ต้องทำอย่างไรหาก คปภ.ปิดกิจการ "อาคเนย์ประกันภัย" - "ไทยประกันภัย"

ต้องทำอย่างไรหาก คปภ.ปิดกิจการ "อาคเนย์ประกันภัย" - "ไทยประกันภัย"

จับตาบ่ายวันนี้ หากคปภ.ลงดาบเพิกถอนใบอนุญาตปิดกิจการ “อาคเนย์ประกันภัย" - "ไทยประกันภัย” หากไร้เงินเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่ เหตุถอดใจหวั่นเคลมเสี่ยงพุ่งหลังสงกรานต์ สุดท้ายโยน “กองทุนประกันวินาศภัย” อุ้ม วางมาตรการคุ้มครองสิทธิทุกกรมธรรม์

ในวันนี้ (1 เม.ย.2565 ) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) นำโดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. และผู้บริหารระดับสูง คปภ.ทุกหน่วยงาน ได้นัดแถลงข่าวด่วน เรื่อง การดำเนินการด้านการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย กรณีบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในเวลา 13.30-15.00 น. ผ่านระบบออนไลน์ 

หลังจากมีกระแสข่าวจับตา "  คปภ. สั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยของบริษัทอาคเนย์ประกันภัยและบริษัทไทยประกันภัย"  ในช่วงบ่ายวันนี้คงต้องมาลุ้นระทึกกันอีกรอบ !!  

หลังจากก่อนหน้านี้ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาคปภ. กล่าวถึงแนวทางการเพิกถอนใบอนุญาตนั้น จะเป็นทางเลือกสุดท้าย ที่ไม่มีทางเลือกอื่น หากกลุ่มบริษัทไปทบทวนแล้วยังยืนยันที่จะไม่เพิ่มทุน

ขณะที่ในวงการประกันภัยคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า สุดท้ายแล้วต้องเพิกถอนใบอนุญาตปิดกิจการ เหตุยอดเคลมที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง และการขายทรัพย์สินก็ไม่เพียงพอ กับยอดเคลมค้างจ่ายอีกจำนวนมาก กว่า 30,000 กรมธรรม์  หากไม่เพิ่มทุนก็ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนไว้ได้ตามที่กฎหมายกำหนด และคาดว่าหลังสงกรานต์ยอดติดเชื้อสูงได้อีก  จึงเป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ถอดใจไม่เพิ่มทุน หลังจากเพิ่มทุนไปสองรอบเกือบ10,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตามหากมีการเพิกถอนใบอนุญาตธุรกิจประกันภัย จะมีแนวทางดูแลคุ้มครองสิทธิผู้เอาประกันภัย ดังนี้ 

ทั้งนี้ หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยบริษัทแล้ว บอร์ด คปภ. ได้อาศัยอำนาจ ตามความในมาตรา 60 และมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฯ แต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี เช่นเดียวกับ 2 บริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้ คือ  เอเชียประกันภัย และเดอะวันประกันภัย 

อีกทั้ง หากมีการเพิกถอนใบอนุญาตปิดกิจการบริษัทประกันภัยเพิ่มเติม จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวม

 

 

 

 ขณะเดียวกัน ทาง สำนักงาน คปภ. จะเตรียมมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย เพื่อรองรับมิให้ผู้เอาประกันภัยได้รับผลกระทบ น่าจะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน2บริษัทที่ปิดไปก่อนหน้านี้  โดยบูรณาการความร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) และบริษัทประกันวินาศภัย  ดังนี้ 

-ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายและได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับบริษัทแล้ว สามารถติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อขอรับชำระหนี้โดยกองทุนประกันภัยวินาศภัยจะเข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้มีการอนุมัติค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว   

-ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับบริษัท สามารถยื่นเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะพิจารณาค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย

- ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภทของบริษัท ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตปิดกิจการ สามารถที่จะดำเนินการในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว  ได้แก่ ขอรับคืนเบี้ยประกันภัยที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะคืนเบี้ยประกันภัย  ให้ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่  หรือ นำเบี้ยประกันภัยที่จะได้รับคืนไปใช้แทนเงินสดในการเลือกซื้อประกันภัยได้จากบริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิตที่เข้าร่วมโครงการ ได้ทุกประเภทกรมธรรม์ประกันภัย 

-สำนักงาน คปภ. ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรในการรับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งที่สำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและสำนักงาน คปภ. ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง 

-จะมีการจัดเตรียมสถานที่ที่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ กองทุนประกันวินาศภัย และ สำนักงาน คปภ. ซึ่งได้รับมอบหมายจากกองทุนประกันวินาศภัยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการรับเอกสารหลักฐานการขอรับชำระหนี้แล้วส่งต่อให้กองทุนประกันวินาศภัยต่อไป โดยผู้เอาประกันภัยสามารถยื่นได้ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด