อ่านใจเฟด อ่านทิศทางการขึ้นดอกเบี้ย | บัณฑิต นิจถาวร
อาทิตย์ที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกร้อยละ 0.75 เป็นการขึ้นที่ไม่มีใครแปลกใจ หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ส.ค.ออกมาสูง
ในช่วงแถลงข่าว คําถามที่ผู้สื่อข่าวรุมถามประธานเฟดคือ อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นต่ออีกนานแค่ไหน และเฟดมองผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจสหรัฐอย่างไร
ประธานเฟดตอบทั้งสองคำถามได้ดี ชี้ให้เห็นถึงวิธีที่เฟดมองปัญหาเงินเฟ้อขณะนี้ และทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นที่เฟดมีอยู่ในใจ เป็นประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ธนาคารกลางสหรัฐให้เหตุผลของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกร้อยละ 0.75 ว่า แรงกดดันเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจสหรัฐยังมีมาก
เป็นผลจากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานที่มาจากโรคระบาด ราคาอาหาร และราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น และแรงกดดันของราคาที่มีอยู่ทั่วไป
ขณะที่เป้าของนโยบายการเงินสหรัฐ คือการลดอัตราเงินเฟ้อระยะยาวให้อยู่ในระดับร้อยละ 2 ต่อปี เป็นเป้าที่คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐให้ความสำคัญและต้องการทําให้เกิดขึ้น
เป็นหน้าที่สาธารณะ (Public Mission) ของเฟดที่ทำเพื่อประชาชน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีต่อไปตามความจำเป็นและความเหมาะสม
เฟดอธิบายว่า การขึ้นดอกเบี้ยสะท้อนความตั้งใจด้านนโยบายที่จะสร้างภาวะการเงินในประเทศให้ตึงตัว เพื่อลดการใช้จ่ายหรืออุปสงค์ในประเทศ ซึ่งเมื่ออุปสงค์ในประเทศลดลงพร้อมกับการคลายตัวของข้อจำกัดด้านอุปทาน แรงกดดันต่อราคาก็จะลดลง
ณ จุดนี้ เศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอ ตลาดที่อยู่อาศัยที่ชะลอตามอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การส่งออกชะลอตามการอ่อนตัวของเศรษฐกิจโลก
แต่ตลาดแรงงานสหรัฐยังตึงตัว ค่าแรงปรับสูงขึ้นสะท้อนความไม่สมดุลที่มีอยู่ คือ ผู้ต้องการทํางานมีน้อยกว่าตําแหน่งงานที่ว่าง
ประมาณการขณะนี้คือ เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 ปีนี้ และร้อยละ 1.7 ปีหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังสูงกว่าร้อยละ 2 ในปีนี้และปีหน้า ประธานเฟดย้ำว่าอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่ง (Bedrock) ของเศรษฐกิจ
ต่อคําถามว่าอัตราดอกเบี้ยจะต้องปรับขึ้นอีกมากแค่ไหนและเมื่อไรจะหยุด ประธานเฟดตอบว่า ในแง่การทํานโยบายมีหลายอย่างที่อยากเห็นเกิดขึ้น
1) อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงต่ำกว่าระดับที่เป็นแนวโน้ม (below trend growth)
2) ภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานผ่อนคลาย และ
3) อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่ระดับร้อยละ 2
ในการประชุมคราวนี้ ฝ่ายวิจัยธนาคารกลางสหรัฐประมาณการว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐจะลดลงในปีหน้าและลดลงมากขึ้นในปีต่อไป ประมาณว่าระดับอัตราดอกเบี้ยเฟดปีหน้าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 4.6% ทําให้ตลาดการเงินวิเคราะห์ว่าเฟดคงจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องถึงปีหน้า
ต่อคําถามว่าเมื่อไรจะหยุด ประธานเฟดให้คําตอบเหมือนที่เคยตอบว่าการหยุดขึ้นดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยลงหลังปรับขึ้นเร็วเกินไป เป็นสิ่งที่ไม่ควรทํา
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยควรมีต่อไปจนมั่นใจได้ว่างานที่ทําบรรลุภารกิจแล้ว (job is done) และให้ความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยแท้จริง (อัตราดอกเบี้ยลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) ตลอดช่วงอายุการกู้ยืม (Yield Curve) ควรเป็นบวก
ต่อคําถามว่า เฟดมองผลกระทบหรือความเจ็บปวดที่จะมีต่อเศรษฐกิจอย่างไร ประธานเฟดไม่ปฏิเสธความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ให้ความเห็นว่าถ้าอัตราดอกเบี้ยยืนอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน โอกาสที่จะเห็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป (soft landing) ก็จะลดลง
ย้ำว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนมาก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่ใช้เงินที่หาได้วันต่อวัน หรืออาทิตย์ต่ออาทิตย์ กับสิ่งที่จําเป็นต่อชีวิตทั้งสิ้น เช่น อาหาร ค่าเช่า ค่าเดินทาง เสื้อผ้า
ทําให้ความเป็นอยู่จะลําบากมาก ถ้าเงินเฟ้อสูงหรือของแพง ดังนั้น ความเจ็บปวดต่อเศรษฐกิจจะมีแต่จะน้อยกว่ากรณีที่เงินเฟ้อสูงต่อเนื่องและไม่ลดลง
ชัดเจนว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐให้ความสำคัญสูงสุดกับการลดอัตราเงินเฟ้อ ถือเป็นหน้าที่สาธารณะที่ต้องทําเพื่อประโยชน์ของประชาชน แม้จะทำให้เศรษฐกิจชะลอ และธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้าเท่าที่จําเป็นเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจะส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลต่อสภาพคล่องและภาวะการเงินที่จะตึงตัว ต้นทุนการกู้ยืมทั่วโลกที่จะแพงขึ้น และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์
เห็นได้จากหลังการแถลงข่าวของประธานเฟด ค่าเงินเยนอ่อนตัวจนธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องเข้าแทรกแซงเพื่อชะลอการอ่อนค่าเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี
เงินบาทก็อ่อนค่าทะลุระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนทั่วโลกทยอยปรับพอร์ตเพื่อรองรับอัตราดอกเบี้ยที่จะเป็นขาขึ้นอย่างน้อยอีกระยะหนึ่ง ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตกและผันผวน
ในระยะข้างหน้าชัดเจนว่า วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในเศรษฐกิจโลกจะชันมากขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด จึงมีสองเรื่องที่ผู้ทํานโยบายในประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างประเทศเราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
1.โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เศรษฐกิจยุโรป และเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะถ้าทั้งสามประเทศชะลอตัวลงพร้อมกัน
ทําให้โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ได้ประโยชน์จากการส่งออกและการท่องเที่ยวจะถูกกระทบ ต้องหันมาพึ่งการใช้จ่ายและคุณภาพของมาตรการในประเทศมากขึ้น
2.ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ที่จะมาจากอัตราดอกเบี้ยโลกที่แพงขึ้น การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และการไหลออกของเงินทุนระหว่างประเทศ เป็นประเด็นที่ผมได้ให้ข้อสังเกตไว้ในบทความอาทิตย์ที่แล้ว
ว่าสามารถทำให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพได้ โดยเฉพาะในประเทศที่นโยบายการเงินปรับตัวช้า ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยช้า ทําให้เศรษฐกิจจะเจอทั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเงินเฟ้อที่สูง ค่าเงินที่อ่อนต่อเนื่อง และการลดลงของทุนสำรองทางการ
เป็นความเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญในแง่นโยบายและต้องไม่ประมาท
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล