มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบันหรือไม่? (จบ)
อยากเห็นมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือลูกหนี้มากกว่ามาตรการที่ ธปท. ออกมา ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาวะวิกฤตที่ลูกหนี้กำลังเผชิญอยู่
สถาบันการเงินทั้ง Bank และ Non-Bank ได้มีการช่วยเหลือลูกหนี้มาตลอดก่อนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมาตรการ Responsible Lending ที่ประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่ต้องมีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับที่สูง และหนี้เสียในระบบที่ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ยอมรับว่าหนี้เสียก็มีเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ยังอยู่ในทิศทางที่บริหารจัดการได้ ก็ไม่ได้เป็นปัญหาที่กังวลในมากนัก
ดังนั้นก็ต้องประคับประคอง และช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งหนี้จากทิศทางหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นในส่วนของธนาคารเอง ต้องช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าของธนาคารสามารถกลับมาประคองตัวได้ หรือสามารถกลับมาลงทุนและขยายธุรกิจต่อได้
ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งก็มีนโยบายไม่แตกต่างกัน งานที่ยากและลำบากที่สุดคือการป้องกันและแก้ไขให้ลูกหนี้หลุดจากการเป็น NPL ที่จะมีผลต่อการตั้งสำรองหนี้ และจะกระทบกับกำไร-ขาดทุน ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย การกันเงินสำรองที่ใช้หลักการ Expected Credit Loss (ECL) ขั้นที่ 1 กันสำรองสำหรับผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 12 เดือน ข้างหน้า ขั้นที่ 2 และ 3 กันสำรองสำหรับผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตลอดอายุของสินเชื่อ ขั้นที่ 1 (Performing) อัตราขั้นตำ 1% ขั้นที่ 2 (Under-performing) อัตราขั้นต่ำ 2% ขั้นที่ 3 (Non-performing) ส่วนที่ไม่มีหลักประกัน อัตราขั้นต่ำ 100% ส่วนที่มีหลักประกัน อัตราขั้นต่ำ 20%
การดูแลช่วยเหลือลูกค้าให้หลุดจากการเป็น NPL กลับมาเป็นหนี้ปรกติ และสำรองหนี้ตามเกณฑ์ขั้นที่ 1 คือการปรับโครงสร้างหนี้ เปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ตั้งแต่ขอชำระเงินต้นน้อยลง หรือพักการชำระเงินต้น แต่ชำระดอกเบี้ยเต็มจำนวน ลูกหนี้บางรายที่รายได้จากกิจการน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจจะขอชำระดอกเบี้ยบางส่วนที่เหลือเอาไปตั้งแขวนไว้ รอจนกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นจึงจะชำระดอกเบี้ยที่แขวนไว้
ลูกหนี้บางรายอาจจะเจรจาต่อรองกับธนาคารขอโอนทรัพย์ชำระหนี้ เพื่อหยุดการชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และขอใช้สิทธิซื้อคืน ตามระยะเวลาที่คาดว่าเศรษฐกิจกิจจะดีขึ้น เช่น 3 ปี โดยจะต้องชำระค่า Carrying Cost และขอเป็น First Piority ในการซื้อคืนตามราคาที่ตกลงกันไว้
ซึ่งต่อมา ธปท. มีมาตรการที่เรียกว่า Ware House ที่มีหลักการที่ใกล้เคียงกัน ลูกหนี้ที่สามารถขายหลักทรัพย์ได้ แต่ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้อาจเจรจาต่อรองขอชำระหนี้เสร็จสิ้นเพื่อยุติการเป็น NPL เรื้อรัง เป็นการขอให้ธนาคารลดหนี้ ที่เรียกว่า Hair cut ฃึ่งทุกธนาคารมีหลักเกณฑ์ในการ Hair cut หนี้ตามเกณฑ์อยู่แล้ว
ธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีวิธีการลด NPL โดยการขายหนี้ NPL ให้กับบริหารสินทรัพย์ในราคาที่ต่ำลง เป็นลด NPLได้เป็นจำนวนมาก แต่ลูกหนี้ก็ถูกเปลี่ยนเจ้าหนี้จากสถาบันการเงินเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งยังคงถูกติดตามเร่งรัดหนี้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น
มาตรการพักชำระหนี้ (dept moratorium) ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)ซึ่งเป็นมาตรการหลักของรัฐในการช่วยเหลือปัญหาหนี้เกษตรกรไทย ในช่วง 9 ปี ที่ผ่านมา รายละเอียดบทสรุป ของ Ratanavarak& Chantarat (2022) จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่มีการศึกษา 13 มาตรการพักหนี้ในอดีต ที่ทำในวงกว้าง ต่อเนื่องยาวนาน ที่ไม่มีเงื่อนไขในการรักษาวินัยทางการเงินที่ดี และไม่สามารถแก้ปัญหาลูกหนี้ในกลุ่มเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่ ธปท. ควรจะตั้งคณะทำงาน ที่สถาบันการเงินทุกแห่งมีส่วนร่วมในการระดมสมอง เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขหนี้ให้กับลูกหนี้ทุกกลุ่มนอกจากเกษตรกร
ผมอยากเห็นมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือลูกหนี้มากกว่ามาตรการที่ ธปท ออกมา ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาวะวิกฤตที่ลูกหนี้กำลังเผชิญอยู่ มองไปทางไหนก็น่าวิตก มีแต่ร้านค้าปิดกิจการ บอกขายบ้าน ขายตึก ตลาดที่เคยคึกคักก็เงียบเหงา ความปลอดภัยในชีวิตและสินทรัพย์ลดน้อยลง เพราะคนยากจนหิวโหยก่อคดีอาชญากรรมเพิ่มขึ้นทั่วแผ่นดิน…