'เอกชน' แนะอีอีซีสร้างแซนด์บ็อกซ์วิจัย หนุนลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทค - ครีเอทีฟ

'เอกชน' แนะอีอีซีสร้างแซนด์บ็อกซ์วิจัย หนุนลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทค - ครีเอทีฟ

เอกชนแนะอีอีซีทำพื้นที่แซนด์บ็อกซ์หนุนอุตสาหกรรมไฮเทค ครีเอทีฟ ดึงลงทุนมูลค่าสูงในพื้นที่อีอีซี หวังสร้างต้นแบบการลงทุน ผุดโมเดลสร้างความร่วมมือลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ชี้อีอีซีต้องเดินหน้าต่อ ยกนโยบายต่อเนื่องเหมือนนโยบายจีนดึงการลงทุนเอกชนเพิ่มเติมในอนาคต

นายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวในงานสัมมนา EEC : New Chapter New Economy จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” วันนี้ ( 17 ส.ค.) ว่าพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ที่ภาคเอกชนอยากเห็นเป็นตัวอย่างในการพัฒนาประเทศต่อไปอีก 30 ปีข้างหน้า

ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องมีนโยบายที่สนับสนุนให้อีอีซีมีความโดดเด่นในการผลิต เหมือนที่ประเทศจีนสามารถทำได้คือ การเป็นแหล่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสำคัญที่เน้นในเรื่องการวิจัย และพัฒนาเพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมทั้งเน้นไปที่การพัฒนาคนให้สอดคล้องกับทักษะที่เอกชน และตลาดต้องการด้วย

โดยรูปแบบความสำเร็จในการพัฒนาของอีอีซีในระยะที่ผ่านมา ไม่เพียงสามารถขยายโมเดลไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถที่จะขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อาจทำเป็น ECC คือ ขยายเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกับประเทศกัมพูชา เพื่อเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่พัฒนาร่วมกัน เป็นต้น

ทั้งนี้ในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาปัจจุบันในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนได้มีการประกาศแผนการใส่งบประมาณในการลงทุน และวิจัยในระดับ 7% ของจีดีพี ขณะที่ไทยอยู่ที่ 1% กว่าๆ เท่านั้น

จึงเสนอว่าควรจะต้องมีการตั้งเป้าหมายให้การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในอีอีซีเป็นพื้นที่ที่เป็นการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทค เหมือนกับจีนที่สนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นครีเอทีฟ พาร์ค ขึ้นมาอีกระดับและมีการลงทุนในเรื่องของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์

รวมทั้งการใช้แนวคิด “อุปทาน” ต้องรอ “อุปสงค์” และเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานของเมืองไว้ให้พร้อม รวมทั้งการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน ที่รวดเร็ว และเป็นระบบครบวงจร ซึ่งสร้างระบบนิเวศน์ ที่เพิ่มกระบวนการผลิต ที่สร้างตลาดขนาดใหญ่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และดึงเอาเทคโนโลยีเข้ามายังท้องถิ่นด้วย

“ในมุมมองของเอกชนภาพของอีอีซีอาจยังไม่ชัดเจน เนื่องจากสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน จำเป็นที่อีอีซีต้องเดินต่อเนื่อง แม้จะถือว่าเพิ่งเดินในก้าวแรกก็ตาม เหมือนกับจีนที่สามารถเติบโตทางเศรษฐกิจได้ก็คือ ความต่อเนื่องในเชิงนโยบายที่ทำต่อเนื่อง จีนมีการดูงานในต่างประเทศ แล้วนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการส่งคนไปศึกษาต่างประเทศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” นายไพจิตร กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์