‘สุรินทร์’ ลาออกช่อง 3 จับตาแผนเคลื่อนธุรกิจทีวีท่ามกลางโจทย์โตยาก
"สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์"ขอลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทและผู้บริหารของบริษัทฯ และบริษัทในเครือทั้งหมด โดยการลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566
เกิดความเคลื่อนไหวแห่งบ้านวิก 3 พระราม 4 เมื่อบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ได้แจ้งความประสงค์ขอลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทและผู้บริหารของบริษัทฯ และบริษัทในเครือทั้งหมด โดยการลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566
นี่จึงเป็นอีกครั้งที่ช่อง 3 ปรับเปลี่ยน “แม่ทัพ” เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจทีวี ที่ถือว่าอยู่ในช่วง “ขาลง” และเผชิญความท้าทายสารพัด โดยฉพาะดิจิทัล ดิสรัป ที่ยังคงอยู่ การถูกแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาจากสื่อใหม่ บรรดาแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ
ทั้งนี้ กรุงเทพธุรกิจ ได้สอบถามแหล่งข่าววงการสื่อ อุตสาหกรรมโฆษณา ระบุว่า การที่ “สุรินทร์” ลาออกจากการเป็นผู้บริหารช่อง 3 เกิดจากปัญหาด้านสุขภาพ
ย้อนเส้นทางการทำงานของ “สุรินทร์” ได้หวนกลับคืนสู่บ้านเก่าอย่างช่อง 3 เป็นเวลากว่า 3 ปี ซึ่งภารกิจ และวิสัยทัศน์ขณะนั้นมีความชัดเจนมากในการนำพาองค์กรให้ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ป้อนคอนดู หรือภาพใหญ่คือการเป็น Total Entertainment Company ไม่ใช่แค่การทำธุรกิจ “ทีวีดิจิทัล” เท่านั้น
แผนธุรกิจที่ท้าทาย ยังมาพร้อมกับเป้าหมายรายได้ที่ท้าทายยิ่งกว่า เพราะต้องการเห็นความมั่งคั่งกลับไปอยู่ในจุดสูงสุดเหมือนในอดีตหรือช่วงพีค ที่ทำกำไร “เกินกว่า 5,000 ล้านบาท” ทว่า ปี 2565 รายได้รวมบริษัทมากกว่า 5,000 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่กว่า 600 ล้านบาท และครึ่งปีแรก 2566 รายได้รวมกว่า 2,200 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 78 ล้านบาท
ขณะที่สถานการณ์เม็ดเงินโฆษณาครึ่งปีแรก 2566 มีมูลค่า 55,530 ล้านบาท ลดลง 91 ล้านบาท หรือลดลง 0.2% โดยสื่อทีวีมีมูลค่า 29,368 ล้านบาท ลดลง 2,375 ล้านบาท หรือลดลง 7.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ภาพใหญ่ “ทีวี”(ทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี) ยังครองเม็ดเงินโฆษณาสูงสุด 53% ก็ตาม แต่เทียบการเติบโตถือว่า “แพ้” ให้กับสื่ออื่นๆ เช่น วิทยุเติบโต 10.4% สื่อโฆษณานอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่โต 25.6% (ที่มา : นีลเส็น) และสื่ออินเตอร์เน็ต(ออนไลน์) สมาคมโฆษณาดิจิทัล(ประเทศไทย) หรือDAAT ปรับประมาณการทั้งปีโต 13% จากเดิมคาดการณ์ไว้ 7%
การเข้ามาของ “สุรินทร์” เกิดพัฒนาการสำคัญหลายด้าน ทั้งการขยายธุรกิจจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ ป้อนให้กับ Netflix VIU การออกงานต่างแดนเพื่อเปิดตลาดให้กว้างขึ้น เช่น ร่วมออกบูธที่ Hong Kong International Film& TV Market หรือ FILMART 2023 นอกจากนี้ การมุ่งสู่ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม พยายามผลักดันยอดสมาชิก 3Plus Premium ดึงสาวกที่ยินดีจ่ายเงินค่าสมาชิก(SVOD)เพื่อคอนเทนต์โปรด มุ่งร่วมมือพันธมิตร ทำทุกกระบวนท่าเพื่อสร้างการเติบโต
การเติบโตต้องหาน่านน้ำใหม่เสมอ “ธุรกิจเพลง” เป็นอีกกลยุทธ์ที่ช่อง 3 รุก ประเดิม “แต้ว ณฐพร” ต่อด้วย “โบว์ เมลดา” ที่ผลตอบรับดี
นอกจากนี้ “บีอีซี” ยังร่วมทุนกับ “เมเจอร์ จอยน์ ฟิล์ม” เพื่อกิจการร่วมค้า(Joint Venture)มูลค่าลงทุน 82.9 ล้านบาท ถือหุ้นสัดส่วนเท่ากันที่ 50% เพื่อสร้างสรรค์หนัง อีกคอนเทนต์ในการหารายได้ ผลักดันการเติบโต
ข่าว ละคร ที่เคยเป็นแม่เหล็กสำคัญดึงคนดูทีวี ปัจจุบันไม่เพียงพอ และความมุ่งมั่นของ “สุรินทร์” แม้จะไม่ยังไปไม่ถึงเป้าเพราะปัญหาด้านสุขภาพ ที่ต้องจับตาต่อคือ “ผู้นำใหม่” ใครจะมาเคลื่อนธุรกิจ และนำพาช่อง 3 ให้โตแข็งแกร่งในอนาคต แต่การทำธุรกิจทีวีให้โตยุคนี้เป็นโจทย์ยากไม่น้อยเลย