'คมนาคม' คุมเข้มขนส่งวัตถุอันตราย หวังเป็นผู้นำอาเซียน
"คมนาคม" คุมเข้มขนส่งวัตถุอันตราย ผู้ขับขี่ 3 หมื่นคนทั่วประเทศ ยึดมาตรฐานสากล หวังเป็นผู้นำด้านบริหารจัดการภาคขนส่งในอาเซียน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดการซ้อมแผนฉุกเฉินอุบัติเหตุรถขนส่งวัตถุอันตรายตามข้อกำหนดความตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศทางถนนของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรปภายใต้สหประชาชาติ หรือข้อกำหนด ADR โดยระบุว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะความตกลงในภูมิภาคและได้ลงสัตยาบันในพิธีสารฉบับที่ 9 สินค้าอันตรายภายใต้กรอบความตกลงการขนส่งสินค้าผ่านแดนของอาเซียนในปี 2559 และได้มีการพัฒนา การควบคุม กำกับดูแล การขนส่งวัตถุอันตรายทางถนนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงแนวทางและข้อกำหนด ADR และมาตรฐานของสหประชาชาติ (UN) มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อลดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่ง
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้นำมาตรฐานของ UN มาประกอบการจัดทำใบอนุญาตขับขี่ และกำกับ ดูแลการขนส่งวัตถุอันตราย และขอความร่วมมือภาคเอกชน นำขั้นตอนการเผชิญเหตุที่กำหนด ไปประเมินสถานการณ์ เพื่อผู้ทดสอบผู้ขับขี่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยี GPS, การนำเทคโนโลยีการระบุตัวตนด้วยคลื่นความถี่ (RFID) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ITS) มาประยุกต์ใช้ด้วย
อย่างไรก็ดี ตนได้สั่งการให้ ขบ. ไปพิจารณาติดสัญญาณไฟบนรถขนส่งวัตถุอันตราย เพื่อให้เห็นในช่วงเวลากลางคืนอย่างชัดเจน พร้อมทั้งให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อใช้ความระมัดระวังในการขับรถ และมีความปลอดภัย นอกจากนี้ ให้ไปจัดทำคู่มือในรูปแบบ e-Book ที่นำรายละเอียดมาจากมาตรฐานของ UN เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนสามารถนำไปฝึกซ้อมกับผู้ขับขี่ได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ จะมีการฝึกซ้อมกับรถประเภทอื่นๆ และไปฝึกซ้อมในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ นครศรีธรรมราช สงขลา ภูเก็ต เป็นต้น
สำหรับการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เพิ่มมูลค่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และเป็นสินค้าที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการบริหารการขนส่ง การบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินที่ดี แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวที่ดีของภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และการเป็นประเทศชั้นนำด้านการบริหารจัดการขนส่งสินค้าอันตรายของอาเซียน
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ประเทศไทยได้พัฒนาเป็นประเทศผู้นำในประเทศสมาชิกอาเซียนในการนำเอาข้อกำหนด ADR มาปฏิบัติในประเทศ และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 โดยได้ออกประกาศกำหนดให้ผู้ขับรถขนส่งวัตถุอันตรายต้องผ่านการอบรมและทดสอบตามหลักสูตรที่ ADR กำหนด ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนพนักงานขับรถขนส่งสินค้าวัตถุอันตรายประมาณ 30,000 คนทั่วประเทศ โดยในจำนวนนี้ได้รับใบรับรองรถขนส่งสินค้าวัตถุอันตรายทั้งหมด