"คลินิกแก้หนี้" ปรับเกณฑ์ใหม่ คุณสมบัติการสมัครเข้าร่วมโครงการ เช็กเลย!

"คลินิกแก้หนี้" ปรับเกณฑ์ใหม่ คุณสมบัติการสมัครเข้าร่วมโครงการ เช็กเลย!

"คลินิกแก้หนี้" ปรับเกณฑ์ใหม่ ครอบคลุมถึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้ก่อน 1 ก.ย. 65 และปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายใหม่ จริงหรือ?

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง "คลินิกแก้หนี้" ปรับเกณฑ์ใหม่ ครอบคลุมถึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้ ก่อน 1 ก.ย. 65 และปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายใหม่ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น "เป็นข้อมูลจริง"

 

 

แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย แต่การฟื้นตัวดังกล่าวยังไม่ทั่วถึง ประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนยังแตกต่างกัน โดยบางกลุ่มยังผ่อนชำระได้น้อยจึงต้องใช้เวลานาน ในขณะที่บางกลุ่มสามารถผ่อนชำระเป็นจำนวนเงินสูงขึ้นได้ เพื่อให้หมดภาระหนี้เร็วขึ้น

 

จากเดิมที่ "โครงการคลินิกแก้หนี้" กำหนดการปรับโครงสร้างหนี้โดยให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเงินต้นเป็นรายเดือน โดยจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี เป็นระยะเวลานานสูงสุด 10 ปี แต่เพื่อเป็นทางเลือกในการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะกับบริบทเศรษฐกิจมากขึ้น คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ (กคน.) จึงได้ปรับปรุงเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้ 2 เรื่อง ได้แก่

 

1. ปรับเกณฑ์คุณสมบัติการสมัครเข้าร่วมโครงการ ให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้เสีย จากเดิม ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นก่อนวันที่ 1 กันยายน 2565 เพื่อรองรับหนี้เสียรายใหม่ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้

 

2. ปรับทางเลือกการปรับโครงสร้างหนี้ จากเดิมที่มีเพียงทางเลือกเดียว เป็น 3 ทางเลือก ดังนี้

  • 2.1 ผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี 
  • 2.2 ผ่อนชำระนานกว่า 4 ปี ไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี 
  • 2.3 ผ่อนชำระนานกว่า 7 ปี ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี 

 

โดยให้มีผลสำหรับหนี้ใหม่ที่เริ่มผ่อนชำระในโครงการตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

 

 

นอกจากนี้ "ลูกหนี้" ควรพิจารณาทางเลือกในการปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของตนเอง โดยลูกหนี้สามารถชำระและปิดจบหนี้ได้เร็วกว่าเงื่อนไขที่ตกลงไว้ โดยไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับใด แต่หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขก็อาจต้องออกจากโครงการไป

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจาก "ธนาคารแห่งประเทศไทย" สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.bot.or.th หรือโทร 02 2835353 และหากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมสามารถติดต่อศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทรศัพท์ 1213