ปตท.รุกธุรกิจ ‘แพลนต์เบส’ เพิ่มรายได้

ปตท.รุกธุรกิจ ‘แพลนต์เบส’ เพิ่มรายได้

ปตท.ผนึกพันธมิตรลุยธุรกิจอาหารโปรตีนจากพืช (Plant Based) ระบุปี 66 โรงงานผลิตสินค้าโปรตีนจากพืชเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ หวังป้อนผู้บริโภคยุคใหม่รักสุขภาพและดูแลสิ่งแวดล้อม

ปตท.ผนึกพันธมิตรลุยธุรกิจอาหารโปรตีนจากพืช (Plant Based) ระบุปี 66 โรงงานผลิตสินค้าโปรตีนจากพืชเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ หวังป้อนผู้บริโภคยุคใหม่รักสุขภาพและดูแลสิ่งแวดล้อม ขณะที่ดึงสตาร์ทอัพ “Wicked Kitchen” ลุยตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจาก Plant Based ในไทยตุลาคมนี้ ตั้งเป้าไทยเป็นผู้นำส่งออกรายใหญ่ในภูมิภาค

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจโปรตีนจากพืช (Plant based Protein) ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมาใส่ใจสุขภาพและช่วยลดโลกร้อนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีแหล่งวัตถุดิบในการผลิต Plant Based ที่หลากหลาย นับเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่ธุรกิจอาหารเพื่อโภชนาการและโภชนเภสัช ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจเป้าหมายของบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (อินโนบิก)

ทั้งนี้ อินโนบิก (เอเซีย) เป็นบริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง “โนฟ ฟู้ดส์” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF จัดตั้งบริษัทร่วมทุนคือบริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด (NRPT) เพื่อรุกธุรกิจอาหารโปรตีนจากพืช ล่าสุด NRPT ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับ บริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศอังกฤษ ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศไทย (Plant & Bean (Thailand) ) เพื่อตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชในไทยเพื่อตอบสนองความต้องการให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการด้านอาหาร

โดยโรงงานดังกล่าวอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ (อยุธยา) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนกันยายน 2565 และจะแล้วเสร็จช่วงไตรมาส 2/2565 มีกำลังการผลิตระยะแรก 3,000 ตันต่อปี ซึ่งในเบื้องต้นจะส่งออก 30-40% ของกำลังการผลิต และเมื่อตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้นก็มีแผนขยายกำลังผลิต โดย ปตท.ตั้งเป้าให้ไทยเป็นผู้นำการส่งออกอาหารโปรตีนจากพืชรายใหญ่ในภูมิภาคนี้

สำหรับวัตถุดิบหลักที่จะใช้ในการผลิต คือ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เห็ด และขนุน ในการผลิต โดยนำเทคโนโลยีจากบริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศอังกฤษ มาใช้ในเมืองไทย

นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวว่า ในปี 2564 มูลค่าตลาด Plant Based ในไทยอยู่ที่ 9,000ล้านบาท เติบโต 12-15% ใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2564 คิดเป็นมูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท หากไทยมีการทำตลาดอาหารโปรตีนจากพืชมากขึ้น มั่นใจว่าจะมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยจะโตเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

โดยภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ Plant Based สามารถแข่งขันกับราคาเนื้อสัตว์ได้คาดว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าจะเห็นราคาสินค้าอาหาร Plant Based ต่ำกว่าเนื้อสัตว์ด้วย

ทั้งนี้ ได้เปิดตัวร้าน “alt. Eatery” คอมมูนิตีอาหาร Plant-based ใจกลางเมืองแห่งแรกของกรุงเทพฯ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่รักสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทาง NRPT ได้เจรจากับสตาร์ทอัพอังกฤษที่ดำเนินธุรกิจผลิตอาหารจาก Plant based ชื่อดัง คือ “Wicked Kitchen” เพื่อทำตลาดธุรกิจนี้ด้วยกัน โดยหวังว่า Wicked Kitchen จะให้บริษัทเป็นผู้ผลิตให้และต่อยอดการวิจัยและพัฒนาอาหารในอนาคต

นายเกียรติ์กมล ตั้งงานจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน (NRPT) กล่าวว่า สำหรับโครงการการก่อสร้างโรงงาน แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศไทย ที่มีกำลังการผลิตเฟสแรกประมาณ 3,000 ตันต่อปีนั้น คาดว่าจะรองรับความต้องการของตลาดได้ประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นบริษัทมีแผนทยอยเพิ่มกำลังการผลิตเป็นประมาณ 25,000 ตันภายใน 7 ปีข้างหน้า

Mr. Pete Speranza CEO of Wicked Kitchen กล่าวว่า บริษัทเลือกเปิดตัวผลิตภัณฑ์ Plant Based ที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย จากนั้นจะขยายไปยังสิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยสินค้าที่จะเปิดตัวในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 17 รายการ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาหารแช่แข็ง เบื้องต้นจะนำไปขายในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตประมาณ 50 สาขา