“พลังงาน” ของบกลางฯ 7 พันล้าน อุ้มผู้ใช้ไฟรายย่อย-กลุ่มเปราะบาง

“พลังงาน” ของบกลางฯ 7 พันล้าน อุ้มผู้ใช้ไฟรายย่อย-กลุ่มเปราะบาง

“พลังงาน” ของบ 7 พันล้าน อุ้มค่าไฟกลุ่มเปราะบางงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. หลังขึ้นค่าเอฟทีดันค่าไฟทำสถิติสูงสุด 4.72 บาท เผย กฟผ.แบกภาระเอฟทีแสนล้าน เตรียมขอกู้ 8.5 หมื่นล้าน เสริมสภาพคล่อง ระบุราคาก๊าซสูงดันค่าเอฟที เตรียมหาเชื้อเพลิงทดแทนแหล่งก๊าซอ่าวไทย-เมียนมา

รัฐบาลได้มีความกังวลต่อผลกระทบจากวิกฤติพลังงาน ซึ่งทำให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้น โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงพลังงานหามาตรการดูแลกลุ่มเปราะบาง หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 ส่งผลให้ค่า Ft ขึ้นมาเป็นหน่วยละ 93.43 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้นหน่วยละ 68.66 สตางค์ และเมื่อรวมกับค่าไฟฐาน 3.76 บาท ทำให้ค่าไฟฟ้าทำสถิติสูงที่สุดหน่วยละ 4.72 บาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เร่งให้สำนักงาน กกพ.นำเสนอมาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลังการปรับขึ้นค่า Ft

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติงบกลาง 1,725.95 ล้านบาท เพื่อลดอัตราค่า Ft ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 4 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.-ส.ค.2565 ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มดังกล่าวกว่า 20 ล้านครัวเรือน ที่จ่ายค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าจากการลดค่า Ft หน่วยละ 0.2338 บาท ซึ่งจะครบกำหนดมาตรการช่วยเหลือสิ้นเดือน ส.ค.2565

กระทรวงพลังงานได้เร่งหามาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และหากรัฐบาลช่วยเหลือค่าไฟฟ้ารอบใหม่เดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 รวมกับรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 ก็จะต้องหางบประมาณที่สูงขึ้น อีกทั้ง การช่วยเหลือรอบใหม่จะบวกเพิ่มกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าระดับ 300-500 หน่วยต่อเดือนด้วย”แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงาน กกพ.ได้นำเสนอมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 22 ส.ค.565 ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 ส.ค.2565 อนุมัติเห็นชอบต่อไป หรือไม่ก็นำเสนอ ครม.เห็นชอบทีเดียวก็อาจเป็นไปได้ 

“การจะออกมาตรการช่วยเหลือควรที่จะเร่งสรุปโดยเร็ว ซึ่งก็เข้าใจว่าท่านรองนายกฯ น่าจะนำเข้า ครม.วันที่ 23 ส.ค.นี้ เพราะจะต้องเผื่อเวลาเพื่อที่จะให้ทั้ง 3 การไฟฟ้า ได้มีการเตรียมตัว โดยเฉพาะในเรื่องของการออกบิลชำระเงินต่างๆ” แหล่งข่าว กล่าว

นอกจากนี้ เบื้องต้นสำนักงาน กกพ.ที่ได้ส่งมามีการจัดทำมาตรการแบ่งกลุ่มออกมา 2 กลุ่มหลัก คือ 

1.กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน มีประมาณ 20 ล้านครัวเรือน 

2.กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าระดับ 300-500 หน่วยต่อเดือน 

ทั้งนี้ กกพ.ได้วางกรอบงบประมาณไว้กว่า 7,000 ล้านบาท โดยการช่วยเหลือรวมทั้ง 2 รอบเอฟที (พ.ค.-ธ.ค.2565) เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับรอบเดือนม.ค.-เม.ย. 2565 ส่วนการใช้งบประมาณเท่าที่ กกพ.เสนอหรือไม่นั้น รองนายกรัฐมนตรี จะเร่งตัดสินใจว่าความพอดีอยู่ตรงไหน จะช่วยทั้ง 2 รอบหรือแค่รอบเดือน พ.ค.-ธ.ค.2565 หรือไม่ อย่างไร

“การช่วยเหลือประชาชน เช่น ขยายเวลาช่วยกลุ่มที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ให้ใช้ไฟฟ้าในอัตราเดิมของรอบเดือน พ.ค.-ส.ค. ยาวมาจนถึงเดือน ธ.ค.2565 ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าระดับ 300-500 หน่วยต่อเดือน อาจจะช่วยเป็นแบบขั้นบันได เช่น กลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าระดับ 300 หน่วยต้น ๆ ก็อาจจะช่วยเยอะหน่อย ผู้ใช้ไฟฟ้าจะจ่ายเพิ่มเติมไม่มาก ส่วนกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าระดับ 400-500 หน่วยต่อเดือน รัฐบาลก็จะช่วยไม่มาก ผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะจ่ายค่าไฟฟ้ามากกว่า เป็นต้น แล้วแต่งบประมาณที่รัฐบาลจะอนุมัติ ทุกอย่างเป็นไปได้หมด” แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่า แนวทางที่สำนักงาน กกพ.ได้นำเสนอมา อาทิ ช่วยผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า Ft หน่วยละ 24.77 สตางค์ ของรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 หรือจะช่วยเฉพาะค่าเอฟทีรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องมารอดูการประชุม กบง.ว่าจะเลือกตัวเลือกไหน แต่ความเป็นไปได้มากสุด น่าจะอยู่ที่ การช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า 300 หน่วยต่อเดือน ให้จ่ายเท่ารอบเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 

กฟผ.แบกภาระแสนล้าน

นอกจากนี้ รัฐบาลรับทราบดีว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องแบกรับภาระค่า Ft มาเป็นเวลานาน โดยกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการในเรื่องของการขอกู้เงินเพื่อมาเสริมสภาพคล่องจากการที่ กฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจได้ดำเนินตามนโยบายรัฐบาลในการช่วยรับภาระค่า Ft เพื่อลดผลประทบค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนตั้งแต่งวด ก.ย.-ธ.ค.2564 จนถึงงวดปัจจุบัน (เดือนส.ค.2565) รวมเป็นเงินประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับกรัทรวงพลังงานภายหลังกกพ. มีมติอนุมัติให้ปรับขึ้นค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 ว่าหากจะปรับขึ้นจะต้องมีมาตรการรองรับและช่วยเหลือโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

ขอกู้เสริมสภาพคล่อง

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ส่งแผนการขอกู้เงินตามกรอบวงเงินประมาณ 85,000 ล้านบาท ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อบรรจุเป็นวาระเข้าพิจารณาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยก่อนหน้านี้ กฟผ.ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงานเพื่อรายงานถึงปัญหาการขาดสภาพคล่องหลังจากช่วยบรรเทาภาระค่าเอฟทีจากการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 จะทำให้กฟผ.แบกรับภาระค่า Ft ราว 1.7 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ.ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊คสำนักงาน กกพ. เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2565 ยืนยันในการปรับขึ้นค่าเอฟทีพร้อมระบุว่า ต้นทุนค่าเอฟทีที่ประมาณการแท้จริงช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 เพิ่มสูงขึ้นเป็นหน่วยละ 236.97 สตางค์ ไม่รวมที่ กฟผ.รับภาระต้นทุนแทนผู้ใช้ไฟฟ้า 83,010 ล้านบาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กกพ.จึงมีมติปรับเพิ่มค่าเอฟทีเพียงหน่วยละ 68.66 สตางค์ รวมเป็นค่า Ft ทั้งสิ้นหน่วยละ 93.43 สตางค์

ราคาก๊าซดันค่า“เอฟที”

นอกจากนี้ การขึ้นค่า Ft ในช่วงปี 2565-2566 มีสาเหตุหลักมาจากสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีกสนใช้เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและเมียนมาที่ปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญรวมทั้งความผันผวนของ Spot LNG ในตลาดโลกสรุปได้ 4 ข้อหลัก ดังนี้

1.ปริมาณก๊าซในประเทศที่ลดลงจากเดิมสามารถจ่ายก๊าซได้ 2,800-3,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMSCFD) ลดลงเหลือราว 2,100-2,500 MMSCFD ทำให้ต้องนำเข้า Spot LNG เข้ามาเสริมหรือเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขาด หากแต่ในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลให้ราคา Spot LNG ที่มีราคาแพงและผันผวนในช่วง 25-50 ดอลลาร์/MMBTU เทียบกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคา 6-7 USD/MMBTU ดังนั้นการทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย LNG หรือใช้น้ำมันจะส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

2.การผลิตก๊าซจากพม่ามีแนวโน้มที่จะไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตเดิมและมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565 และต้นปี 2566 ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการนำเข้า LNG มากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม

3.สถานการณ์ผู้ผลิต LNG ชะลอการลงทุนอันเนื่องมาจากมีความต้องการใช้พลังงานน้อยในช่วงโควิด-19 ในปลายปี 2564 หลังจากหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากโควิดทำให้ความต้องการใช้ LNG มีมากกว่ากำลังการผลิตในตลาดโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาและการเจรจาสัญญาซื้อขาย LNG เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2564 และต่อเนื่องตลอดปี 2565 และปี 2566

4.สภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้รัสเซียลดหรือตัดการจ่ายก๊าซธรรมชาติทางท่อไปยังยุโรป ทำให้ความต้องการ LNG เพิ่มขึ้นอย่างมากในยุโรปและส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคา LNG ในตลาดเอเชีย

เตรียมแหล่งเชื้อเพลิงสำรอง

นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ.ชี้แจงเพิ่มเติมว่าความไม่แน่นอนของแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศและในเมียนมา รวมทั้งสภาวะตลาดที่ไม่เอื้อต่อการเจรจาสัญญา LNG ทำให้ กกพ.ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อใช้เชื้อเพลิงสำรอง เช่น น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล หรือเชื้อเพลิงประเภทอื่น เช่น ถ่านหิน พลังน้ำ และพลังงานทดแทน เพื่อรองรับสถานการณ์ขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ต่อเนื่องจากปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงตลอดปี 2566 

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางการบริหารเชื้อเพลิงในสภาวะวิกฤติที่ได้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไปแล้ว จึงขอให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดเพื่อให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ลดการนำเข้า Spot LNG และเพิ่มความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้า