TSC ต้นทุนขายเพิ่มกดดันกำไร 1Q65 พร้อมปรับลดกำไรปี 65

TSC ต้นทุนขายเพิ่มกดดันกำไร 1Q65 พร้อมปรับลดกำไรปี 65

รายงานกำไร 1Q65 ที่ 35.4 ลบ. หดตัว 25%QoQ และหดตัว 27%YoY จากต้นทุนที่ปรับตัวขึ้น : รายงานกำไร 1Q65 (ต.ค.-ธ.ค. 64) ที่ 35.4 ลบ. ต่ำกว่าที่เราประมาณการไว้ โดยรายได้เพิ่มขึ้นสู่ 630 ลบ. เติบโต 4%QoQ แต่หดตัว 7%YoY

เนื่องจากลูกค้าชะลอการผลิตเพราะปัญหาขาดแคลน Semi-conductor แม้ว่ายอดการผลิตรถยนต์ของทั้งระบบในเดือน ต.ค.-ธ.ค.64 ยังคงปรับตัวขึ้น 29%QoQ และเพิ่มขึ้น 2%YoY สู่ 473,759 คัน ขณะที่ยอดการผลิตรถจักรยานยนต์เดือน ต.ค.-ธ.ค.64 ทรงตัว YoY แต่เพิ่มขึ้น 83%YoY สู่ 501,160 คันก็ตาม ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวลงจากไตรมาสก่อนที่ 19.3% สู่ 13.0% เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ อาทิ Steel และ Spring wire ปรับตัวขึ้น ด้านอัตราค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายปรับตัวลงจาก 13.7% ในไตรมาสก่อนหน้าสู่ 8.0% เมื่อพิจารณาเป็นเงินปรับตัวลงจาก 82.7 ลบ.สู่ 50.6 ลบ. เนื่องจากค่าใช้จ่ายพนักงานลดลง ทั้งนี้ กำไร 1Q65 คิดเป็นเพียง 15% ของประมาณการเดิมที่ 244 ลบ.

-  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยปรับเพิ่มยอดการผลิตรถยนต์ปี 65 ขึ้น 7% สู่ 1.80 ล้านคัน : ยอดการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ปี 64 อยู่ที่ 1.69 ล้านคัน และ 1.78 ล้านคันเติบโต 18.1% และ 10.2% ตามลำดับ หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในไทยเริ่มคลี่คลาย โดยสภาอุตสาหกรรมฯ คาดว่ายอดการผลิตรถยนต์ปี 65 จะเพิ่มขึ้น 7%จากปีก่อนสู่ 1.80 ล้านคัน หลังภาครัฐได้ดำเนินการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร 76.3% หรือคิดเป็น 53.2 ล้านคนแล้ว อีกทั้งการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ 4Q64 (ต.ค.-ธ.ค. 64) เป็นปัจจัยหนุนต่ออุปสงค์ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศให้ฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 65
 

- ปรับลดประมาณการรายได้และกำไรปี 65 ลง 4% และ 32% ตามลำดับ : เราปรับลดประมาณการรายได้และกำไรปี 65 ลงจาก 2.85 พันลบ. และ 244 ลบ.สู่ 2.72 พันลบ.และ 168 ลบ. (ลดลงจากประมาณการเดิม 4% และ 32% ตามลำดับ) เติบโต 4%YoY แต่ลดลง 29%YoY ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาขาดแคลน Semi-conductor และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมันจากผลกระทบสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้ค่าขนส่งทางเรือ และอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เร่งตัวขึ้น เราจึงปรับลดสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นจาก 17.5% สู่ 15.0 % (1Q65 GPM อยู่ที่ 13%) ซึ่งอ่อนตัวลงจากปี 64 ที่ 18.1% คาดอัตราค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายจะอยู่ที่ 9.4% ทั้งนี้ เราปรับลดคาดการณ์รายได้และกำไรสุทธิปี 66 ลงจาก 3.0 พันลบ. และ 255 ลบ. สู่ 2.86 พันลบ. และ 243 ลบ. (ลดลงจากประมาณการเดิม 5% และลดลง 5% ตามลำดับ) เติบโต 5%YoY และ 45%YoY ตามลำดับ

 

-  ปรับลดคำแนะนำจาก “ซื้อ” เหลือ “ถือ” และปรับราคาเหมาะสมเหลือ 13.15 บาท : เราประเมินมูลค่าด้วยวิธี Dividend Discounted model (DDM) โดยแสดงวิธีคำนวณตามตารางด้านล่าง ได้ราคาเหมาะสมลดลงจาก 13.75 บาทต่อหุ้นเหลือ 13.15 บาทต่อหุ้น แม้ราคาที่ประเมินได้จะต่ำกว่าราคาปิดล่าสุดแต่ TSC มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ 4 ปีย้อนหลังราว 7% เราจึงปรับลดคำแนะนำจาก “ซื้อ” เหลือ “ถือ” โดยคาดหวังอัตราปันผลปี 65 อยู่ที่ 4.2%ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าปันผลเฉลี่ยย้อนหลัง 4 ปีเพราะอัตราเงินเฟ้อที่สูงผิดปกติโดยหากอัตราเงินเฟ้อกลับสู่ภาวะปกติในปี 66 อัตราเงินปันผลคาดหวังจะอยู่ที่ 6.0%ต่อปี
 

 

ปัจจัยเสี่ยง
 

i)    การผลิตรถยนต์ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 
ii)    พึ่งพาลูกค้ารายใหญ่ 8 รายคิดเป็นสัดส่วน 82% ของยอดขายรวม
iii)    การเปลี่ยนเทคโนโลยีจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต