"คลัง" ยอมเฉือนภาษีดีเซล สู้วิกฤติน้ำมันปลายปี
“คลัง”เล็งต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลถึงสิ้นปี65 คาดลด5 บาททำสูญรายได้ประมาณ 6,000 – 30,000 ล้านบาท “พลังงาน” ชี้ ลดภาระกองทุนน้ำมันอุ้มผู้ใช้วันละกว่า 400 ล้าน ติดลบแล้ว 119,764 ล้าน หวั่นหน้าหนาวราคาพลังงานพุ่ง หวังสถาบันการเงินอนุมัติเงินกู้ก้อนแรก 30,000 ล้าน
สถานการณ์ราคาน้ำมันยังน่าเป็นห่วงแม้ว่าสัญญาณเศรษฐกิจโลกจะมีทิศทางชะลอตัวถึงถดถอย แต่ปัจจัยกำลังผลิตและภาวะสงครามทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกทรงตัวอยู่ในระดับสูงจนรัฐบาลไทยต้องตัดสินใจเพื่อดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่คนใช้มากที่สุดทั้งภาคประชาชน ภาคการขนส่งและภาคอุตสาหกรรมให้มีราคาที่พอรับได้ ไม่สูงตามราคาตลาดโลก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีกถึงสิ้นปี 2565 ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ปรับลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่ 5 บาทต่อลิตร และจะหมดอายุมาตราการวันที่ 20 ก.ย.2565
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ก็เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง และช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปี โดยในวันที่ 1 ก.ย.2565 จะเริ่มใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่งเฟส 5 และยังเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3% - 3.5% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
“เรากำลังพิจารณาว่าในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า เราจะมีมาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยในเรื่องของราคาน้ำมันได้อย่างใด แต่ในการออกมาตรการยังต้องพิจารณาในด้านอื่นด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของรายได้ของรัฐบาล ที่ปัจจุบันจัดเก็บได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ได้นำมาชดเชยราคาพลังงาน ด้วยการปรับลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาท และ 5 บาท ในช่วงที่ผ่านมา”
สำหรับอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะปรับขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ และเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 6% ดังนั้นมาตรการระยะสั้นในช่วง 2-3 เดือนต่อจากนี้จะช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ และรัฐบาลจะเข้าไปดูแลเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น ในส่วนของผลกระทบจากราคาน้ำมันเบนซิน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ลดภาษีให้ ก็จะไปดูในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มรถรับจ้าง และกลุ่มมอเตอร์ไซต์รับจ้าง รวมทั้ง กลุ่มแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซ NGV ด้วย
คาดสูญรายได้6พัน-3หมื่นล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายอายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ระหว่าง 1 – 3 บาท ต่อลิตร เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกขณะนี้ได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดูไบต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 96.88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากรัฐบาลปรับลดภาษีลง 1 บาท จะทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ1,900 – 2,000 ล้านบาทต่อเดือน และหากปรับลดลง 3 บาทต่อลิตร จะสูญเสียรายได้ประมาณ 5,000 – 6,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่หากคงอัตราปรับลดไว้ที่ 5 บาทต่อลิตรเช่นเดิม จะทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ 9,000 – 10,000 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ หากรัฐบาลขยายอายุมาตรการถึงสิ้นปี 2565 จะสูญเสียรายได้ประมาณ 6,000 – 30,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เป็นเรื่องดีต่อสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ หากกระทรวงการคลังไม่ต่ออายุมาตรการการลดภาษีน้ำมันดีเซล จะส่งผลให้กองทุนน้ำมันจากปัจจุบันที่อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ราววันละ 5.38 บาทต่อลิตร เป็นวันละกว่า 10 บาทต่อลิตร หรือจากวันละประมาณ 400 ล้านบาท เป็น 800 กว่าล้านบาททันที และยิ่งแย่ไปกว่านั้น สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงผันผวน และยิ่งเข้าสู่ฤดูหนาวต่างประเทศจะยิ่งส่งผลให้ทั้งราคาก๊าซธรรมชาติ และราคาน้ำมันจะยิ่งมีราคาสูงขึ้นไปอีก
“เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าช่วงหน้าหนาวราคาพลังงานจะยิ่งสูงขึ้น และยิ่งขณะนี้ปัญหาสงครามทางการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครนรวมถึงการแบ่งขั้วมหาอำนาจยังเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจถดถอยขึ้นไปอีก ซึ่งจะเห็นได้ว่าตอนนี้ราคาน้ำมันดีเซลเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดือนก่อน และตามคาดการณ์ก็อาจจะมีราคาสูงขึ้นไปอีก”
นอกจากนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันที่ 28 ส.ค. 2565 ติดลบอยู่ที่ 119,764 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 78,301 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 41,463 ล้านบาท ส่วนกระแสเงินสดที่ฝากในธนาคารเหลืออยู่ที่ 2,047 ล้านบาท ซึ่งยังมีหนี้ที่ต้องจ่ายให้กับคู่ค้ามาตรา 7 อีก เป็นต้น
ขอปตท.เคาะ3พันล้านอุดกองทุนฯ
ล่าสุด กองทุนน้ำมัน อยู่ระหว่างทำเรื่องขอรับเงินสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่ได้มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกรณีพิเศษเพื่อช่วยเหลือประชาชนเป็นการเร่งด่วนจากสถานการณ์วิกฤติ เป็นจำนวนเงินเดือนละ 1,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 เดือน รวมทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท สนับสนุนภาครัฐในการแบ่งเบาภาระค่าพลังงานของประชาชน รวมทั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ โดยกระทรวงพลังงานอาจจะทำเรื่องขอเงินก้อนเดียวในเดือนก.ย. 2565 ที่ 3,000 ล้านบาท
แหล่งข่าว กล่าวว่า สำหรับแผนการกู้เงินก้อนแรก 30,000 ล้านบาท ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการขอกู้เงินกับสถาบันทางการเงิน ซึ่งต้องเข้าใจว่าทางธนาคารจะต้องมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ดบริหารซึ่งจะต้องมีขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา นอกจากนี้ แม้ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ...และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมูลค่า 150,000 ล้านบาท ไปแล้ว แต่การออกเป็น พ.ร.ก. ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้น สถาบันการเงินจึงอาจจะรอให้ทุกอย่างเรียบร้อนก่อน
สำหรับสถานการณ์ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน จากตลาดยังคง กังวลกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก จากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของทั้งสหรัฐ ยุโรปและจีน ซึ่งเป็นสัญญาณ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและอาจส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันลดลง นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า ขึ้นจากการคาดการณ์ว่าธนาคากลางสหรัฐ (FED) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ยังเป็นอีกปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมัน เนื่องจากสัญญาน้ำมันดิบจะมีราคาแพงขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น
จับตาประชุมโอเปค5ก.ย.
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสัญญาณจากกลุ่มโอเปกพลัสที่อาจพิจารณาเพิ่มทางเลือก “ลด” การผลิตน้ำมันดิบเพื่อกระตุ้นราคาน้ำมันในการประชุมครั้งวันที่ 5 ก.ย. 2565 ภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกวันที่ 15 - 21 ส.ค. 2565 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 92.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 89.06 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดจากสัปดาห์ ที่แล้ว 3.01 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 2.86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ทั้งนี้ จากสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในจีน เนื่องมาจากผลกระทบของนโยบายปลอดโควิคในปักกิ่ง รวมถึงวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางของจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านมีความคืบหน้ามากขึ้นหลังสหรัฐแจ้งว่าพร้อมที่จะบรรลุข้อตกลงกับอิหร่านตามข้อเสนอของอียู ซึ่งจะทำให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันได้อีกทั้งการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมเดือนก.ย. 2565 นี้ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย และ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลง
สำหรับราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชีย โดยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 136.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 5.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคยังทรงตัว ในขณะที่โรงกลั่นในภูมิภาคกำลังเพิ่มการผลิตและคาดว่าจะได้รับแรงหนุนของอุปสงค์จากภาคตะวันตกเพิ่มขึ้น โดยอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากศรีลังกา แอฟริกาใต้
ในขณะเดียวกันราคายังได้รับแรงหนุนจากสต็อกน้ำมันดีเซลของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณ อุปสงค์น้ำมันดีเซลในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 12 ส.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 200,000 บาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ 3.9 ล้าน บาร์เรล/วัน ขณะที่ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 56,000 บาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ 5.18 ล้านบาร์เรล/วัน
สำหรับค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.01 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 35.6742 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.23 บาท/ลิตร และต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.30 บาท/ ลิตร ส่งผลต่อค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของน้ำมันกลุ่มเบนซิน และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ระดับ 1.58 บาท/ลิตร