ฟิทช์คงเครดิต "เมืองไทยประกันชีวิต" ที่ A-
ฟิทช์คงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิตที่ ‘A-’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (Insurer Financial Strength Rating: IFS Rating) ของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL ที่ ‘A-’ และคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating หรือ IDR) ของ MTL ที่ ‘BBB+’ โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
พร้อมกันนี้ ฟิทช์ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS Rating) ของ MTL ที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตของตราสารด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 มูลค่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของบริษัท ที่ ‘BBB’
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
การประกาศคงอันดับเครดิตของ MTL สะท้อนถึงโครงสร้างการดำเนินงานของบริษัทในธุรกิจประกันภัยที่ยังแข็งแรง (Favorable Company Profile) ระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และผลประกอบการและสภาพคล่องของบริษัทที่ดี นอกจากนี้อันดับเครดิตยังได้พิจารณาถึงความเสี่ยงของ MTL จากการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ทลงทุนของบริษัทและความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องจากผลของการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส
ฟิทช์ประเมินโครงสร้างการดำเนินงานของ MTL อยู่ในระดับแข็งแรง จากโครงสร้างธุรกิจ (business profile) ที่แข็งแกร่ง (favorable) และการมีบรรษัทภิบาลดี (moderate/favorable) เมื่อเทียบกับบริษัทประกันชีวิตอื่นภายในประเทศไทย
MTL ยังคงมีเครือข่ายทางธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 12%-13% ของจำนวนเบี้ยประกันรวมของตลาด และยังได้รับการสนับสนุนด้านการดำเนินงานและด้านเทคนิคจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งคือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว: BBB/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และ Ageas Insurance International N.V. (อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว: A+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) นอกจากนี้ MTL ยังมีการกระจายตัวของโครงสร้างธุรกิจที่ดี ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ครอบคลุมและฐานลูกค้าภายในประเทศ รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ดังนั้นฟิทช์จึงจัดให้โครงสร้างการดำเนินงานของบริษัทอยู่ในระดับ ‘a-’ ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาปัจจัยเครดิตของฟิทช์ (credit factor scoring guideline)
MTL สามารถดำรงระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยเป็นกันชนรองรับการผันผวนของสินทรัพย์และผลกระทบจากความเสี่ยงด้านลบ โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฏหมายที่ 316% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ซึ่งยังคงสูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้ที่ 120% ทั้งนี้ระดับเงินกองทุนของบริษัทตามแบบจำลอง Prism Model ของฟิทช์ ซึ่งประเมินจากข้อมูลทางการเงิน ณ สิ้นไตรมาสดังกล่าว ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่ง (‘Strong’) ถึงแม้จะมีสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าระดับเงินกองทุนของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฏหมายมากกว่า 300% อีกทั้ง MTL ยังคาดว่าการออกตราสารด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของบริษัทเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ยังจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับฐานะเงินกองทุนของบริษัท ทั้งนี้ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 25% ซึ่งจะดีกว่าค่าเฉลี่ยตามเกณฑ์ของฟิทช์ที่ช่วงอันดับเครดิตปัจจุบัน
บริษัทยังคงมีปริมาณสินทรัพย์เสี่ยง (ตามนิยามของฟิทช์) ในระดับที่ค่อนข้างสูง จากการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราทุน และตราสารหนี้ภาคเอกชนเพื่อรักษาผลตอบแทนโดยรวม โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 บริษัทมีอัตราส่วนสินทรัพย์เสี่ยงต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ที่ระดับ 258% (สิ้นปี 2563: 249%) ซึ่งสูงกว่าระดับคาดการณ์ของฟิทช์สำหรับบริษัทประกันชีวิตที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลที่ระดับ ‘A’ โดยอัตราส่วนสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากสัดส่วนการลงทุนของบริษัทที่เพิ่มขึ้นในตราสารหุ้นและตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตสากลต่ำกว่าระดับลงทุน (investment grade) รวมถึงเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ถูกนำไปคำนวณความเสี่ยงที่ 15% ของการลงทุนด้วย ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาการจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ ทั้งนี้บริษัทมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ที่ 306% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564
ความสามารถในการทำกำไรของ MTL ยังคงแข็งแกร่ง แม้สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจจะค่อนข้างซบเซา บริษัทมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่อปีที่ 11.5% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ซึ่งสูงกว่าความคาดหมายของฟิทช์สำหรับบริษัทประกันชีวิตที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลที่ระดับ ‘A’ นอกจากนี้ฟิทช์ยังคาดว่าการขยายตัวไปในธุรกิจประกันเพื่อความคุ้มครอง และประกันสุขภาพ จะช่วยให้ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทปรับตัวดีขึ้น
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (IFS Rating) และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS Rating)
- การปรับตัวลดลงของสัดส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (RBC) มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 280% และการปรับตัวแย่ลงของระดับเงินกองทุนของบริษัทซึ่งวัดจากแบบจำลอง Prism Model ของฟิทช์ลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า "ระดับแข็งแกร่ง" เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
- การปรับตัวลดลงของความสามารถในการทำกำไรซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ต่ำกว่า 8% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
- การปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านสินทรัพย์และการลงทุน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญของอัตราส่วนสินทรัพย์เสี่ยงต่อส่วนของผู้ถือหุ้น
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (IFS Rating)
- การปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับเงินกองทุนของ MTL ซึ่งวัดจากแบบจำลอง Prism Model ของฟิทช์ ขึ้นมาอยู่ในระดับแข็งแกร่ง (‘Strong’) ได้อย่างต่อเนื่อง และ
- บริษัทมีขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นและมีการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมหลากหลายประเภทธุรกิจมากขึ้น ด้านการกระจายตัวเชิงภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้น และช่องทางการขายมีความหลากหลาย
อัตราความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS Rating)
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศของ MTL ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศที่อยู่ในอันดับเครดิตที่สูงที่สุดแล้ว
การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg