Seiko กับกลยุทธ์ที่เปลี่ยนไป | พสุ เดชะรินทร์
ธุรกิจที่เผชิญการเปลี่ยนแปลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอีกธุรกิจ คือธุรกิจนาฬิกาข้อมือกับการเข้ามาของ Smart Watch อีกทั้งพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ดูเวลาจากโทรศัพท์มากขึ้น ทำให้การใส่นาฬิกาไม่ใช่เพื่อการบอกเวลาอีกต่อไป
การเข้ามาของ Smart Watch กับการ Disrupt ธุรกิจนาฬิกาข้อมือ จะทำให้นึกถึงแบรนด์ต่างๆ ของโลกตะวันตกโดยเฉพาะนาฬิกาจากสวิส แต่อีกหนึ่งแบรนด์นาฬิกาที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างช้านานอย่างเช่น Seiko (ไซโก) ก็เผชิญกับผลกระทบด้วยเช่นกัน ความน่าสนใจคือบริษัทอายุกว่า 140 ปีอย่างไซโกปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร
ไซโกเกิดขึ้นในปี 2424 โดยคุณ Kintaro Hattori จากการเปิดร้านขายและซ่อมนาฬิกาและเริ่มผลิตนาฬิกาติดผนังก่อน มีการย้ายที่ตั้งไปที่หัวมุมย่านกินซ่าและสร้างร้านที่มีหอนาฬิกาอยู่ข้างบน จากนั้นก็ปรับมาผลิตนาฬิกาพก (Pocket Watch) และเมื่อพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน ก็ผลิตนาฬิกาข้อมือ
จากนั้นก็พัฒนาขึ้นมาตลอดและเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมใหม่ให้กับวงการนาฬิกาหลายประการ ทั้งนาฬิกา Quartz เรือนแรกของโลกที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่หรือพลังงานจากแสงอาทิตย์ รวมถึงเป็นผลิตนาฬิกาหน้าจอที่เป็นตัวเลขบนจอ LCD เป็นเจ้าแรก
ไซโกได้จัดทำ Mid-Term Management Plan (ปี 2565-2569) ขึ้นมา และเรียกแผนดังกล่าวว่า SMILE 145 (ย่อมาจาก Seiko Milestone 145 เนื่องจากไซโกจะครบรอบ 145 ปีของการก่อตั้งในปี 2569)
แผนดังกล่าวได้เผยแพร่ให้กับนักลงทุนทั่วไปบนเว็บ และเป็นเอกสารที่น่าสนใจและมีประโยชน์สำหรับธุรกิจที่จะจัดทำกลยุทธ์ในระยะกลาง เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงกระบวนการคิดและสิ่งที่ไซโกจะทำเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
โดยสรุปแล้ว การปรับตัวของไซโกนั้นเริ่มต้นจากทิศทางของบริษัทที่จะไม่ได้เป็นบริษัทนาฬิกาเป็นหลัก แต่จะเน้นความเป็นบริษัทที่ได้รับความเชื่อถือจากสังคม (Trusted by society) และมุ่งเน้นการเป็น Solutions Company มากขึ้น
ไซโกยังนำเรื่องของความยั่งยืนเข้ามาผสมผสานในกลยุทธ์ของบริษัท โดยหยิบเอาเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ของสหประชาชาติ มาใส่เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเติบโตและมีสิ่งที่จะทำเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว
เพื่อตอบสนองต่อ Smart Watch ไซโกเองก็หันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไซโกเรียกว่า Emotional Value มากขึ้น โดยพยายามสร้างคุณค่าทางด้านอารมณ์และจิตใจให้กับแบรนด์นาฬิกาไซโก (เพื่อประชันกับ Smart Watch ที่เน้นเรื่องการใช้งานเป็นหลัก) โดยไซโกก็จะเน้นการเติบโตของนาฬิกาในระดับหรูของตนเองผ่านทางแบรนด์ Grand Seiko มากขึ้น
ไซโกเติบโตเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับความแม่นยำ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เกี่ยวกับการพิมพ์
หรือ การให้บริการแบบครบวงจรสำหรับการสั่งและชำระเงินสำหรับร้านอาหาร รวมถึงบริการในด้านอื่นๆ เช่น IoT เป็นต้น รวมทั้งการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมด้วย
ในอดีตเมื่อนึกถึงนาฬิกาข้อมือ แบรนด์ไซโกจะอยู่ในลำดับแรกๆ ที่นึกถึง โดยเฉพาะในวัยเด็กที่เมื่อเริ่มใส่นาฬิกา นาฬิกาที่เป็นตัวเลขและมีปุ่มกดสี่ปุ่มจะเป็นรุ่นที่ใฝ่ฝันและเป็นที่ต้องการของเด็กในยุคหนึ่ง แต่ปัจจุบันชื่อของไซโกอาจจะเริ่มจางหายไป และเมื่อเผชิญกับ Smart Watch ก็ทำให้บริษัทอายุกว่าร้อยปีนี้ต้องปรับตัวอย่างมาก
ในมุมมองของการทำแผนนั้น แผนระยะกลางของไซโกมีความน่าสนใจ และน่าจะนำพาไซโกผ่านพ้นช่วงของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ แต่ในเชิงปฏิบัติก็ต้องติดตามต่อไปว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า นาฬิกาไซโกจะยังเป็นที่นึกถึงในลำดับแรกๆ หรือไม่ และบริษัทไซโกจะประกอบธุรกิจใดเป็นหลัก