ต่างชาติเร่งเครื่องลงทุน แรงหนุน“เปิดประเทศ-ย้ายฐาน”

ต่างชาติเร่งเครื่องลงทุน แรงหนุน“เปิดประเทศ-ย้ายฐาน”

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้จัดสัมมนา EEC : New Chapter New Economy เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2565 ซึ่งมีการนำเสนอทิศทางการลงทุนในอีอีซีจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติ

ครึ่งแรกปี 2565 คลื่นวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่ทั่วโลกยังต้องเผชิญวิกฤติและความไม่แน่นอนแบบใหม่จากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ตามด้วยการรับมือภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งมีแนวโน้มผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย 

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังเชื่อมั่นครึ่งหลังของปีจะมีดีมานต์การลงทุนย้ายฐานผลิต ตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างซัพพลายเชน โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมโยงภูมิภาค

โสภณ ราชรักษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในฐานะหนึ่งในผู้พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม ที่พักอาศัย และเพื่อการพาณิชย์ 

วิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนในอนาคตโดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่

- ช่วงที่ 1 การย้ายฐานการผลิต (Relocation) จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีดีมานด์ที่นักลงทุนต่างชาติต้องการย้ายการลงทุนออกจากจีน เพื่อสร้างฐานการผลิตใหม่เข้าในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้า และความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์

ซึ่งเป็นโอกาสในระยะสั้นที่กลุ่มประเทศอาเซียน ต้องแข่งกันช่วงชิง เตรียมพร้อมการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมรับการลงทุนในปีนี้ และปีถัดไป ให้ตอบโจทย์สำหรับการย้ายสถานประกอบการที่ต้องการความรวดเร็ว เพื่อย่นระยะเวลาเข้าสู่ตลาด รวมถึงพิจารณาการลงทุนที่มีความยืดหยุ่นและสามารถเติบโตได้ในอนาคต

- ช่วงที่ 2 เป็นการขยายการลงทุน (Expansion) ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า เมื่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่อีอีซีแล้วเสร็จ จะเกิดการขยายการลงทุนหลายธุรกิจรวมถึง New S-Curve เพื่อเน้นสร้างความแข็งแกร่งของซัพพลายเชน โดยผู้ลงทุนจะพิจารณาจากหลายปัจจัยเพื่อตัดสินใจลงทุนระยะยาว ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพ ความเป็นอยู่ในพื้นที่กฎระเบียบที่เอื้อการลงทุน

“สิ่งสำคัญที่สุดที่จะดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา คือ การสร้างความเชื่อมั่นว่าอีอีซีจะเติบโตอย่างเสถียรภาพ มีความมั่นคง รวมทั้งมีนโยบายในการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับการลงทุนปี 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตั้งเป้าหมายคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนไม่น้อยกว่า 6 แสนล้านบาท โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ครึ่งแรกของปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม 395 โครงการ มูลค่าการลงทุน 139,083 ลดลง 53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ส่วนใหญ่ขอรับส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมหมวดบริการและสาธารณูปโภค รองลงมาเป็นหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง แบ่งเป็นโครงการขยาย 80% และโครงการใหม่ 20% โดยญี่ปุ่นมีจำนวนโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมมากสุดคิดเป็น 25% มูลค่าการลงทุน 16,932 ล้านบาท ขณะที่ไต้หวันมีมูลค่าการลงทุนสูงสุดรวม 38,583 ล้านบาท จากการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า

 

ณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 

ดับบลิวเอชเอประเมิน 4 ปัจจัยหลัก ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2565 ประกอบด้วย

1.การเปิดประเทศ และการคลี่คลายมาตรการป้องกันโควิด กระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยวให้เริ่มกลับมาฟื้นตัว จากข้อมูลสถิติการท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2564 เทียบกับฐานปี2563 ติดลบ 71% เริ่มขยับขึ้นในไตรมาส 1 ปี 2565 ติดลบน้อยลง อยู่ที่ 61% โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐที่การเดินทางฟื้นเร็ว รวมถึงไทยที่การท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

2.ความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ความขัดแย้งสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจสหรัฐและจีน สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี การซ้อมรบจีน-ไต้หวัน และความขัดแย้งอื่นที่รอวันปะทุจะเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจโลก

ขณะเดียวกันเป็นโอกาสท่ามกลางความขัดแย้งของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่กลุ่มผู้นำ G7 ประกอบด้วย แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, อังกฤษและสหรัฐได้มีการออกมาตรการความร่วมมือ Build Back Better World (B3W) กระตุ้นการลงทุนในภูมิภาคเพื่อต้านขยายอิทธิพลของจีนที่ดำเนินโครงการ Belt and Road

ต่างชาติเร่งเครื่องลงทุน แรงหนุน“เปิดประเทศ-ย้ายฐาน” 3.Post-Disruption หลังการเกิดเทคโนโลยีดิสรัปชัน ภาคการผลิตและบริการมีความพร้อมในการปรับตัวรับการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี 

4.เศรษฐกิจโลก ที่กำลังเผชิญภาวะเงินเฟ้อ และอยู่ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

ทั้งนี้ ดับบลิวเอชเอมองว่าปัจจัยข้างต้นจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้โครงสร้างหลักคิดและโมเดลของซัพพลายเชนในอนาคตเปลี่ยนไป ตั้งแต่แนวคิดโลกาภิวัตน์ที่ถูกท้าทายสู่การสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค และการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน รวมทั้งเลือกที่ตั้งให้ใกล้ตลาดขึ้น การใช้เทคโนโลยีและระะบบอัตโนมัติร่วมกับการจัดการซัพพลายเชน รวมถึงจะรวมเทคโนโลยีกับระบบการบริการและการผลิต

ท้ายที่สุดแล้วท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชน ซึ่งไทยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพน่าลงทุนในการเชื่อมภูมิภาคด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังเข้าสู่ระยะก่อสร้าง ตั้งแต่ท่าเรือ สนามบิน และระบบราง นอกจากนี้แผนเชื่อมโยงระหว่างอีอีซีและเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน