ถอดรหัสเฟดกับหน้าที่ธนาคารกลาง | บัณฑิต นิจถาวร
ศุกร์ที่แล้วตลาดการเงินโลกใจจดใจจ่ออยู่กับสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ในงานสัมมนา Jackson Hole Symposium ประจําปีว่าจะพูดถึงทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐอย่างไร ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง
เพราะเฟดส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะผ่อนคลาย แต่ที่สำคัญกว่าคือ การยํ้าและสร้างเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของเฟดในฐานะธนาคารกลางของประเทศที่ต้อง รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
คือดูแลอัตราเงินเฟ้อให้ตํ่าและมีเสถียรภาพ เป็นหน้าที่ที่เฟดต้องทําโดยไม่มีเงื่อนไข เรื่องนี้เป็นเรื่องสําคัญที่นักลงทุนต้องเข้าใจ เพื่อเข้าใจว่าทําไมเฟดต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากและต่อเนื่อง นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
Jackson Hole Symposium เป็นงานสัมมนานโยบายเศรษฐกิจประจำปีที่ธนาคารกลางสหรัฐแห่งแคนซัสซิตี้เป็นเจ้าภาพ จัดมาตั้งแต่ปี 1982 เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้ทำนโยบายการเงินคือธนาคารกลาง ผู้บริหารกระทรวงการคลัง นักวิชาการ และนักการเงินจากทั่วโลก
เป็นโอกาสที่จะได้ฟังความเห็นและแนวคิดใหม่ๆเกี่ยวกับเศรษฐกิจและนโยบายการเงินโดยเฉพาะจากผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศสําคัญ ทำให้ตลาดการเงินให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในงานสัมมนานี้
โดยเฉพาะสุนทรพจน์ของประธานเฟด ซึ่งปีนี้ก็ไม่ผิดหวัง เพราะนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด พูดสั้น แต่ชัดเจนและตรงไปตรงมา เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อและหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐว่า
เป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐคือ ดูแลอัตราเงินเฟ้อให้ตํ่ากว่าระดับสองเปอร์เซนต์ เพราะเสถียรภาพราคาสำคัญมากต่อเศรษฐกิจ
เพราะถ้าประเทศไม่มีเสถียรภาพราคา คือไม่มีอัตราเงินเฟ้อที่ตํ่า ประเทศก็จะไม่มีเศรษฐกิจ หมายถึงเศรษฐกิจของประเทศก็จะเติบโตไม่ได้ เฟดจึงให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพราคา และจะทําหน้าที่นี้อย่างไม่มีเงื่อนไข
ยํ้าว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อแม้จะมีผลต่อเศรษฐกิจ มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐกําลังชะลอแต่พื้นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐมีโมเมนตัมที่เข้มแข็ง
และเตือนว่าการลดเงินเฟ้อจะใช้เวลา ทำให้ความเจ็บปวดทั้งต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานจะมีต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ถ้าไม่ทํา คือไม่ขึ้นดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อในประเทศก็จะสูงต่อเนื่อง และความเจ็บปวดต่อเศรษฐกิจจะมีมากกว่า
ที่สำคัญย้ำว่าเฟดจะทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพราคาอย่างไม่มีเงื่อนไข แม้สาเหตุเงินเฟ้อจะมาจากด้านอุปทานที่ทำให้อุปสงค์และอุปทานในประเทศขาดความสมดุล การลดอัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าเป็นงานตามหน้าที่ที่เฟดต้องทําโดยเฟดมีอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือ และจะทําหน้าที่ต่อไปจนกว่างานจะจบ คือบรรลุผล
ชัดเจนจากคำแถลงว่า ธนาคารกลางสหรัฐ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะลดลง จะมากหรือน้อยในแต่ละครั้งและจะปรับขึ้นอีกนานเท่าไรคงขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและตัวเลขเงินเฟ้อที่จะออกมา เป็นการส่งสัญญานที่ตรงไปตรงมา และตลาดหุ้นสหรัฐปรับลดลงทันทีหลังประธานเฟดกล่าวจบ
เพราะนักลงทุนห่วงผลระยะสั้นที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะมีต่อเศรษฐกิจและราคาสินทรัพย์ ซึ่งตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐได้ปรับขึ้นไปแล้ว 2.25 เปอร์เซนต์และคงจะปรับขึ้นอีก ทําให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะอยู่ในระดับสูงอย่างน้อยจนถึงปลายปีหน้า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและราคาสินทรัพย์ทั่วโลก
อีกประเด็นที่ประธานเฟดพูดและน่าสนใจคือ บทเรียนทางนโยบายที่ได้จากการแก้ปัญหาเงินเฟ้อในอดีตที่เฟดใช้เป็นไกด์หรือเป็นข้อมูลประกอบการทํานโยบาย ซึ่งบทเรียนเหล่านี้เป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ทำนโยบายปัจจุบันในทุกธนาคารกลางที่ควรรับรู้ในแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
1.ในอดีตการขึ้นดอกเบี้ยในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากเพราะห่วงผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันการถกเถียงไม่มีแล้ว มีข้อยุติแล้วจากประสบการณ์ในอดีตว่า นโยบายการเงินต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการรักษาเสถียรภาพราคา คือ ดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำ และอัตราดอกเบี้ยจําเป็นต้องปรับสูงขึ้นเพื่อแก้เงินเฟ้อแม้จะมีผลต่อเศรษฐกิจ เพราะถ้าเงินเฟ้อแก้ไม่ได้ ก็จะไม่มีเศรษฐกิจอย่างที่กล่าว
2.ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ การลดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปจะไม่สามารถแก้เงินเฟ้อได้ เงินเฟ้อจะกลับมาใหม่ ดังนั้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้องทำต่อเนื่องจนกว่างานจะเสร็จ คืออัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างชัดเจน
3.ต้องให้ความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อที่ประชาชนคาดหวังหรือคาดการณ์ เพราะถ้าประชาชนคาดว่าเงินเฟ้อจะสูง พฤติกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและผู้ประกอบการก็จะไปทางนั้น คือทุกคนจะปรับราคาขึ้นรวมถึงผู้ใช้แรงงานที่จะเรียกร้องอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น เกิดวงจรเงินเฟ้อขับเคลื่อนเงินเฟ้อ ทําให้เงินเฟ้อจะยิ่งสูงและแก้ยาก
การแก้จึงต้องเน้นการตัดวงจรนี้ โดยการแก้ปัญหาที่เร็วและทําอย่างเข้มแข็งเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะไม่สูงขึ้นและจะไม่เป็นปัญหา
ทั้งสามบทเรียนนี้สำคัญต่อการแก้เงินเฟ้อ และสําหรับบ้านเราก็เช่นกัน เพราะชี้ว่าการแก้เงินเฟ้อที่ช้าและไม่หนักแน่น หรือชะลอการขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยลงเร็วเกินไป จะทําให้การแก้เงินเฟ้อไม่สัมฤทธิ์ผล เงินเฟ้อจะสูงต่อเนื่องและความเจ็บปวดต่อเศรษฐกิจจะยิ่งมีมาก
เป็นเรื่องที่ผู้ทํานโยบายที่ตัดสินใจเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยจะต้องรับรู้และเข้าใจเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด.
เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล