นวัตกรรมไฮโดรเจนหนุนไทย ฮับพลังงานสะอาดลดคาร์บอน
“กฟผ." เฟ้น เทคโนโลยีไฮโดรเจน หนุนพลังงานสะอาดสู่เป้า Net Zero คาดค่าไฟยังคงแพงอีก 2 ปี กดดันหลายประเทศมุ่งนโยบายพึ่งพาแหล่งพลังงานของตนเอง ด้าน “ปตท.-บีไอจี” ดึงไฮโดรเจน ร่วมอีโคซิสเต็มกลุ่ม Mobility หวังเปลี่ยนผ่านอุตฯ ยานยนต์ไทย
อุตสาหกรรมพลังงานและการขนส่งเป็นกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดสภาวะโลกร้อนและนำไปสู่ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยน ดังนั้น กลุ่มธุรกิจพลังงานได้นำนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นได้จริง
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในงานสัมมนา New Energy หัวข้อ การขับเคลื่อนพลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรม จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจและเครือเนชั่น” ว่า หากจะมีการจะใช้พลังงานสะอาดในประเทศเพื่อรับเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ภายใต้กลยุทธ์ Triple S ประกอบด้วย
1. Sources Transformation การจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ซึ่งมีความจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 50% สิ่งที่จะทำคือจัดหาพลังงานหมุนเวียนเข้ามาให้ได้โดยกำหนดสัดส่วนตามแผนผลิตไฟฟ้า กฟผ. จะมีนวัตกรรมที่มาช่วยดำเนินการโดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) และการนำเทคโนโลยีทันสมัยและพลังงานทางเลือกมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต
2. Sink Co-Creation โดยการเพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน อาทิ โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ รวมถึงการทำ Smart Energy เป็นต้น
3.Support Measures Mechanism กลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ เป็นต้น
นอกจากนี้ เทคโนโลยีไฮโดรเจนที่มีการพูดถึงมาก ซึ่งกฟผ.ก็เชื่อว่าจะมาเริ่มศึกษาโดยวางเป้าหมายถ้าประเทศไทยจะทำปริมาณ 1 ล้านตันไฮโดรเจนต่อปี ต้องใช้กำลังผลิต New Energy ถึง 30,000 เมกะวัตต์ ถือว่าเทียบเท่ากับการใช้ไฟในประเทศไทยปัจจุบัน ดังนั้น จึงต้องการอีกเท่าตัวเพื่อให้ได้ 1 ล้านตันของไฮโดรเจน ส่วนนิวเคลียร์ ถือว่ามีขนาดเล็กอาจจะต้องรอการยอมรับ และหากอนาคตราคาเหมาะสมก็มีความเป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอาจจะมีปัญหาในเรื่องของสภาพภูมิอากาศ อาจเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน ไม่สามารถพึ่งพาแหล่งผลิตพลังงานได้ 100% ดังนั้น อาจจะต้องลงทุนติดตั้งเครื่องรับส่งข้อมูลในการพยากรณ์อากาศ พร้อมกับการลงทุนเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อการเรียนรู้ของเครื่องจักร พร้อมระบบ AI เป็นต้น
โดยกฟผ.ได้ดำเนินการแล้ว การลงทุนเทคโนโลยีอาจจะต้องใช้เงินที่มหาศาล และจะนำมาสู่ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ดังนั้น การเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคประสานระบบปฏิบัติการระบบไฟฟ้าร่วมกันระหว่างอาเซียนจะช่วยลดการลงทุนได้
สำหรับการทำ EV Eco System ขณะนี้ กฟผ. ได้ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง เพื่อเพิ่มความสะดวกของผู้ใช้งานโดยจะรวม platform สถานีชาร์จรถอีวี เป็น Super App สามารถวางแผนการชาร์จของทั้ง 3 การไฟฟ้าร่วมกันได้ดังนั้นการสร้าง Innovation และ Ecosystem อีกทั้งจะสร้างความมั่นใจให้ภาคเอกชนสามารถกระโดดเข้ามาและทำต่อได้
“แผนพลังงานต่าง ๆ อาจจะไม่เวิร์ก ประชาชนพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงใหม่หรือไม่ รวมถึงหลักสูตรในมหาวิทยาลัย เป็นต้น ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการพึ่งพาตัวเอง เพราะราคาค่าไฟจะยังคงแพงต่อไปอีก 2 ปี เพราะถ้ายังผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ LPG นำเข้าราคา 8-9 บาท แต่เราจ่ายเกือบ ๆ 5 บาท ทำให้ทุกประเทศรวมถึงไทยต้องเริ่มหันมามองในเรื่องของการพึ่งพาตัวเอง”
ทุ่มพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจน
นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) หรือ BIG กล่าวว่า บริษัทแม่ของ BIG ได้มุ่งไปสู่เทคโนโลยีไฮโดรเจน ตามเป้าหมายการเข้าสู่ Net Zero ภายในปี 2050 และได้ลงทุนไปแล้ว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยทำไปแล้ว 3 โปรเจกต์ สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 20 ล้านตันต่อปี
ดังนั้น เมื่อรู้ว่าไฮโดรเจนได้ผลดีกับทุกภาคส่วน จะต้องมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งนี้ ประเทศไทยหากจะผลักดันองค์กรไปข้างหน้าทั้งกลยุทธ์เป้าหมายสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือทำยังไงให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆสามารถช่วยลดคาร์บอน
“กระบวนการผลิตเราก็ต้องลดการปล่อยคาร์บอนด้วย วันนี้เราช่วยเหลือชุมชน ซึ่งโควิด-19 ที่ผ่านมา เราได้นำเอาออกซิเจนไปช่วยโรงพยาบาลให้คนที่ติดโควิด-19 ได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย”
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเอาพลังงานเย็นจาก LNG มาทดแทนพลังงานไฟฟ้าโดยแยกก๊าซสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 30% อีกทั้ง อุตสาหกรรมในประเทศไทยใช้ไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในการเผาไหม้สูง บริษัทฯ ได้นำเอาแอปพลิเคชั่นเข้ามาใช้ในเรื่องของออกซิเจนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้คือไฮโดรเจน
สำหรับ “ไฮโดรเจน อีโคโนมี” จะมีผลกระทบทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจ แต่ในอดีตการเอามาใช้งานจริงไม่ง่าย เพราะการแยกสถานะก๊าซดังกล่าวทำได้ยาก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถแยกได้แล้ว ดังนั้น จากที่เทคโนโลยี Advance ขึ้น ทำให้สามารถนำไฮโดรเจนที่ได้สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมอื่นๆอีกมากมาย โดยบริษัทฯ มีแผนร่วมกับปตท.นำมาใช้ในอุตสาหกรรม Mobility และจะทำร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อให้เทคโนโลยีนี้เกิดในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง
ลดพึ่งพาแหล่งพลังงานนอกบ้าน
นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า แม้ว่าปริมาณพลังงานในประเทศไทยมีใช้เพียงพอ คิดเป็นมูลค่าที่ 2 ล้านล้านบาทต่อปี จำนวนนี้เป็นการนำเข้า 77% ดังนั้น ในเรื่องของราคาที่ผันผวน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่เป็นพลังงานสะอาด ปตท. นำเข้าสู่ตลาดไทยนานแล้ว แต่ในอดีตก๊าซธรรมชาติราคามีเสถียรภาพมากราคาค่อนข้างถูกและเป็นพลังงานสะอาด แต่เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 40 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ดังนั้นการทำนวัตกรรมใหม่ อาทิ ไฮโดรเจน จึงถือเป็นโอกาสของพลังงานทดแทน
ทั้งนี้ ปตท. ได้กำหนดแผนกลยุทธ์ Go Green และ Go Electric เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรม Electric เพื่อตอบโจทย์ COP26 ให้สามารถเกิดขึ้นได้จริงและที่สำคัญเชื่อว่าก๊าซธรรมชาติยังเป็นพลังงานหลักอยู่แต่บทบาทในเรื่องของน้ำมันถ่านหินจะลดลงและในอนาคตพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มมากขึ้นสอดคล้องกับที่ปตท.เปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ Powering life with future energy and beyond
“วันนี้ปตท.จะทำธุรกิจพลังงานให้เป็น future energy ในราคาที่คนเอื้อมถึงได้และเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโดยใส่นวัตกรรม เข้าไปขณะเดียวกันเราก็จะไม่จบแค่ Energy ปตท. ทำธุรกิจอื่น ๆ เพื่อให้การผลิตของประเทศไทยเป็น New S-Curve เพื่อทำให้ประเทศไทยมีมูลค่าสูงขึ้นและนำ AI และ robotics เข้ามาเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความโปร่งใสและประสิทธิภาพ”
อย่างไรก็ตาม ปตท.จะเพิ่มพอร์ตพลังงานทดแทนจาก 2 กิกะวัตต์ เป็น 12 กิกะวัตต์ ในปี 2030 โดยร่วมกับต่างประเทศที่มีต้นทุนถูก พร้อมกับหานวัตกรรมที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ส่วนการลงทุนที่ซ้ำซ้อนคือ Energy Storage ถือเป็นพลังงานทดแทนที่ต้องมีระบบกักเก็บพลังงานเพื่อให้มีเสถียรภาพซึ่งปตท. ได้ลงทุนแบตเตอรี่ต่อยอดไปสู่รถ EV ครบวงจร และอยู่ระหว่างสร้างโรงงานผลิตรถ EV คาดจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี
“เรากระโดดเข้ามาในอุตสาหกรรมอีวี 2 ปีที่แล้ว เมื่อก่อนยังไม่มีคนทำเยอะ แต่วันนี้เริ่มมีผู้เล่นเยอะกว่าผู้ใช้แล้ว ถือเป็นสิ่งที่โชคดี นอกจากนี้ยังมี EV มีที่ให้เช่ารถวันนี้เริ่มมีบริษัทรถเช่าเริ่มนำรถเข้ามาให้เช่าแล้วเชื่อว่าทุกคนช่วยกันถือเป็นเรื่องดี ปตท. คิดว่าการทำเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เราเป็นมีคู่แข่งแต่เราต้องการสร้าง Ecosystem ของ EV Value chain เพื่อสอดคล้องกับนโยบาย 30@30 ของรัฐบาล”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ปตท.ดำเนินยุทธศาสตร์ที่สามารถแข่งขันได้กับบริษัทพลังงานชั้นนำข้ามชาติและมีเป้าหมายชัดเจนที่จะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ ขณะเดียวกันสังคมก็สามารถอุ้มชูได้ในราคาพลังงานที่เหมาะสม ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลแต่เงินลงทุนอันนั้นควรจะต้องคูณในเรื่องของเศรษฐกิจด้วย เพราะไม่เช่นนั้น จะเปลี่ยนรูปแบบการซื้อเชื้อเพลิงไปเป็นซื้อเทคโนโลยีจากคนอื่นถือเป็นโจทย์และยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรและทุกบริษัทในประเทศไทยตื่นตัวแล้วและพร้อมเคลื่อนเข้าสู่พลังงานสะอาดที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้