DITTO เดินเกมประมูลงานรัฐ เจาะลูกค้า อบจ.-อบต. เติบโต
"ดิทโต้" รุกประมูลงานภาครัฐ หลังพัฒนาซอฟต์แวร์จัดเก็บข้อมูลเสร็จแล้ว เดินหน้าลูกค้า “อบจ-อบต.” กว่า 8 พันแห่งทั่วประเทศ ดันรายได้ปีนี้โต 20% ด้าน “ธีระชัย รัตนกมลพร” ถือหุ้นใหญ่ “ทีมจี” หวังต่อยอดธุรกิจในอนาคต
เมื่อโมเดลธุรกิจตอบโจทย์ลูกค้าจากระบบ “อนาล็อก” (Analog) เปลี่ยนเป็น “ดิจิทัล” (Digital) เกมชนะยุคโควิด-19 รวมทั้งเป็นธุรกิจเทรนด์ของโลกยุคใหม่ สอดคล้องไปกับตลาดการจัดการข้อมูลดิจิทัล ซึ่งจากข้อมูล ฟอร์ท แอนด์ ซัลลิวัน คาดการณ์ขนาดตลาดการจัดการข้อมูลดิจิทัล 3 ปีข้างหน้า (2566-2568) อยู่ที่ราว 11,886.60 ล้านบาท โดยเป็นของหน่วยงานภาครัฐ 9,000 กว่าล้านบาท ซึ่งปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 1,572.60 ล้านบาท ถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้อุตสาหกรรมเติบโตก้าวกระโดด !!
ปัจจัยบวกดังกล่าว ส่งผลดีกับ บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายและให้บริการด้านระบบบริหารจัดการเอกสาร เครื่องถ่ายเอกสาร และเครื่องพิมพ์ อย่างครบวงจร และรับเหมาวิศวกรรมด้านเทคโนโลยีสำหรับโครงการของหน่วยงานราชการต่างๆ โดยมี 3 ธุรกิจหลัก คือ 1.ธุรกิจจำหน่ายและให้บริการระบบบริหารจัดการเอกสาร 2.ธุรกิจรับเหมาวิศวกรรมด้านเทคโนโลยีสำหรับโครงการของหน่วยงานราชการต่างๆ และ 3. ธุรกิจให้เช่า จำหน่าย และให้บริการด้านเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ และสินค้าเทคโนโลยีอื่นๆ
“ฐกร รัตนกมลพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากจุดเริ่มต้นของ 4 คนพี่น้อง “ตระกูลรัตนกมลพร” จาก “ธุรกิจเช่าเครื่องถ่ายเอกสาร” ปัจจุบันบริษัทกำลังมุ่งสู่ “ธุรกิจให้บริการด้านระบบบริหารจัดการเอกสารแบบดิจิทัล” ที่เป็นเรือธงสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
สะท้อนผ่าน แผนธุรกิจในปี 2565 บริษัทมุ่งเน้นธุรกิจจำหน่ายและให้บริการระบบบริหารจัดการเอกสารแบบดิจิทัล คาดจะเติบโต 20% หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 40% โดยนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดปฏิกิริยาเร่งธุรกิจจำหน่ายและให้บริการระบบบริหารจัดการเอกสาร หลังรูปแบบการทำงานแบบ Work From Home ส่งผลให้ทุกหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนต้องพัฒนาระบบข้อมูลเป็นระบบดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการทำงานที่บ้าน ยิ่งเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่มีข้อมูลเป็นกระดาษมากสุด และต้องปรับเปลี่ยนระบบเป็นดิจิทัลเพื่อเสิร์ฟประชาชน
ดังนั้น ในปีนี้ธุรกิจดังกล่าวจะเป็น “หัวหอก” ในการสร้างการเติบโต “ก้าวกระโดด” สอดรับกับบริษัทมีการพัฒนา “ซอฟต์แวร์” (Software) เพื่อใช้ในการจัดเก็บเอกสารของลูกค้าเสร็จแล้ว ซึ่งมีจุดเด่นเน้นระบบความรวดเร็วและแม่นยำในการหาข้อมูลได้ง่าย ดังนั้น บริษัทพร้อมทำการตลาดเพื่อรองรับการบริหารจัดการเอกสารลูกค้าในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว
โดยปีนี้บริษัทจะเน้นขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) , องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ปัจจุบันมีกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งตอนนี้บริษัทเริ่มให้ทีมขายออกไปแนะนำสินค้ากับลูกค้าบ้างแล้ว คาดว่าจะเริ่มเห็นรายได้จากกลุ่มลูกค้าดังกล่าวเข้ามาในปีนี้ อีกทั้งยังเห็นโอกาสในกลุ่มลูกค้าโรงพยาบาล , สถานีตำรวจ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่บริษัทจะขยายตลาดเพิ่มได้อีก
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการยื่นประมูลงานของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. ในการจัดเก็บระบบข้อมูลลูกค้าใบจำนำข้าว มูลค่า 45 ล้านบาท คาดว่าจะรู้ผลภายในเดือนเม.ย. 2565 โดยมองว่างานดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ ธอส. เนื่องจาก ธอส. ยังมีข้อมูลลูกค้าจำนวนมากที่เป็นเกษตรกร ซึ่งปัจจุบัน ธอส. มีการจัดเก็บข้อมูลไว้เป็นกระดาษ
ขณะที่ กำลังรอเข้าประมูลงานในส่วนของ “กรมที่ดิน” หลังจากปีก่อนบริษัทชนะการประมูลเฟสแรกมูลค่า 100 ล้านบาท ในการนำหลังโฉนดที่ดินเข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ 3 ล้านแปลง (เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา สิงห์บุรี และเพชรบุรี) หลังก่อนหน้านี้มีการนำหน้าโฉนดเข้าระบบไปแล้ว โดยปัจจุบันที่ดินทั่วประเทศมีทั้งหมด 45 ล้านแปลง และ นส.3 ก จำนวน 5 ล้านแปลง ที่มีนโยบายนำหลังโฉนดเข้าระบบเช่นกัน
และบริษัทดำเนินการให้อย่าง “ศาลยุติธรรม” ในการยืนสำนวนคดีผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) และการเก็บสำนวนคดีให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นศาลยุติธรรมต้องพัฒนาระบบหลังบ้านให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ทำให้บริษัทมีโอกาสเข้าไปบริหารจัดการเก็บข้อมูลสำนวนคดีเป็นอิเล็กทรอนิกส์
เขา บอกต่อว่า สำหรับธุรกิจรับเหมาวิศวกรรมด้านเทคโนโลยีสำหรับโครงการของหน่วยงานราชการต่างๆ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 40% โดยมีบริษัทลูก บริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจจัดหาและติดตั้งระบบท้องฟ้าจำลองและพิพิธภัณฑ์, ติดตั้งระบบโทรมาตร (SCADA) สำหรับการชลประทาน เช่น ระบบตรวจวัดสภาพน้ำทางไกล และมีอีก 2 ธุรกิจที่กำลังสร้างการเติบโตที่ดีในระบบการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง (RDF) และธุรกิจคาร์บอนเครดิต โดยปีนี้คาดว่าธุรกิจจะเติบโตระดับ 40% หรือรายได้ประมาณ 600 ล้านบาท จากปีก่อน 200 ล้านบาท
และ ธุรกิจให้เช่า จำหน่าย และให้บริการด้านเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ และสินค้าเทคโนโลยีอื่นๆ คาดว่าปีนี้ธุรกิจจะเติบโตใกล้เคียงปีก่อน แต่ถือเป็นพอร์ตที่สร้าง “รายได้ประจำ” (Recurring Income) สร้างสินทรัพย์ที่มั่นคงด้านรายได้ต่อเนื่อง คือ ธุรกิจให้เช่า จำหน่าย และให้บริการด้านเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ และสินค้าเทคโนโลยีอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 20%
และปัจจุบันมีอีกธุรกิจที่ซ้อนอยู่เป็นธุรกิจอยู่ในเทรนด์ของโลกยุคดิจิทัล คือ ธุรกิจไดร์ฟทรู (Drive Thru) โดยบริษัทเป็นคนติดอุปกรณ์และระบบหลังบ้าน ปัจจุบันลูกค้า เช่น สตาร์บัคส์ , อเมซอน , แมคโดนัลด์ , เบอร์เกอร์คิง , เคเอฟซี , ชาตรามือ , วราภรณ์ซาลาเปา เป็นต้น โดยปัจจุบันเมืองไทยมีไดร์ฟทรู 200 แห่ง ซึ่งอนาคตการบริการรูปแบบไดร์ฟทรูกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก สะท้อนผ่านผู้บริโภคเริ่มเข้าใจการให้บริการมากยิ่งขึ้นแล้ว
สำหรับภาพรวมปี 2565 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 20% สะท้อนผ่านมูลค่างานในมือ (แบ็กล็อก) อยู่ที่ 1,570 ล้านบาท โดยจะรับรู้รายได้ปีนี้ประมาณ 900 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะรับรู้ในปี 2566
ท้ายสุด “ฐกร” ทิ้งท้ายไว้ว่า โมเดลธุรกิจสามารถตอบโจทย์งานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องการพัฒนาระบบของทุกศูนย์ทั่วประเทศในเวลาเดียวกัน และคาดว่าจะสามารถสร้างการเติบโตของผลประกอบการได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะรักษาการเติบโตให้สอดคล้องไปกับตลาดการจัดการข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล
ถือหุ้น TEAMG หวังซินเนอร์ยี่ร่วมกัน
“ฐกร รัตนกมลพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO บอกว่า สำหรับกรณี “ธีระชัย รัตนกมลพร” ผู้ก่อตั้งและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ DITTO สัดส่วน 35.80% (ตัวเลข ณ 16 มี.ค.65) ได้เข้าซื้อหุ้น บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG จำนวน 11.7867% นั้น เดิม DITTO เคยทำงานร่วมกับ TEAMG มาแล้ว และเห็นถึงศักยภาพด้านบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถจำนวนมาก
สอดคล้องกับ DITTO มีบริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด (บริษัทลูก) ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องน้ำ ขณะที่ TEAMG มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก ดังนั้น อนาคตหากมีความร่วมมือกันทางธุรกิจได้คาดว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการพูดคุยในเรื่องแผนธุรกิจร่วมกันคาดว่าจะมีการพูดคุยและความคืบหน้าหลังสงกรานต์
ขณะที่ กรณีมีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาถือหุ้น DITTO คือ “สถาพร งามเรืองพงศ์” หรือ “เสี่ยฮง” จำนวน 4.96% และ “สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล” หรือ “เสี่ยปู่” จำนวน 3.71% (ตัวเลข ณ 16 มี.ค. 65) นั้น มองว่านักลงทุนทั้ง 2 ท่าน มองว่าหุ้น DITTO เป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และยังเป็นหุ้นที่มีธุรกิจรับเหมาวิศวกรรมด้านเทคโนโลยี ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงสร้างขนาดใหญ่ของประเทศ ถือเป็นความแตกต่างที่บริษัทที่เป็นเทคฯ ไม่มีแบบ DITTO
“ดังนั้น หากดูเมืองไทยยังต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอีกมาก ซึ่งจะดีมากหากสามารถนำเทคโนโลยีไปบวกกับธุรกิจรับเหมาวิศวกรรม ไม่ว่าจะเป็นระบบการบริหารจัดการน้ำ , ระบบคัดแยกขยะ ซึ่งเราอยู่ในธุรกิจที่เป็นเทรนด์ของโลกและเมกะเทรนด์ของประเทศไทย”
โดยที่ผ่านมาบริษัทได้มีโอกาสพูดคุยกับ “เสี่ยเฮง-สถาพร” ถึงแนวทางลงทุนโดยเขาบอกว่าแนวทางลงทุนในหุ้น DITTO มองเป็นการลงทุนในระยะยาว เพราะธุรกิจมีความน่าสนใจหลังจากได้มาฟังข้อมูลของบริษัทแล้ว