'คมนาคม' ถกขนส่ง APEC โชว์ลงทุนแลนด์บริดจ์ 1.1 ล้านล้านบาท
"ศักดิ์สยาม" เปิดประชุมขนส่ง APEC โชว์ลงทุนแลนด์บริดจ์ กว่า 1.1 ล้านล้านบาท ดันไทยฮับโลจิสติกส์อาเซียน วางไทม์ไลน์ชง ครม.เห็นชอบหลักการภายในปีนี้ ก่อนลุยโรดโชว์ปีหน้า
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค (APEC Transportation Working Group: TPTWG) วันนี้ (14 ก.ย. 2565) โดยระบุว่า การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นภายใต้เป้าหมายหลัก คือ การขนส่งที่ไร้รอยต่อ อัจฉริยะ และยั่งยืน เพื่ออำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน และฟื้นฟูความเชื่อมโยงด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจเอเปคและระดับโลก
โดยการประชุมในครั้งนี้ กระทรวงฯ ได้จัดทำข้อมูลการพัฒนาคมนาคม ขนส่ง และโลจิสติกส์ของประเทศไทย ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2561 - 2580) นำเสนอให้กับประเทศสมาชิก จำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ได้รับทราบแผนการดำเนินการของประเทศ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ จะมีการหารือในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ทั้งเรื่องนโยบายสีเขียว (Green) และการลดคาร์บอน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่โลกกำลังให้ความสนใจ โดยเน้นการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด BCG Economy เพราะหากไม่เริ่มดำเนินการ อาจเป็นปัจจัยหลักในการโดนกีดกันทางการค้า
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปีนั้น กระทรวงฯ ได้นำเสนอว่า ในขณะนี้ได้ดำเนินการระยะที่ 1 คือ การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รวมถึงแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมโยงในเขตเศรษฐกิจเอเปคด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และศักยภาพที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างเขตเศรษฐกิจในการเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ และเป็นประตูเศรษฐกิจของโลก โดยไทยจะใช้ต้นแบบท่าเรือ Tuas ของประเทศสิงคโปร์ ที่ตั้งเป้าหมายในการเป็นท่าเทียบเรือตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 65 ล้าน ที.อี.ยู ในระยะ 20 ปี หรือในปี 2585 โดยในส่วนของไทย ถือว่ามีข้อได้เปรียบในการเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค เชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำ ตามนโยบายสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และราคาสมเหตุสมผล
สำหรับความคืบหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษา และลงรายละเอียดตามต้นแบบของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการภายในปี 2565 ก่อนที่ในปี 2566 จะไป Roadshow ของโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน โดยเฉพาะในประเทศที่มีสายการเดินเรือ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเหล่านี้มาร่วมลงทุนและใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือ
"ปี 2566 น่าจะได้เห็นความชัดเจนของการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ หลังจากเสนอโครงการไปไปยัง ครม.ก็จะได้เห็นรูปแบบการลงทุน และการโรดโชว์จูงใจนักลงทุน ส่วนไทม์ไลน์ของการก่อสร้างจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหน้า แต่ตามแผนธุรกิจนั้น แลนด์บริดจ์จะแล้วเสร็จในปี 2573 แต่ส่วนตัวผมจะเร่งให้เร็วที่สุด เพราะต้นแบบอย่างท่าเรือ Tuas ใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น"
ขณะที่รูปแบบการลงทุน ปัจจุบันได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปพิจารณาศึกษาและความเป็นไปได้ในการดำเนินการ โดยแนวทางเบื้องต้น จะเป็นความร่วมมือกับพันธมิตร (Partner) ในต่างประเทศ ที่มีสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อให้คุ้มค่าการลงทุน และมีอัตราผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ (EIRR) ที่เหมาะสม เพราะนักลงทุนที่มีสายการเดินเรือนั้นจะมีลูกค้าในมืออยู่แล้ว สามารถหาดีมานด์มาใช้ท่าเรือของไทยได้เลย อีกทั้งจะมีการพัฒนาพื้นที่ในท่าเรือนี้ เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้ส่วนอื่นเพิ่มเติมด้วย
ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนจะประยุกต์ใช้แนวทางของท่าเรือ Tuas ที่มีการลงทุนมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 7 หมื่นล้านบาท โดยภาครัฐลงทุน 40% และบริษัทเอกชน ซึ่งอาจเป็นการลงทุนจากบริษัทในประเทศและ/หรือบริษัทต่างประเทศ (Holding Company) ลงทุน 60% โดยต้นแบบของสิงคโปร์ยังสามารถคืนทุนได้ภายใน 7 ปี เนื่องจากมีการใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยดำเนินการ พร้อมทั้งการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ส่วนนี้จะเป็นต้นแบบที่ทำให้แลนด์บริดจ์มีทิศทางดำเนินการเพื่อให้ได้คืนทุนโดยเร็ว
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นรูปแบบการบริหาร 2 ท่าเรือให้เป็นท่าเรือหนึ่งเดียวกัน (One Port Two Sides) โดยจะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกัน ถือเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งและเศรษฐกิจใหม่ทางทะเล เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าของภูมิภาค เชื่อมการขนส่งกับเส้นทางมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ คู่ขนานแนวเส้นทางร่วมกันตามแผนบูรณาการมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจใน APEC อย่างไร้รอยต่อ
รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เผยว่า มูลค่ารวมของโครงการแลนด์บริดจ์ วงเงินราว 1,194,307 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการลงทุนท่าเรือ วงเงิน 938,607 ล้านบาท และโครงการลงทุนเส้นทางเชื่อมโยง MR-MAP ชุมพร - ระนอง ซึ่งประกอบด้วย มอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ รวมวงเงิน 255,544 ล้านบาท