“ญี่ปุ่น” ชูศักยภาพ “อีอีซี” ศูนย์กลางฐานผลิตอาเซียน
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมาต่อเนื่องในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมา โดยเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น ยานยน์ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือที่จะสนับสนุนการลงทุนใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินสำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในอีอีซี สอคคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของญี่ปุ่น ตามข้อริเริ่ม Asia-Japan Investing for the Future หรือ AJIF ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้ในอนาคต
สำหรับนโยบาย AJIF ของญี่ปุ่นจะสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (สกพอ.) กำหนดแนวทางการดึงญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนไทยใน EEC ประกอบด้วยการเพิ่มศักยภาพให้ EEC เป็นส่วนซัพพลายเชนญี่ปุ่น เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมอากาศยาน
รวมทั้งส่งเสริมการลงทุน “คาร์บอนต่ำ” ครอบคลุมยานยนต์สมัยใหม่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะใน EEC ซึ่งจะชวนบริษัทญี่ปุ่นที่สนใจมาลงทุนพัฒนาเมือง
Takashi Toyoda Country Head of Thailand and General Manager ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า EEC ถือเป็นพื้นที่ศักยภาพในการลงทุนแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภาคเอกชนญี่ปุ่น ซึ่งตั้งแต่ที่มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศ ทำให้ทั้งสองประเทศมีการติดต่อเจรจาธุรกิจระหว่างกันทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยความร่วมมือครั้งนี้ ธนาคารจะร่วมมือกับ สกพอ.ในการให้ข้อมูลและ สนับสนุนทางการเงินแก่นักลงทุนญี่ปุ่นที่กำลังตัดสินใจอยากเข้าไปลงทุนในพื้นที่ EEC รวมถึงนักลงทุนในพื้นที่ที่มีความต้องการขยายความลงทุน
ทั้งนี้ การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เพื่อความร่วมมือในการฟื้นฟูภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านกลไกที่สนับสนุนและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ EEC ในอุตสาหกรรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจบีซีจี อุตสาหกรรมไฮเทค พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี (Technology-base Industry)
Takuro Tasaka Minister and Chief of Economic Division Embassy of Japan กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังให้ความสนใจประเทศไทยในการที่จะขยายการลงทุนเพิ่มเติม เนื่องจากตลาดในไทยยังมีศักยภาพในการเติบโต อีกทั้งยังได้เปรียบด้านที่ตั้งซื่งถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของอาเซียน รวมถึงการมีต้นทุนจากสภาพแวดล้อม (Ecosystem) จากการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นที่ผ่านมา ทำให้สะดวกต่อการลงทุนเพิ่มเติมและการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ อาทิอุตสาหกรรมยานยนต์
รวมทั้งเป็นการสานต่อการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านห่วงโซ่อุปทานที่ประเทศไทย เป็นหนึ่งในฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญของนักลงทุนญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน
“อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนญี่ปุ่นซึ่งลงทุนในไทยได้สะท้อนความเห็นกลับมาว่ามีความต้องการให้ภาครัฐไทยเร่งแก้กฎระเบียบเกี่ยวกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ และการสร้างระบบภาษีที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการสนับสนุน เพื่อเร่งให้เกิดความง่ายต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐของทั้งสองประเทศทั้งสองประเทศได้มีร่วมมือกันเพื่อแก้ไขกฎระเบียบบางส่วนแล้ว อาทิ กฎระเบียบเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์”
สำหรับภาพรวมการลงทุนจากญี่ปุ่นใน EEC ปี 2564 พบว่า นักลงทุนญี่ปุ่นที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมจากบีโอไอ มีมูลค่ารวม 19,445 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2565 มีมูลค่าการออกบัตรจากนักลงทุนญี่ปุ่นรวม 3,240 ล้านบาท ถือเป็นประเทศที่อยู่อันดับ 1 ที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพในEEC ที่เกิดความก้าวหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น สนามบินอุ๋ตะเภา รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและ 5G อีกทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมและทักษะที่ตรงตามความต้องการของตลาดอย่างเป็นรูปธรรม ที่ได้สร้างความมั่นใจการเข้าลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น เพิ่มการลงทุนในพื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า สกพอ.ได้ลงนามเอ็มโอยูกับธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือ SMBC เชื่อมโยงนักลงทุนไทย-ญี่ปุ่น ดึงรายใหม่และสนับสนุนรายเดิมขยายการลงทุนในพื้นที่ EEC 0tเป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
ก่อนหน้านี้ สกพอ.เคยได้มีความร่วมมือกับ ธนาคาร มิซูโฮ คอร์ปอเรต จำกัด ในลักษณะเดียวกัน ซึ่งการร่วมมือกับธนาคารต่างชาติถือเป็นแนวทางในการดึงนักลงทุนที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นและนักลงทุนจีน โดยมีธนาคารเป็นผู้เชื่อมโยงนักลงทุนกับ สกพอ.
สำหรับธนาคาร SMBC เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีเครือข่ายนักลงทุนมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น และมีการขยายสาขาเพื่อดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2495 โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสองหน่วยงานครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นในโอกาสพิเศษที่ธนาคาร SMBC ครบรอบ 70 ปี การให้บริการในประเทศไทย
นอกจากนี้ ภายใต้ความร่วมมือกับธนาคาร SMBC ในครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนการลงทุนให้เข้าสู่ยุคใหม่ ผลักดันให้เกิดการร่วมมือทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนไทยและภาคเอกชนญี่ปุ่นทั้งในด้านเทคโนโลยีและภาคการผลิต ผ่านกลไกการส่งเสริมการลงทุน โดยมีธนาคาร SMBC เป็นผู้ให้คำแนะนำการลงทุน โดย สกพอ. ตั้งเป้าให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจและการลงทุนราว 30-40 บริษัท