โมเดลสร้างโอกาสเศรษฐกิจไทย เพิ่มรายได้ประเทศ 6 แสนล้าน
วงสนทนาที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้กันในช่วงหลังมานี้หลายคนแสดงความเป็นห่วงเป็นใยถึงอนาคต เศรษฐกิจของประเทศที่เผชิญความท้าทายหลายๆอย่าง ทั้งในเรื่องของสังคมสูงวัย หนี้ครัวเรือนที่สูงแตะระดับ 90% ของจีดีพีการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง ระดับหนี้สาธารณะที่ปรับสูงขึ้น
เมื่อรวมกับปัจจัยใหม่ในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่ไต่ระดับพุ่งสูงขึ้นตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ล้วนเป็นคำถามว่าหากเกิดวิกฤติระลอกใหม่ประเทศไทยจะก้าวผ่านปัญหาไปได้อย่างไร
วันก่อนมีโอกาสได้สนทนากับดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) ที่สถาบัณบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ดร.วรพลถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเงินการคลัง ในอดีตมีบทบาทช่วยประเทศฝ่าวิกฤติต้มยำกุ้งผ่านการร่างกฎหมาย พ.ร.ก.กู้เงินในขณะนั้น และยังได้ช่วยเข้าไปช่วยฟื้นฟูตลาดทุนของไทยในช่วงหลังวิกฤติวิกฤติซับไพรม์
ช่วยทำให้ตลาดหลักทรัพย์ที่ซบเซากลับมาคึกคักซื้อขายในระดับสูง เป็นช่องทางระดมเงินที่สำคัญของภาคธุรกิจ ถึงขนาดที่ประเทศคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ยังต้องยกหูโทรศัพท์ข้ามประเทศมาสอบถามว่าทำอย่างไรจึงทำให้มูลค่าการซื้อขายสูงได้มากขนาดนั้น
ดร.วรพลบอกว่าเศรษฐกิจไทยปัจจุบันน่าเป็นห่วงไม่น้อย ระดับหนี้สาธารณะแตะระดับ 10 ล้านล้านบาท (เกินกว่า 60% ของจีดีพี)ข้อจำกัดทางการคลังก็มีมาก สมมุติหากสามารถที่จะเก็บรายได้เกินเป้าปีละประมาณ 1 แสนล้านบาทและหากรัฐจะเอาเงินจำนวนนั้นไปใช้หนี้เงินต้นก็ต้องใช้เวลากว่า 100 ปีจึงจะใช้หนี้ได้หมด
หนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้ภาครัฐจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนก็คือการทำให้ “คนไทย” เก่งขึ้น การที่คนจะเก่งขึ้นได้คือการสร้างทักษะเพิ่ม และต้องเป็นทักษะที่ตรงกับความต้องการของโลกในอนาคต เพื่อให้มีงานที่ทำแล้วมีรายได้สูง คนที่มีรายได้สูงก็จะจับจ่ายมากขึ้นภาครัฐก็จะสามารถจัดเก็บรายได้มาสำหรับบริหารประเทศได้ เอาไปจ่ายหนี้เพิ่มได้
ตัวอย่างงานที่ควรส่งเสริมและผลักดันคืองานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ดร.วรพลบอกว่าหากรัฐบาลตั้งเป้าจะผลิตให้ได้ 5,000 คน ก็จะเกิดระบบนิเวศน์หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องตามมาอีกมาก เช่น เดียวกับการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ประเทศไทยมีศักยภาพไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และเครื่องมือแพทย์ เกษตรสมัยใหม่และการแปรรูปอาหาร ดิจิทัล การท่องเที่ยวมูลค่าสูง และอุตสาหกรรมซอฟพาวเวอร์ เป็นต้น
รวมแล้วมี 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมสามารถเพิ่มการจ้างงานได้อีกคลัสเตอร์ละ 1 แสนคน รวมทั้งหมดจะเพิ่มการจ้างงานได้ 1 ล้านตำแหน่ง คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีเงินเดือนมาใช้จ่ายปีละประมาณ 5 แสนล้านบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ เมื่อรวมกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท จะมีเงินหมุนเวียนจากการส่งเสริมทักษะงานในส่วนนี้กว่า6แสนล้านบาท
ดร.วรพลทิ้งท้ายว่าในเรื่องการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแม้จะทำได้ไม่ง่ายเพราะ ไม่มีความสำเร็จในช่วงข้ามคืนแต่ต้องเริ่มต้นทำอย่างจริงจังหากต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น