ส่องโครงสร้างราคาน้ำมันไทย ใน 1 ลิตร คนไทยต้องจ่ายอะไรบ้าง?
ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา จนมาเกิดสงครามระหว่างรัสเซียที่เปิดฉากบุกโจมตียูเครนอย่างรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกปรับสูงขึ้นและมีความผันผวนอย่างหนัก
"ประเทศไทย" ที่พึ่งพิงการนำเข้าพลังงานก็ต้องได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน รัฐบาลพยายามที่จะลดปัญหาผลกระทบโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลเพื่อไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร
“กรุงเทพธุรกิจ” จึงขอหยิบยกโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยใน 1 ลิตรจะประกอบอะไรบ้าง ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ต้นทุนนั้นแบ่งเป็น
1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน ( 40 –60%) คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย
2. ภาษีต่างๆ (30 –40%) เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น โดยภาษีที่จัดเก็บ ได้แก่
-ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ
- ภาษีเทศบาล จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด
ตารางโครงสร้างราคาวันที่ 18 มี.ค. 65
3. กองทุน (5 –20%) แบ่งเป็น
- กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน
- กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน
4. ค่าการตลาด (10 –18%) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน
นอกจากนี้ สนพ. ยังได้รายงานราคาน้ำมันเฉลี่ยในอาเซียน ประจำวันที่ 14 มีนาคม 2565 โดยราคาขายน้ำมันแต่ละประเทศ มีปัจจัยทางด้านราคาตามตาราง ดังนี้
1. แต่ละประเทศมีมาตรการภาษี และระบบการเก็บเงินเข้ากองทุนหรืออุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน
2.ในหลายประเทศเพื่อนบ้านยังมีการอุดหนุนราคากันอยู่
3.ประเทศไทยสนับสนุนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ให้การอุดหนุนราคาโดยกองทุนน้ำมันฯ จึงทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกกว่าเบนซิน
หมายเหตุ ราคา ณ วันที่ 14 มีนาคม 2565 อัตราแลกเปลี่ยน (อัตรากลาง) ณ วันที่ 11 มีนาคม 2565
ทั้งนี้ ประเทศไทย อ้างอิงราคาจาก ปตท. และ บางจาก และเป็นราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95E10 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้มากที่สุด