จะขับเคลื่อนการลงทุน “อุตสาหกรรมเป้าหมาย” อย่างไร (ตอนที่ 1)
นับตั้งแต่เราได้ยินคำว่า ไทยแลนด์ 4.0 คงได้ยินคำว่า อุตสาหกรรม S curve หรือ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ควบคู่กัน ซึ่งประกอบด้วย อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป้าหมายที่รัฐบาลมุ่งให้เกิดการลงทุนเพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเจริญอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประเภทที่กำหนด ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
แต่หากถามว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายแต่ละตัวมีรายละเอียดอย่างไร เชื่อว่าแต่ละท่านคงตอบไม่เหมือนกัน สำหรับนิยามอย่างเป็นทางการนั้น ต้องเรียนว่านิยามของอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่ได้ถูกกำหนดตายตัว ขึ้นอยู่กฎหมายที่เกี่ยวข้องจะตีความ มีกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ ที่กล่าวถึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 เรียกชี่ออุตสาหกรรมต่างกันอยู่บ้าง และการตีความว่ากิจกรรมใด เข้าข่ายเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายมีความยืดหยุ่นต่างกัน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเหมาะสมแล้วที่มีความยืดหยุ่นเช่นนั้น
แต่บนความยืดหยุ่นนี้จึงจำเป็นต้องพิเคราะห์ให้ลึกว่าวันนี้อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาและการลงทุนเข้าใกล้เป้าหมายมากน้อยเพียงใด หรือทำได้เพียงผิวๆ ยังไม่มีการนำมาซึ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีสำคัญ หรือก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มของสินค้าอุตสาหกรรมนั้นๆ อย่างแท้จริง
ช่วงที่ผ่านมาหลายกิจกรรมที่ลงทุนเป็นกิจกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงอยู่ระดับหนึ่ง แต่มีอีกมากที่เป็นเพียงกิจกรรมข้างเคียงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งอันที่จริงแล้วการลงทุนใดๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ย่อมเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศทั้งสิ้น แต่หากต้องการเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายไปข้างหน้าให้เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันประเทศระยะยาวอย่างแท้จริง คงต้องหันมาดูว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดการลงทุนในเทคโนโลยีเป้าหมายอย่างยั่งยืน มองในแง่ดีอย่างน้อยไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะทำให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย
การเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะแรก จุดมุ่งหมายหลักคงเป็นการที่ไทยต้องไม่ตกขบวนเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป สินค้าบางอย่างที่ไทยเป็นผู้นำในการผลิตเพื่อส่งออก เช่น ยานยนต์ หรือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีความเป็นแปลงด้านเทคโนโลยีมาก จนทำให้ไทยสูญเสียสถานะผู้นำได้ในไม่กี่ปีข้างหน้า
และระยะถัดไป คือ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเป็นเจ้าของเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ของตนเอง อาจจะโดยการเรียนรู้ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ร่วมทุนต่างประเทศ หรือจากการพัฒนาขึ้นเองผ่านการใช้วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ผู้เขียนใคร่ขอเสนอว่าการจะขับเคลื่อนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายไปสู่จุดนั้นได้ จะต้องเคลื่อนด้วย 2 เรื่องใหญ่ คือ การลงทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและกำลังคน และการปรับเปลี่ยนระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ให้เหมาะสม
การที่จะปักหมุดประเทศไทยบนแผนที่ตลาดโลกในบริบทของอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น วิธีที่เร็วสุด คือ การดึงการลงทุนจากบริษัทที่มีชื่อเสียงในตลาดโลกเข้ามาไทย ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงการร่วมทุนกับเอกชนไทย ความร่วมมือกับนักวิจัยไทยและฝึกอบรมแรงงานไทย เพื่อเกิดการเรียนรู้ ถ่ายทอดและร่วมพัฒนาเทคโนโลยี ควบคู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีระดับสูง โดยส่วนใหญ่มีลักษณะเฉพาะตัว คือ ต้องการแรงงานทักษะสูงและทักษะเฉพาะทาง มีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับทดสอบมาตรฐาน และการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ดึงการลงทุนเทคโนโลยีเหล่านี้ คือ โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
การดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติที่มีชื่อเสียงเพียงอย่างเดียว จะไม่ทำให้อุตสาหกรรมเป้าหมายช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ยั่งยืน สิ่งสำคัญ คือ ต้องสร้างความเข้มแข็งในเทคโนโลยีใหม่ให้ผู้ประกอบการไทย และการสร้างผู้ประกอบการใหม่ควบคู่ด้วย ปัจจุบันไทยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ในภูมิภาค ซึ่งมีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และโรงงานต้นแบบ ถือเป็นข้อได้เปรียบตั้งต้นสำหรับไทยที่จะดึงและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
อย่างไรก็ดี ไทยจำเป็นต้องลงทุนเพื่อยกระดับและสร้างความเข้มแข็งให้โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้อีกมาก ตัวอย่างของโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่น่าสนใจ คือ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EECi มีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นเจ้าของโครงการ ตั้งในพื้นที่ที่มีมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ โรงงานต้นแบบและบุคลากรที่พร้อมทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่เดียวกัน
นอกจากโครงสร้างพื้นฐานแล้วสิ่งที่ต้องยกระดับและเสริมสร้างควบคู่กัน ได้แก่ กำลังคน ทั้งทางด้านคุณภาพและปริมาณ กำลังคนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่นักลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายจากต่างประเทศต้องการ ซึ่งมีทั้ง 2 ระดับ คือระดับที่ทำงานด้านวิจัยและพัฒนา และระดับแรงงานทักษะสูง อันเป็นสิ่งที่ไทยต้องเร่งลงทุนและพัฒนาให้เกิดมีอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การพัฒนาการศึกษาและความสามารถทาง Hard Skill ต่างๆ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ การใช้ภาษาการบริหารจัดการ ความสามารถในการบูรณาการความรู้ด้าน STEM Education ได้แก่ Science, Technology Engineering, and Mathematics เป็นต้น ตลอดจนการปลูกฝัง Soft Skill ในด้านต่าง ๆ เช่น ทักษะการสื่อสาร การคิดเชิงวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ความใฝ่รู้ และความฉลาดทางอารมณ์ เป็นต้น
ควบคู่ไปกับโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนการปรับปรุงและพัฒนาด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของประชาชนแล้ว ควรพัฒนาให้เกิดการสร้างนักวิจัย ซึ่งหมายถึงกำลังคนที่จะทำงานด้านวิจัยและพัฒนา ที่จะเป็นกำลังสำคัญต่อยอดการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่ภาคเอกชนด้วย ไม่เพียงแต่เป็นนักวิจัยในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิจัยเท่านั้น
นอกจากนี้ ไทยต้องจริงจังกับการพัฒนาแรงงานทักษะเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในอดีตนั้นแรงงานไทยได้ชื่อว่าเป็นแรงงานที่มีคุณภาพและมีทักษะ แต่ด้วยเทคโนโลยีและแนวโน้มอุตสาหกรรมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทักษะของแรงงานจาเป็นต้องเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย
นอกจากปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาหรือจัดให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้แรงงานใหม่มีทักษะตามที่ตลาดต้องการแล้ว การ upskill และ reskill แรงงานที่มีอยู่เดิมในระบบให้เข้าสู่กระบวนการผลิตที่เปลี่ยนแปลงเร็วก็มีความสำคัญ หลายภาคส่วนในไทยกำลังดำเนินการในสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะช่วยกันพัฒนากาลังคนของประเทศอย่างจริงจัง จริงใจและยั่งยืน
ในตอนต่อไปจะได้กล่าวถึงเรื่องของการปรับเปลี่ยนระบบนิเวศน์ หรือ Ecosystem ที่เป็นทั้งแรงหนุนการขับเคลื่อนและเป็นทั้งอุปสรรคที่สาคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย