all about you" ร้านขาย "ผลิตภัณฑ์ความงาม" ที่เคยยืนหนึ่งเรื่องออร์แกนิก แต่ล่าสุดประกาศปรับตัวเข้าสู่ "Clean Beauty" เทรนด์ผู้บริโภควิถีใหม่ ที่คาดหวังให้สินค้าความงามต้องได้มากกว่าความสวย และกำลังเป็นเทรนด์มาแรงแห่งปี 2022
ช่วงโควิด-19 หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากโรคระบาดที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป บางธุรกิจต้องปรับตัวอย่างหนัก บางธุรกิจจำต้องยุติลง ขณะเดียวกันยังมีธุรกิจที่ค่อยๆ เติบโตสวนทางนั่นคือ "ผลิตภัณฑ์ความงาม" โดยเฉพาะกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยเป็นพิเศษที่เรียกว่า “Clean Beauty”
- Clean Beauty มาได้ยังไง ?
Clean Beauty เป็นเทรนด์ธุรกิจผลิตภัณฑ์ความงาม ที่กำลังเป็นสนใจทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หากจะอธิบายง่ายๆ Clean Beauty คือ ผลิตภัณฑ์ความงามที่สะอาดและปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ใช้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนผสมไม่อันตรายต่อผิวและสุขภาพด้านอื่นๆ
นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปถึงการเลือกใช้องค์ประกอบอื่นๆ ของผลิตภัณฑ์ อย่างแพ็คเกจจิ้งที่ต้องไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ขณะใช้งาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลังจากใช้งานด้วยเช่นกัน
Clean Beauty เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมผู้บริโภคโดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ทุกคนเริ่มให้ความสำคัญของสุขภาพมากขึ้น และพยายามเลือกสรรสิ่งสู่ร่างกายมากขึ้นวงกว้าง และดูเหมือนจะไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นแนวโน้มธุรกิจความงามที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว
- Clean Beauty ได้รับความนิยมแค่ไหน ?
ข้อมูลจากค้นหาใน Nielseniq เกี่ยวกับคำค้นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความงาม ในปี 2021 พบตัวเลขที่น่าสนใจ การค้นหาผลิตภัณฑ์ที่เป็น Clean Beauty มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เช่น แบบสำรวจเกี่ยวกับการเลือกซื้อแบรนด์โลชั่นทาผิวกายและมือจะเลือกพิจารณาจากอะไรเป็นอันดับแรก ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างเลือกเพราะใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติสูงถึง 40.2% ตามมาด้วยการไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 17.6% และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้ 15.8%
แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่าในโลกของผลิตภัณฑ์ความงาม ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Clean Beauty กำลังค่อยๆ เติบโตล้อไปกับความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้นได้เช่นกัน
- Clean Beauty ในไทยได้รับความนิยมแค่ไหน ?
หากมองเฉพาะในประเทศไทยในหลายปีก่อน ผลิตภัณฑ์ความงามที่ชูจุดขายเรื่องความคลีนจะได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ซึ่งเมื่อ 7 ปีก่อน All About You เป็นแบรนด์แรกๆ ที่นำเทรนด์ผลิตภัณฑ์ความงามที่เรียกว่า “Organic & Natural” เข้ามาเปิดตลาดในไทย
กฤษฎิ์พนธ์ เมฆภานุวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาดและจัดการเชิงกลยุทธ์ ร้าน All About You เล่าว่าแบรนด์ All About You ตั้งไข่ได้ในระยะเวลา 2 ปีหลังเปิดตลาดในไทย โดยวัดผลจากยอดขายและการเป็นที่รู้จักในวงที่กว้างขึ้นนับตั้งแต่เริ่มธุรกิจ
จุดเปลี่ยนใหญ่ที่น่าสนใจในฐานะธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ความงาม คือหลังจากผ่านมา 7 ปี All About You มุ่งหน้ารีแบรนด์ครั้งใหญ่ จาก “Organic & Natural” มาจับเทรนด์ “Clean Beauty” ที่มีแนวโน้มได้รับความนิยม เปิดโอกาสธุรกิจที่กว้างขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับแบรนด์ผลิตภัณฑ์ความงามหลายในแบรนด์ในไทยและต่างประเทศที่มุ่งสู่ถนนสายคลีนรับการเติบโตในอนาคตเช่นกัน
"ตอนนี้ทั่วโลก หลายๆ แบรนด์มุ่งหน้าไปยัง Clean Beauty เราก็เลยคิดว่าถึงเวลาพอดีเหมือนกัน การที่เราเปลี่ยนตัวเองไปเป็นสินค้า Clean Beauty จะทำให้เรามีสินค้าที่วาไรตี้มากขึ้น เพราะใช้ส่วนผสมที่เป็นสารเคมีหรือสารสังเคราะห์ก็ได้เช่นเดียวกัน แต่สุดท้ายก็ยังปลอดภัยอยู่" กฤษฎิ์พนธ์ เล่า
สำหรับเกณฑ์การเป็น Clean Beauty ในมุมของ All About You กำหนดมา 4 อย่าง คือ
1. ไม่มีส่วนผสมที่เป็นอันตราย ผลิตภัณฑ์ทุกรายการจะต้องไม่มีส่วนผสมตามเงื่อนไขที่อยู่ในรายการส่วนผสมอันตรายของ All About You toxic-ingredient list ทั้งหมด 32 กลุ่มประเภทสารเคมี ซึ่งได้รับการยืนยันจากองค์กร Environmental Working Group (EWG)
2. ฉลากที่โปร่งใส ผลิตภัณฑ์ทุกรายการจะต้องมีฉลากที่ให้ข้อมูลอย่างถูกต้องชัดเจน โดยต้องมีองค์ประกอบดังนี้ ชื่อสินค้า, วิธีการใช้งาน, บริษัทที่จัดจำหน่ายและผลิต, เลขที่ใบรับแจ้ง, ส่วนประกอบหรือส่วนผสม, ปริมาณสุทธิ, วันที่ผลิตหรือวันหมดอายุ
3. ไม่ทำการทดลองในสัตว์ ผลิตภัณฑ์ทุกรายการต้องมีการรับรองหรือเอกสารยืนยันว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการทดลองในสัตว์
4. เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ทุกรายการต้องไม่ประกอบไปด้วยส่วนผสมที่อาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยมีทั้งหมด 6 กลุ่มประเภทสารเคมีดังนี้ Oxybenzone, Octinoxate, Triclosan, Parabens*, Plastic Compound และPolyfluoroalkyl substances (PFAS)
- การปรับตัวของกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ความงามยุคใหม่
กฤษฎิ์พนธ์ เล่าถึงการปรับตัวของ All about all ว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ไม่ซื้อสินค้าจากหน้าร้าน หรือเดินห้างสรรพสินค้าน้อยลง และหันมาจับจ่ายใช้สอยบน Market Place มากขึ้น เพราะแค่อยู่หน้าก็สามารถเลือกซื้อสินค้าได้หลาย Category ทำให้ Market Place เติบโตขึ้นมาก
ขณะเดียวกันสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการแข่งขันแง่โปรโมชั่นดุเดือดมากขึ้น เพราะสินค้าหนึ่งชิ้นสามารถเปรียบเทียบราคาได้ทุกร้าน ดังนั้นโจทย์สำคัญคือการหาบาลานซ์ระหว่างราคาที่น่าสนใจและความน่าเชื่อถือให้คนตัดสินใจเลือกซื้อ
นอกจากนี้ยังต้องความสำคัญกับกระแสของตลาดด้วยว่าเป็นไปอย่างไร มีคู่แข่งเป็นใครบ้าง ต้องรู้กว้างและลึกในเวลาเดียวกัน ลึกคือต้องรู้ว่าโครงสร้างตัวเองไปแข่งราคานั้นได้ไหม ยังมีมาร์จินเหลือไหม สินค้ามีสต็อกเท่าไร ขายหมดแล้วยังไงต่อ ต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ เพื่อวิ่งเข้าหาโอกาส
- ธุรกิจผลิตภัณฑ์ความงามในไทย จะเป็นอย่างไรต่อไป ตั้งแต่ปี 2022 ?
“Clean Beauty เป็นเทรนด์ของตลาด แต่ว่าไม่ใช่แฟชั่นเทรนด์ เป็นความยั่งยืน พอเราใช้ส่วนผสมปลอดภัย มาพร้อมกับแพ็คเกจจิ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อโลก หรืออย่างน้อยก็คือนำไปรีไซเคิลได้ Clean Beauty จึงเป็นเรื่องของสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพโลกใบนี้ สุขภาพของสัตว์ และสุขภาพของสิ่งแวดล้อม” กฤษฎิ์พนธ์ กล่าว
นอกจากนี้ยังคาดการณ์อีกว่า ในอนาคตอันใกล้พฤติกรรมของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ความงามจะเปลี่ยนไปในหลายมิติ เช่น
- สินค้าด้านสุขภาพและความงามจะมีคุณภาพมากขึ้นมาก แม้จะราคาสูงแต่ของบางอย่างจะขายดีด้วยคุณภาพ และสินค้าเหล่านี้จะเติบโตต่อจากการรีวิวของผู้ใช้จริงในยุคที่โซเชียลมีเดียเฟื่องฟู
- ผู้บริโภคจะสรรหาสิ่งที่มุ่งสู่คุณภาพ คนจะมีกำลังซื้อมากขึ้น
- การจับจ่ายใช้สอยหันมาซื้อในอินเทอร์เน็ตมากขึ้นอย่างชัดเจน เพราะช่วยลดค่าเดินทางมีอะไรให้เลือกหลากหลาย
- ผู้บริโภคจะไม่มีความจงรักภักดี (Loyalty) กับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นแบรนด์และผลิตภัณฑ์ต้องมีการปรับเปลี่ยน ปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเช่น ทำแพ็คเกจจิ้งใหม่ รีดีไซน์เร็วขึ้น ออกรุ่นใหม่เร็วขึ้น เพราะคนเบื่อง่าย คาแร็คเตอร์ของผู้บริโภคปัจจุบันคือ เบื่อง่าย เปลี่ยนง่าย พร้อมเปลี่ยน ต้องหาอะไรมาเล่าให้คนกลับมาหาเราบ่อยๆ
"เราอยากเห็นคนให้ความสำคัญกับการเลือก อยากให้คำนึงถึงผลระยะยาวในการบริโภค เหมือนการกินอาหาร ทุกอย่างที่นำเข้าร่างกายเราเลือกได้ทั้งหมด การเลือกไม่ได้หมายความว่าต้องจ่ายแพงขึ้น แค่ลงรายละเอียดกับสิ่งที่เราบริโภค" กฤษฎิ์พนธ์ กล่าว