มุมมองเศรษฐกิจไตรมาส 3 แนวโน้มสดใสหลังผลประกอบการ ไตรมาส 2 ดีกว่าคาด
ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ในไตรมาส 2 ดีกว่าคาด โดยกำไรไตรมาส2ปี 2565 ของบริษัท ที่ผมติดตามอยู่ที่ 3.48 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 26.4% YoY และ 35% QoQ) ซึ่งเป็น Record High ของการประกาศผลประกอบการของตลาดหุ้นไทยทีเดียว
โดย Sector ที่ผลประกอบการออกมาดีกว่าไตรมาสที่ 2 ปีก่อนหน้า คือกลุ่ม Commerce (+46%), Energy-Commodity (+177%), Foods (+81%), Healthcare (+88%), Prop-Rental (+264%), Tourism (+89%), และ Transportation (+46%) โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Commodity Related เป็นกลุ่มที่ผลักดันการเติบโตของทั้งตลาด ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีการเติบโตถึง +66% YoY หรือ +58% QoQ หากไม่นับรวมการเติบโตของกลุ่มดังกล่าวทั้งตลาดอาจจะโตเพียงแค่ 3% YoY หรือ 5% QoQ
เมื่อพิจารณาสัดส่วนจำนวนบริษัทที่กำไรต่อจำนวนบริษัทที่ขาดทุน พบว่ามีสัดส่วนใกล้เคียงกับไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งพบว่าสัดส่วนจำนวนบริษัทที่กำไรยังมากกว่าบริษัทที่ขาดทุนอยู่เป็นสัดส่วนประมาณ 10:1 และสัดส่วนของบริษัทที่กำไรเติบโตต่อบริษัทที่กำไรลดลงจะอยู่ที่ประมาณ 3:1 ซึ่งแสดงถึงว่าผลการดำเนินงานของบริษัทต่างๆ ในภาพรวมยังดีอยู่ (จำนวนบริษัทที่มีผลประกอบการดีมีมากกว่าจำนวนบริษัทที่มีผลประกอบการแย่) ทำให้คาดว่า Market EPS ปี 2022 จะอยู่ที่ประมาณ 97.97 บาท และค่า P/E Ratio อยู่ที่ประมาณ 16.5 เท่า
จากปัจจัยบวกด้านต่างๆ ทำให้หุ้นแต่ละอุตสาหกรรมได้รับอานิสงส์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านราคาน้ำมัน และค่าการกลั่นที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้หุ้นกลุ่มพลังงานมีแนวโน้มเติบโต ปัจจัยด้านค่าเงินบาทอ่อน ส่งผลต่อหุ้นส่งออกอาหารและเครื่องดื่ม ที่สามารถส่งออกได้มากขึ้น และปัจจัยจากการเปิดประเทศ
ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มการท่องเที่ยว ที่เริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับมามากขึ้น และหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่มีจำนวนผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการมากขึ้น
สำหรับมุมมองในไตรมาส 3 คาดว่าผลการดำเนินงานยังมีแนวโน้มเติบโต แต่น่าจะน้อยกว่าไตรมาสที่ 2 ที่กลุ่ม Commodity Related ได้รับผลดีจากราคาสินค้า Commodity ได้แก่
1. อัตราเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัวลง จากช่วงเดือนพ.ค.ถึงเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ที่ราคาสินค้าและบริการมีการปรับตัวสูงขึ้น บวกกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 4 ปี
2. ความเสี่ยงจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หรือระหว่าง จีน – ไต้หวัน แม้ว่าจะมีความตึงเครียดอยู่ แต่โอกาสที่จะขยายวงกว้างค่อนข้างน้อย รวมทั้งตลาดได้ซึมซับความกลัวและสะท้อนลงมาในราคาหุ้นแล้ว
3. เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าคาดจากทั้งการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และการกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ภาคการท่องเที่ยวน่าจะได้รับอานิสงส์อย่างมาก
4. ภาคการส่งออกที่ขยายตัวมากขึ้น และ Fund Flow ที่ไหลเข้าประเทศ จากการอ่อนค่าของเงินบาท
ซึ่งการปรับตัวขึ้นมาจะช่วยให้นักลงทุนเชื่อมั่นต่อภาพการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของตลาดหุ้นไทย และจะทำให้การซื้อขายของตลาดหุ้นไทยกลับมาสดใสมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรวมกับปัจจัยบวกอื่น ๆ