AWC มั่นใจท่องเที่ยวไทยฟื้น! ลุยเปิดโรงแรม 4 แห่งปี 67 มูลค่าลงทุนหมื่นล้าน
บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ 'AWC' ธุรกิจอสังหาฯ มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท ภายใต้อาณาจักรใหญ่ 'ทีซีซีกรุ๊ป' ของ 'เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี' ครบรอบ 4 ปีเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 10 ต.ค. 2562 ผ่านร้อนหนาวมากมาย โดยเฉพาะวิกฤติโควิด-19
“ผลการดำเนินงานของ AWC ในไตรมาส 4 ปี 2566 ทั้งอัตราการเข้าพักและรายได้ต่อห้องพัก (RevPar) น่าจะโตกว่าไตรมาส 4 ของปี 2562 ก่อนโควิดระบาด หรือแม้แต่ไตรมาส 4 เมื่อปี 2561 ด้วย ถือเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มา 4 ปี” วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC ผู้เป็นทายาทของเจ้าสัวเจริญ ฉายภาพภายหลังงานเปิดตัวโครงการ “AWC Stay to Sustain” สนับสนุนประเทศไทยเป็น “จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก” เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา
จากแนวโน้มไตรมาส 4 ปีนี้ ยอดจองห้องพักโรงแรมของ AWC ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการ 22 แห่งในประเทศไทย คาแรกเตอร์ของพอร์ตโฟลิโอโรงแรมจัดอยู่ในกลุ่ม “High To Luxury” มียอดจองสะสมดี สวยงาม เกินไตรมาส 4 ปี 2562 เพราะได้ “นักท่องเที่ยวคุณภาพ” เดินทางมาเข้าพัก ร่วมฉลองบรรยากาศการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซันในไทย ได้ปัจจัยหนุนภาพรวมจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นในตารางบินฤดูหนาว 2566/2567 หลังช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ “ราคาห้องพักเฉลี่ย” (ADR) เพิ่มขึ้น 15-49% เมื่อเทียบกับยุคก่อนโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ไฮซีซันนี้ของภาคท่องเที่ยวไทยยังเต็มไปด้วยความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะสถานการณ์ “ความเสี่ยง” (Risks) ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ที่แม้ยังไม่เห็นผลกระทบต่อยอดจองโรงแรมของ AWC แต่ต้องจับตาเพราะเป็นหนึ่งใน “ความผันผวน” ของโลก!
ขณะที่ตลาด “นักท่องเที่ยวจีน” ซึ่งปัจจุบันครองสัดส่วน 11% ของลูกค้าโรงแรมทั้งหมดในเครือ AWC รองจากตลาดอันดับ 1 นักท่องเที่ยวสหรัฐที่มีสัดส่วน 15% หลังรัฐบาลออกมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) หรือ วีซ่า-ฟรี แก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถานเป็นการชั่วคราวประมาณ 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 - 29 ก.พ. 2567 เข้ามาเป็นปัจจัยเร่งการเดินทาง พบว่ายังไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อยอดจองนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “จำนวนเที่ยวบิน” เส้นทางบินระหว่างไทย-จีน ยังปรับไม่ทัน! ซึ่งปกติแล้วต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะกลับมา
“จำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศเป็นปัจจัยใหญ่ที่ส่งผลต่อการฟื้นฟูของภาคท่องเที่ยวไทย ตอนนี้หลายสายการบินกลับมาให้บริการเที่ยวบินมากขึ้น คาดว่าปี 2567 จะเติบโตกว่าปีนี้”
ส่วนภาพรวมรายได้ของ AWC ในปี 2566 น่าจะโตขึ้น 2 หลัก หรือไม่น้อยกว่า 10% หลัง “กลุ่มธุรกิจโรงแรมและบริการ” เป็นไฮไลต์สำคัญ กลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิม! ส่วน “กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์” อย่างธุรกิจอาคารสำนักงาน ยังต้องทำตลาดดึงดีมานด์ใหม่ๆ เข้ามา ตอนนี้รอนโยบายภาครัฐโปรโมตประเทศไทยให้เป็น “ศูนย์กลางของสำนักงานระดับภูมิภาค” ซึ่งจะเอื้อต่อภาพรวมธุรกิจอาคารสำนักงานทั้งหมดในไทย ขณะที่ธุรกิจรีเทล เช่น “เอเชียทีค” ปัจจุบันมีทราฟฟิกผู้เข้าใช้บริการ 20,000 คนต่อวัน เป็นชาวไทย 50% และชาวต่างชาติ 50% ยังห่างจากยุคก่อนโควิด-19 ที่วันธรรมดามียอดผู้เข้าใช้บริการ 30,000 คนต่อวัน และช่วงสุดสัปดาห์มี 50,000 คนต่อวัน
วัลลภา เล่าเพิ่มเติมถึงแผนขยายธุรกิจว่า ในปี 2567 จะเปิด “โรงแรมใหม่” เพิ่ม 4 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพักกว่า 1,000 ห้อง ซึ่งใช้เงินลงทุนรวมราว 10,000 ล้านบาท โลเกชันตั้งอยู่ในพัทยา 2 แห่ง คือโรงแรม “แมริออท รีสอร์ต แอนด์ สปา พัทยา” และอีกแห่งเป็นโรงแรมที่กำลังพูดคุยกับเชนโรงแรม IHG (อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ลส์ กรุ๊ป) ว่าจะใช้แบรนด์ใด
ส่วนกรุงเทพฯ 1 แห่ง คือโรงแรม “แฟร์มอนท์ แบงคอก สุขุมวิท” หลังจับมือกับเชนโรงแรม แอคคอร์ (Accor) รีแบรนด์จากเดิมชื่อโรงแรม แกรนด์ เมอร์เคียว แบงค็อก วินด์เซอร์ ในซอยสุขุมวิท 20 ที่ AWC เข้าซื้อโรงแรมนี้เมื่อปลายปี 2565 โดยถือเป็นโรงแรมแบรนด์ “แฟร์มอนท์” (Fairmont) แห่งแรกในไทย เจาะตลาดไมซ์ (MICE : การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) ระดับลักชัวรี
นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดโรงแรมใหม่ในหัวหินอีก 1 แห่ง คือ “คิมป์ตัน หัวหิน รีสอร์ต” ปรับโฉมจากโรงแรมเดิมชื่อ อิมพีเรียล หัวหิน
“โครงการมิกซ์ยูสอื่นๆ ตามแผนการลงทุนใหญ่ของ AWC ตอนนี้เดินหน้าพัฒนาโครงการอควอทีค (Aquatique) ในเมืองพัทยา จะทยอยเปิดเป็นเฟสๆ ใช้เวลาพัฒนา 4-5 ปี ความคืบหน้าล่าสุดคืออยู่ระหว่างออกแบบ รอใบอนุญาต EIA ส่วนโครงการเวิ้งนาครเขษม ตอนนี้อยู่ระหว่างทำ EIA และทำประชาพิจารณ์พูดคุยกับชุมชน ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน”