เศรษฐกิจ ‘เวียดนาม’ ร้อนแรง จ่อแซง ‘ไทย’ ชูปฏิรูปกฎหมาย - ตลาดใหญ่ดึงลงทุน
เศรษฐกิจเวียดนามติดสปีด นักวิชาการ ชี้เบียดไทยหลังโตเฉลี่ย 5-6% ต่อปี ห่วงไทยโตไม่เต็มศักยภาพ ชี้เวียดนามปฏิรูปกฎหมายเทียบโออีซีดี เอื้อลงทุน FTA หนุนบริษัทข้ามชาติแห่ลงทุน “พาณิชย์” ชี้ FDI ดันเศรษฐกิจก้าวกระโดด “เจโทร” ชี้เวียดนามโดดเด่นจากเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง
เศรษฐกิจเวียดนามมีความโดดเด่นถึงแม้จะอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์วิกฤติพลังงาน โดยในปี 2565 รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ไว้ที่ 7.5% โดยในครึ่งปีแรกปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) เวียดนามมีการขยายตัว GDP อยู่ที่ 6.42% เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวในเดียวกันของปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 5.05%
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับ GDP ของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ขยายตัวเพียง 2.4% ในขณะที่ปีนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการณ์ขยายตัวเพียง 2.7-3.2%
หากมองเปรียบเทียบสมรรถนะเศรษฐกิจไทยและเวียดนามเปรียบเทียบกันจะพบว่าเศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวแบบก้าวกระโดด ในขณะที่เศรษฐกิจไทยเจอปัญหาเติบโตต่ำกว่าศัยภาพ
เมื่อเปรียบเทียบขีดความสามารถในการแข่งขันไทย-เวียดนาม 2564-2565 ตามที่สำนักงานการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามสรุปไว้พบว่า ในด้านประชากรของไทยที่มี 66 ล้านคน กำลังเข้าสู่ยุค Aging Society ในขณะที่ประชากรเวียดนาม 97 ล้านคน อยู่ในช่วง Working age
ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยอยู่ที่ 12 พันล้านดอลลาร์ ส่วนเวียดนาม อยู่ที่ 31.15 พันล้านดอลลาร์ รวมทั้งเมื่อมองประเด็นข้อตกลงการค้าที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติพบว่า ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยมี 14 ฉบับ ครอบคลุม 18 ประเทศ ในขณะที่เวียดนามลงนามไปแล้ว 16 ฉบับ ครอบคลุม 54 ประเทศ
เศรษฐกิจไทยโตไม่เต็มศักยภาพ
นายปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เศรษฐกิจเวียดนามพัฒนาขึ้นมากจากการเติบโตที่รวดเร็ว และตั้งแต่ปี 2030 จะเห็นชัดขึ้นว่าเวียดนามมีระดับเศรษฐกิจใกล้เคียงไทยมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตต่อเนื่อง 5-6% ต่อปี ขณะที่เศรษฐกิจไทยโตไม่เต็มศักยภาพ
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาเวียดนามเหมือนใช้โฮโมนต์เร่งการเติบโต เพื่อเติบโตให้ได้มากกว่าศักยภาพที่เป็น ซึ่งทำให้เวียดนามที่เคยมีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าไทยมากได้ขยับมาใกล้ไทยและจะแซงในที่สุด
สำหรับสิ่งที่เหมือนกันคือการกระจุกตัวของการพัฒนา ซึ่งต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่นญี่ปุ่น สหรัฐ โดยไทยมีปัจจัยที่เข้มแข็งกว่าเวียดนาม คือโครงสร้างพื้นฐานและขนาดเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้อีก 10 ปีข้างหน้าขนาดเศรษฐกิจเวียดนามยังไม่แซงไทย แต่จะขยับมาใกล้เคียงหรือในระดับเดียวกับไทยถ้าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตไมได้เต็มศักยภาพ
“ถ้าไทยเติบโตแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2035 ขณะที่เวียดนามจะขยับรายได้ต่อหัวจากปีละ 2,000-3,000 ดอลลาร์ มาอยู่ระดับเดียวกับไทยในปัจจุบันที่มีรายได้เฉลี่ย 7,000 ดอลลาร์”
ทั้งนี้ข้อมูลของ PwC ระบุว่าระยะยาวถึงปี 2050 เศรษฐกิจเวียดนามจะขยับแซงหน้าไทยมาอยู่อันดับ23 ของโลก ขณะที่ไทยอันดับตกลงไปที่ 30 ของโลก
การเมืองฉุดการพัฒนาประเทศ
นายปิติ กลาวว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเร็วช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะไทยมีปัญหาการเมืองและไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปหลายด้าน แต่เวียดนามสำเร็จในการปฏิรูปหลายส่วนที่มาจากการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง ซึ่งคล้ายจีนทำให้เกิดผลดีกับเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปกฎหมายภายในประเทศ (Regulatory Guillotine) ที่เวียดนามทำสำเร็จตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งทำให้กฎหมายทันสมัย โปร่งใสและมีประสิทธิภาพสูง
รวมถึงกฎหมายเวียดนามเทียบเท่ามาตรฐานกลุ่มประเทศ OECD ทำให้นักลงทุนสนใจเข้าไปลงทุน และกฎหมายนี้ทำให้เวียดนามเปิดข้อตกลงทางการค้าหรือเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าใหม่ได้เร็วขึ้น เพราะมีการทำข้อตกลงบนกฎหมายที่มีมาตรฐานรูปแบบเดียวกัน
ทั้งนี้ จะเห็นว่าไทยกับเวียดนามมีจำนวน FTA ใกล้เคียงกัน แต่ไทยครอบคลุม 18 ประเทศ ในขณะที่เวียดนามครอบคลุม 53 ประเทศ ทำให้เวียดนามมีแต้มต่อดึงดูดการลงทุนและทำให้เวียดนามมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น
“ท่าเรือ-ราง”เวียดนามเชื่อมโลก
รวมทั้งเมื่อพิจารณาเงื่อนไขของสังคมและเศรษฐศาสตร์ด้านอื่น ได้แก่ คุณภาพคน ขนาดตลาดในประเทศที่ใหญ่ และจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคน และเป็นประชากรในวัยกำลังแรงงานที่มีอุปนิสัยทำงานหนักทำให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับประเทศอื่น เช่น การเชื่อมกับจีนผ่านทางรถไฟเวียดนาม การเชื่อมท่าเรือดานังขึ้นไปถึงจีนทำให้ค้าขายไปทั่วโลก รวมทั้งท่าเรือเวียดนามเชื่อมกับท่าเรือไต้หวัน
ส่วนของไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังไม่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งไม่สามารถเชื่อมกับประเทศที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้เท่าที่ควร
"คนเวียดนามแยกประเด็นความขัดแย้งกับความร่วมมือได้ เช่น เวียดนามมีประวัติศาสตร์เจ็บปวดกับสหรัฐแต่เมื่อต้องร่วมมือกันก็ทำได้ รวมถึงณีทะเลจีนใต้ที่เวียดนามกับจีนขัดแย้งกันมากแต่ก็ร่วมมือกันได้ ขณะที่คนไทยมีปัญหาแยกแยะไม่ได้ เรารักแล้วรักเลย เกลียดเกลียดเลยทำให้ความร่วมมือบางเรื่องเกิดยาก"
เอฟดีไอหนุนเศรษฐกิจเวียดนาม
นางสาวสุภาพร สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า รัฐบาลเวียดนามเป็นห่วงผลกระทบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบกำลังซื้อและต้นทุนการผลิต โดยรัฐบาลเวียดนามกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อปี 2565 ที่ 4% โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย ณ เดือน ส.ค.2565 อยู่ที่ 3.6% อยู่ในกรอบที่รัฐบาลเวียดนามกำหนด
สำหรับกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจเวียดนาม คือ การดึง FDI ปัจจุบันเวียดนามมี FDI กว่า 16,300 โครงการ มูลค่ารวม 238 พันล้านดอลลาร์ และมีนักลงทุนจากกว่า 100 ประเทศเข้ามาลงทุน และมีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ อาทิ Intel, Microsoft, Foxconn, Samsung, Sanyo, Sony, Fujitsu, Toshiba, Panasonic
ประเทศผู้ลงทุนสะสมในเวียดนามสูงอันดับ 1 ได้แก่ เกาหลีใต้ และอันดับที่ 2 ได้แก่ สิงคโปร์ ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยมีการลงทุนสะสมในเวียดนามเป็นอันดับที่ 9 จากประเทศผู้ลงทุนทั้งหมด โดยนครโฮจิมินห์เป็นแหล่งดึงดูด FDI ได้มากที่สุดในเวียดนาม คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,700 ล้านดอลลาร์ หรือ กว่า 16% ของ FDI ทั้งหมด
3เงื่อนไขดึงลงทุนเวียดนาม
สำหรับปัจจัยที่ทำให้เวียดนามเป็นทางเลือกนักลงทุนต่างชาติ ได้แก่
1.ความมีเสถียรภาพของภาคการเมือง (Socio-political stability) เนื่องจากเวียดนามปกครองรูปแบบสังคมนิยมพรรคเดียว
2.โครงสร้างประชากรวัยทำงานสัดส่วนสูงถึง 60 % ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ค่าจ้างแรงงานในเวียดนามจะไม่ต่ำเท่าอดีต เพราะ FDI เพิ่มขึ้นมากทำให้ต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น และรัฐบาลเวียดนามปรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเนื่องให้สอดคล้องค่าครองชีพ แต่เวียดนามยังมีแรงงานจำนวนมาก หากเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรที่ถึงเกือบ 100 ล้านคน
3.เวียดนามปรับปรุงกฎระเบียบและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการค้าให้สอดคล้องมาตรฐานนานาชาติ ซึ่งเป็นผลจากการที่เวียดนามลงนามความตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศทำให้เวียดนามผูกพันที่ต้องปรับปรุงกฎระเบียบ มาตรฐานต่างๆ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเวียดนามในประเทศต้องปรับตัวมาก แต่เวียดนามมองว่าระยะยาวจะยกระดับมาตรฐานการทำดำเนินธุรกิจของเวียดนาม
ไทยเร่งเจรจาเอฟทีเอเพิ่ม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมี FTA ที่มีผลใช้บังคับแล้ว 14 ฉบับ ครอบคลุม 18 ประเทศ ขณะที่เวียดนาม มี 16 ฉบับ ครอบคลุม 54 ประเทศ โดยข้อตกลงที่ต่างจากไทย คือ ข้อตกลงกับสหภาพยุโรป (EU) 27 ประเทศ, อังกฤษ, สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) 3 ประเทศ และความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งไทยยังไม่มี FTA ด้วย แต่อยู่ในแผนเจรจา FTA ของไทย
ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้กำหนดแผนการเจรจาจัดทำ FTA ปี 2565-2570 คือ EU, UK, EAEU, แคนาดา, ตุรกี, ศรีลังกา, ปากีสถาน, EFTA. , GCC, pacific Alliance, อิสราเอล, กลุ่มประเทศแอฟริกา หากบรรลุเป้าหมาย ไทยจะมี FTA เพิ่มขึ้นอีก 12 ฉบับ เพิ่มอีก 93 ประเทศ เมื่อรวม FTA ที่มีอยู่เดิม จะทำให้ไทยมี FTA ทั้งหมด 26 ฉบับ ครอบคลุม 111 ประเทศ
ชี้วัดเฉพาะเอฟทีเอไม่ได้
สำหรับการพิจารณาว่าไทยแข่งกับเวียดนามได้ไหม อาจไม่สามารถวัดจากการมีข้อตกลงทางการค้าอย่างเดียวได้ เพราะไทยและเวียดนามมีสินค้าส่งออกสำคัญแตกต่างกัน โดยไทยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ ส่วนเวียดนาม มีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ รองเท้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องเฟอร์นิเจอร์ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยมีมูลค่าสูงกว่าสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนาม
นอกจากนี้ไทยและเวียดนามเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าที่แตกต่างกัน โดยปัจจุบันไทยกำลังเจรจากับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) 4 ประเทศ รวมถึงเจรจากับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา ในขณะที่เวียดนามยังไม่เจรจาประเทศดังกล่าว ซึ่งหากไทยสรุปผลเจรจาและมีผลใช้บังคับจะทำให้ไทยมีขีดความสามารถในตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเวียดนาม
"ไทยมีกระบวนการเจรจาจัดทำ FTA ที่ให้ความสำคัญกับการหารือและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐ เอกชน นักวิชาการ เกษตรกร และภาคประชาชน ซึ่งกระบวนการภายในประเทศของเวียดนามน่าจะต่างกัน"
จีดีพีเวียดนามโตสูงสุดรอบ10ปี
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่า เศรษฐกิจเวียดนามปี 2565 ยังเติบโตดี โดยไตรมาส 2 ขยายตัว 7.7% สูงสุดในรอบ 10 ปี รวมทั่งในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 15.7 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564
"แม้ว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และความตึงเครียดทางการเมืองทั่วโลก รวมถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่เวียดนามยังควบคุมสถานการณ์จนถึงปัจจุบันได้ ใน 8 เดือนแรกของปี 2565 ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นเพียง 2.58 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ 4%
เวียดนามชูยุทธศาสตร์“กรีน”
ขณะเดียวกัน เวียดนามก็มียุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเร่งพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน
ส่วนไทยกำหนดให้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model : BCG) เป็นวาระแห่งชาติ โดยภาคเอกชนไทยได้เริ่มนำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนทั้งในด้านการใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีอย่างไม่ก่อให้เกิดโทษต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น ทุกภาคส่วนของทั้งไทยและเวียดนามควรร่วมมือกันในด้านมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตอย่างยั่งยืนให้เกื้อหนุน สอดคล้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ประเทศของเราทั้ง 2 ประเทศใช้ประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจใหม่อย่างดีที่สุด
“เจโทร”ชี้เวียดนามโดดเด่นขึ้น
นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) กล่าวว่าในอาเซียนพบว่าเวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความน่าสนใจในการขยายการลงทุน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยด้านอื่นๆ อาทิ ทักษะแรงงาน นโยบายสนับสนุนการลงทุน
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนญี่ปุ่นยังให้ความสนใจลงทุนในไทยเนื่อง จากจุดเด่นด้านพื้นที่ตั้ง สิทธิประโยชน์การลงทุน การคมนาคม และการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลบีซีจีสอดคล้องกับเป้าหมายเน็ตซีโร่ รวมทั้งความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานเดิมภายในประเทศโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี