บลจ. พรินซิเพิล เพิ่มทางเลือกกระจายลงทุนในกองทุน ETF ทั่วโลก

บลจ. พรินซิเพิล  เพิ่มทางเลือกกระจายลงทุนในกองทุน ETF  ทั่วโลก

บลจ.พรินซิเพิล เตรียมเสนอขายกองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล มัลติ แอสเซท IPO ตั้งแต่ 21 - 29 มี.ค.นี้ ชูกลยุทธ์เน้นกระจายการลงทุนไปกับหลากหลายสินทรัพย์คุณภาพดีทั่วโลก รับมือสภาวะตลาดผันผวน และมุ่งเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนเติบโตในระยะยาว

นายศุภกร ตุลยธัญ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.พรินซิเพิล เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดผันผวนจากปัจจัยสำคัญต่างๆ ในปัจจุบัน ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง จากแรงกดดันของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้นสูงจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน

จึงมีโอกาสเห็นการปรับเพิ่มตัวเลขการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (inflation expectation) ได้เช่นกัน ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ มีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว โดยคาดว่าจะหยุดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) ในช่วงไตรมาสแรกของปี และเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทันทีในเดือนมีนาคม 2565 โดยอาจเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ถึง 6 ครั้งในปีนี้

ดังนั้นมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกจะยังเผชิญกับความผันผวนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามประเมินภาพรวมผลตอบแทนของตลาดหุ้นในปี 2565 จะยังคงเป็นบวกได้อยู่ โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐ ที่มีความน่าสนใจ ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 18.10% ต่อปี เมื่อเทียบกับการลงทุนในตลาดเกิดใหม่, ตลาดหุ้นจีน, ตลาดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยกเว้นสหรัฐอเมริกาและตลาดหุ้นอังกฤษ ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปีอยู่ที่ 10.50%, 9.30%, 8.40% และ 4.20% ตามลำดับ  (Source: Bloomberg, FactSet, Principal Global Asset Allocation ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564)

อย่างไรก็ตามสภาวะตลาดที่ผันผวนสูงจะทำให้การจับจังหวะลงทุนนั้นมีความลำบาก จึงเป็นสภาวะที่เหมาะสมกับกองทุนที่มีการจัดสรรสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนระดับสูงจากสินทรัพย์เสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุนบางส่วนไปที่ตราสารหนี้

ส่วนทิศทางการลงทุนในตราสารหนี้ประเภท Core fixed income ที่ส่วนใหญ่จะเน้นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้คุณภาพสูงนั้น จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อต่อสู้กับความกดดันทางด้านเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กดดันผลตอบแทนของกลุ่ม Core fixed income ทำให้ตราสารหนี้ประเภท Global High yield และ Global Preferred Securities จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้

ทั้งนี้ บลจ. พรินซิเพิล แนะนำว่าจากสถานการณ์ปัจจุบัน ควรให้ความสำคัญกับกลยุทธ์กระจายการลงทุนที่หลากหลาย และเน้นลงทุนต่อเนื่องในระยะยาว จึงได้เพิ่มทางเลือกให้แก่นักลงทุนที่ต้องการรับมือกับความผันผวน

ล่าสุด เปิดตัว “กองทุนเปิด พรินซิเพิล โกลบอล มัลติ แอสเซท” หรือ Principal Global Multi Asset Fund (PRINCIPAL GMA) มีทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท (Greenshoe 15%) เตรียมเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ในวันที่ 21 - 29 มีนาคม 2565 สั่งซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท

โดยเป็นกองทุนผสมและกองทุนรวมหน่วยลงทุน Fund of Funds ที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม และ/หรือกองทุน Exchange Traded Fund (ETF) ต่างประเทศ สามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลาย ทั้งตราสารทุน ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และหน่วยลงทุนของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี

จุดเด่นของกองทุนเปิด PRINCIPAL GMA คือ การดำเนินงานภายใต้ปรัชญาการลงทุนแบบ Principal Global Asset Allocation โดย บลจ.พรินซิเพิล ผู้บริหารสินทรัพย์ชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การลงทุนแบบ Asset Allocation ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 17 ปี และบริหารพอร์ตการลงทุนผ่านสินทรัพย์หลากหลายประเภทเป็นมูลค่าถึง 1.649 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระบวนการลงทุนของ Principal Global Asset Allocation ประกอบด้วยกระบวนการ 3 ขั้นตอน  ได้แก่ 1) Strategic Asset Allocation ใช้หลักการลงทุนระยะยาววิเคราะห์สินทรัพย์เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เหมาะสม 2) Tactical Asset Allocation ใช้กลยุทธ์ Tactical ปรับพอร์ตตามสถานการณ์ระยะสั้น สร้างผลตอบแทนจากปัจจัยเศรษฐกิจและความไร้ประสิทธิภาพของตลาด (Market Inefficiency) และ 3)  Active Implementation วิเคราะห์กองทุนที่จะเข้าไปถือครองเป็นรายตัวเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของพอร์ตลงทุน 

ขณะเดียวกันยังใช้กลยุทธ์กระจายการลงทุนเชิงรุกที่พร้อมปรับเปลี่ยนอยู่เสมอหรือ Dynamic Asset Allocation โดยเน้นการลงทุนในกองทุนรวมและ ETF ทั่วโลก ทำให้มีกรอบการลงทุนที่ครอบคลุมทุกสินทรัพย์เพื่อโอกาสสร้างผลการดำเนินงานที่เหนือกว่าดัชนีอ้างอิง (Benchmark) และเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง (Risk adjusted) พร้อมทั้งบริหารพอร์ตแบบมีเป้าหมายผสมผสานทั้งมุ่งหวังมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นในระยะยาว และสร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอ

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์