“เฟทโก้” ชี้เก็บภาษีหุ้นได้ไม่คุ้มเสีย วอลุ่ม-ฟันด์โฟลว์-นักลงทุนไทย ทรุด
“เฟทโก้” เดินหน้าค้านเก็บภาษีขายหุ้น หวั่นกระทบเม็ดเงินฟันด์โฟลว์ต่างชาติ- วอลุ่มเทรดนักลงทุนสะดุด “มอร์นิ่งสตาร์” คาดมีเม็ดเงินไหลออกกองทุนหุ้นไทย “สรรพากร” เผยจัดทำระบบเก็บภาษีเสร็จแล้ว เตรียมหารือกับระดับนโยบาย กำหนดแนวทางจัดเก็บ
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยว่า สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีขายหุ้น เนื่องจากจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะปัจจุบันเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ยังเป็นทิศทางไหลเข้า และความมั่นใจของนักลงทุนในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็ดีขึ้น ซึ่งไม่ควรที่จะสร้างอุปสรรคในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน
รวมถึงนักลงทุนในประเทศก็จะสะดุดได้ เพราะปีนี้เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย และการดึงเงินสภาพคล่องกับ (QT) ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาวะลงทุนไม่ควรที่จะสร้างความไม่แน่นอน โดยที่ผ่านมาทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งมีสมาชิก คือ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (สมาคมโบรกเกอร์), สมาคมบริษัทจดทะเบียน (สมาคมบจ.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เข้าไปให้ข้อมูลแก่รัฐมนตรีว่าการทางกระทรวงการคลังแล้วถึงผลกระทบเก็บภาษีขายหุ้นไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงการคลังจะเก็บภาษีขายหุ้นในปีนี้ ซึ่งทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสมาคมโบรกเกอร์นั้น เราอยู่ในฐานะผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติตาม แต่ยืนยันว่าการเก็บภาษีขายหุ้นนั้นมีข้อดีน้อยกว่าข้อเสีย
ดังนั้น คงต้องรอดูรายละเอียดของการประกาศเก็บภาษีขายหุ้นว่าจะเก็บอย่างไร อัตราเท่าไร และเก็บทุกรายหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีโบรกเกอร์ หรือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง (มาร์เก็ตเมคเกอร์) สำหรับตราสารต่างๆ และ นักลงทุนต่างประเทศที่ใช้โปรแกรมในการซื้อขาย จะต้องถูกเก็บหรือไม่ ซึ่งยังมีรายละเอียด และควรที่จะใช้เวลาผู้ประกอบธุรกิจในการเตรียมความพร้อม
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรจะขอหารือกับระดับนโยบายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีขายหุ้นว่า มีจะมีแนวทางอย่างไร เพื่อให้มีแนวทางการจัดเก็บที่ชัดเจนทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ กรมฯ ได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดแนวทางการจัดเก็บไว้หลายแนวทางแต่ยังไม่ได้มีการตัดสินใจ ซึ่งต้องรอให้ระดับนโยบายพิจารณาด้วย อย่างไรก็ดี ในแง่การวางระบบการจัดเก็บนั้น ทางกรมฯได้เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว
นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทมอร์นิ่งสตาร์รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า มีประเด็นเก็บภาษีขายหุ้นเข้ามาอีกครั้ง ย่อมเพิ่มความกัดดันต่อสภาพคล่องในตลาดหุ้นไทย จากกลุ่มนักลงทุนที่ซื้อขายจำนวนมาอาจจะหายไป แต่คงไม่ได้ลดลงมากจนส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยรุนแรงเพียงแต่เรื่องภาษีทำให้นักลงทุนที่ซื้อขายต้องพิจารณามากขึ้นเท่านั้น
อีกทั้งภาษีขายหุ้นมองว่า เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้มีเงินไหลออกจากกองทุนหุ้นไทย เพิิ่มเติมจากในช่วงที่ผ่านมาไม่มีเงินกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย และในปีนี้ยังมีเงิน LTF ครบกำหนด 7 ปีปฏิทินจำนวนมากทำให้มีเงินไหลออกจากกองทุนหุ้นไทย
“กองทุนรวมหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบหลายปัจจัยในปีนี้ จากความลังเลของนักลงทุนในการตัดสินใจเข้าลงทุน ประกอบกับกลุ่มหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพลังงาน แบงก์และท่องเที่ยว ไม่มีหุ้นที่ได้ประโยชน์ชัดเจนและยังได้รับผลกระทบในช่วงโควิด ทำให้ตลาดหุ้นไทยขาดความน่าสนใจไประดับหนึ่ง พอมีเรื่องภาษีขายหุ้นเข้ามาก็ยิ่งเพิ่มความกดดันให้กับสภาพคล่องตลาดด้วยเช่นกัน”
นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า กรณีประเด็นเรื่องการเก็บภาษีหุ้นนั้น หากยืดเวลาการเก็บภาษีหุ้นออกไปให้ช้าเท่าไหร่ก็จะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น เนื่องจากปัจจุบันมองว่าบรรยากาศการลงทุนยังไม่เอื้ออำนวยในการเก็บภาษีหุ้น เพราะภาวะตลาดหุ้นค่อนข้างผันผวนและมีปัจจัยกดดันทั้งภายในและภายนอกหลากหลายปัจจัย
อย่างไรก็ตาม มองว่าหากมีการเก็บภาษีหุ้นจริง การลงทุนจะมีผลกระทบต่อภาพรวมของมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) ในภาพใหญ่ ส่วนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) นั้น คาดว่าจะมีผลกระทบน้อยมาก เพราะว่านักลงทุนจะโดดเก็บภาษีแค่ครั้งแรกที่ขายเท่านั้น ขณะที่นักลงทุนที่มีการซื้อขายรายวัน (เดย์เทรด) เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากกว่า