เส้นทางลงทุนกลุ่มบางจาก OKEA นอร์เวย์ เติบโตจากต้นน้ำ
แนวโน้มวิกฤติพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังมีโอกาสลากยาวไปราว 2-3 ปี ดังนั้น การขยายการลงทุนในกลุ่มธุรกิจพลังงานยังมีความจำเป็นเพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจต้นน้ำ
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจ 5 กลุ่มหลักคือ1. กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน 2. กลุ่มธุรกิจการตลาด มีสถานีบริการน้ำมันกว่า 1,200 แห่ง เสริมด้วยธุรกิจ Non – oil ผ่านธุรกิจต่าง ๆ 3. กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ผ่านการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของ บมจ.บีซีพีจี 4. กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ดำเนินการภายใต้ บมจ.บีบีจีไอ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และกำลังขยายสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงและ 5. กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่
ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาธุรกิจต้นน้ำ ที่ผ่านมาในปี 2561 กลุ่มบางจากได้ร่วมลงทุนและเป็นผู้ถือหุ้นหลักในบริษัท OKEA ASA ผู้พัฒนาและผลิตปิโตรเลียมในนอร์เวย์ โดยได้พัฒนาบริษัท OKEA ไปสู่การเป็นผู้ดำเนินการ (operator) ในแหล่งผลิตที่ดำเนินการไปแล้วครึ่งหรือค่อนอายุการใช้งาน ในบริเวณไหล่ทวีปของนอร์เวย์
ปัจจุบัน บริษัท OKEA ได้กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญของบริษัท บางจาก โดยเฉพาะในมุมมองด้านยุทธศาสตร์การเติบโตในระยะยาว และในแง่การพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจปิโตรเลียมที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกรรมการ OKEA กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในสภาวะตลาดมีความผันผวน สิ่งสำคัญจึงต้องบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ เป็นหนึ่งในยุธศาสตร์หลักกลุ่มบางจากฯ
ทั้งนี้ ภายหลังบางจาก แยกออกมาจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ปี 2015 วงจรราคาน้ำมันที่มีทั้งขึ้นและลง จึงคิดว่าธุรกิจต้นน้ำจะเป็นภาระกิจหลัก ซึ่งความมั่นคงทางพลังงานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกลยุทธ์ในระยะยาวของกลุ่มบางจาก โดยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ดังกล่าว OKEA ถือเป็น flagship ในการบรรลุภารกิจนี้และเป็นหนึ่งในเสาหลักของกลุ่มบางจาก มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้นทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมา
ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ระหว่างทางก่อนจะลงทุนได้เรียนรู้เยอะ ดังนั้นการจะลงทุนในแหล่งใหม่จึงมีเงื่อนพิจารณา 3 เรื่องหลัก คือ 1. การที่ OKEA จะเข้าไปลงทุนเซ้งต่อกิจการจะต้องมีแหล่งสำรองน้ำมันใต้ดินเหลือตั้งแต่ 7-10 ปี 2. ต้นทุนปากหลุมราว 5-10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือไม่เกิน 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 3. ต้องมีพันธมิตรเข้าร่วมลงทุนด้วย
ทั้งนี้ ช่วงต้นปี OKEA มีเจรจาเข้าซื้อและควบรวมกิจการราว 7 ดีล โดยบรรลุการเจรจาแล้ว 2 ดีล คาดว่าปี 2566 จะปิดดีลได้อีก 2 ดีล ในพื้นที่แถบยุโรปและยังมองการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย โดยเฉพาะการเข้าซื้อต่อแหล่งเดิมจะทำให้ลดระยะเวลาและทำรายได้ให้บริษัทได้รวดเร็วกว่าการเข้าไปลงทุนในแหล่งใหม่ และหากเทียบราคาก๊าซธรรมชาติแรกที่ลงทุนได้ปรับจาก 40 เป็น 350 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ส่วนราคาน้ำมันดิบก็มีขึ้นลงบ้างแต่ยังอยู่ระดับที่มีกำไร เพราะต้นทุนราคาปากหลุมเป็นต้นทุนคงที่ต่ำมาก หากเทียบกับราคาปัจจุบัน
“ช่วงครึ่งปีแรกของปีที่ผ่านมา OKEA มีหนี้สินติดลบ (มีรายได้มากกว่าหนี้สิน) และมีกระแสเงินสดจำนวนมาก และยิ่งรัฐบาลนอร์เวย์มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยลดภาษีให้กับธุรกิจที่นำรายได้ไปลงทุนขุดเจาะต่อไม่ว่าจะเจอหรือไม่เจอก็นำมาลดหย่อนภาษีได้ 78% แต่หากไม่มีการลงทุนต่อจะถูกเรียกเก็บภาษีมากกว่า 80% ดังนั้นการนำเงินไปลงทุนจึงเหมาะสมอย่างมาก”
สำหรับภาพรวมธุรกิจ OKEA ในช่วงครึ่งปีแรก 2565 มีรายได้จากการขายน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติรวม 10,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 148% จาก 4,133 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมี EBITDA เพิ่มขึ้นเป็น 7,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 288% จาก EBITDA ครึ่งแรกของปี 2564 ทั้งนี้ สัดส่วน EBITDA ของกลุ่มบางจาก เป็น EBITDA ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมผ่านบริษัท OKEA ASA คิดเป็น 30%
“ปัจจัยรายได้ที่ดีมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปทานที่ตึงตัวจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อและความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกสูงขึ้น หลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในหลายประเทศ”
ทั้งนี้ ปัจจุบัน OKEA มีแหล่งปิโตรเลียมในประเทศนอร์เวย์รวมทั้งสิ้น 4 แหล่ง ได้แก่ แหล่ง Draugen ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 44.56% แหล่ง Gjoa (12%) แหล่ง Yme (15%) แหล่ง Ivar Aasen (2.77%) โดยมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมรวม 20,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน แบ่งเป็นน้ำมันดิบ 61% ก๊าซธรรมชาติ 39%
อย่างไรก็ตาม แหล่ง Draugen ถือเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดปริมาณการผลิต 15,000-17,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยไตรมาส 4 ปีนี้จะเพิ่มอีก 2 แหล่ง คือ Brage และ Nova (รวมเป็น 6 แหล่ง) คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตรวม 23,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และไตรมาสที่ 4/2567 จะเปิด Hasselmus แหล่งย่อยที่เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ เชื่อมต่อกับ Draugen (Production จะถือเป็นส่วนหนึ่งของ Draugen) คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตรวม 25,000-27,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันและมีโอกาสที่จะสามารถเติบโตได้ 1-2 เท่าเป็น 40,000-60,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
“ภาพรวมธุรกิจกลุ่มบางจากในช่วง 5 ปี บริษัทยังคงสัดส่วน EBITDA จากธุรกิจต้นน้ำด้านทรัพยากรธรรมชาติ 30-40% ธุรกิจโรงกลั่น 20-30% ธุรกิจไฟฟ้า 20-30% และธุรกิจใหม่ด้านชีวภาพอีก 10%”