สหรัฐโจมตีโอเปคพลัสลดผลิตน้ำมันเอื้อ'รัสเซีย'
ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว ตำหนิโอเปคพลัสอย่างรุนแรงว่าเอื้อประโยชน์ให้รัสเซีย หลังที่ประชุมมีมติเมื่อวันพุธ (5 ต.ค.) ลดกำลังการผลิตน้ำมัน2 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนพ.ย. ซึ่งจะเป็นการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ปี
การประชุมโอเปคพลัส ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) พร้อม รัสเซีย และประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่น ๆ มีมติร่วมกันที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมัน ลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ย. ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นการช่วยพยุงรัสเซียให้มีรายได้เพิ่มเพื่อใช้จ่ายในการทำสงครามกับยูเครน และทำลายโอกาสของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จะดำเนินการควบคุมราคาพลังงานภายในประเทศ
สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐ รายงานว่า การปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคและประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่น ๆ ยังถูกมองว่า เป็นการเมินความพยายามของผู้นำสหรัฐที่เพิ่งเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อโน้มน้าวให้ซาอุดีอาระเบีย ประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ยอมคงระดับการผลิตของตนต่อไป
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาววิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของโอเปคพลัส ขณะที่นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในอนาคตอันใกล้ได้
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มปรับขึ้นอีกครั้งเมื่อไม่กี่วันก่อน เพราะมีการคาดการณ์ว่า โอเปคจะปรับลดกำลังการผลิตลงมา ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
"เจค ซัลลิแวน" ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว และ"ไบรอัน ดีส" ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ ระบุในแถลงการณ์ร่วมว่า ปธน.ไบเดน รู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจที่ไม่สุขุมของโอเปคพลัส ในการปรับลดโควตาการผลิต ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบด้านลบของการรุกรานยูเครนโดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย
ซัลลิแวนและดีส ยังกล่าวด้วยว่าในช่วงเวลาที่การรักษาไว้ซึ่งอุปทานพลังงานโลกมีความสำคัญอย่างยิ่ง การตัดสินใจเช่นนั้น จะส่งผลกระทบด้านลบอย่างที่สุดต่อประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ที่กำลังประสบปัญหาใหญ่จากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง
ในการปรับลดกำลังการผลิตครั้งนี้ โอเปคพลัส ประกาศว่า จะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันที่ผลิตต่อวันลดลงจาก 43.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 41.8 ล้านบาร์เรล และจะมีผลตั้งแต่เดือนพ.ย.เป็นต้นไป
การปรับลดกำลังการผลิตครั้งนี้เป็นครั้งแรกของโอเปค นับตั้งแต่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2563
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดในวันพุธ (5 ต.ค.) ปรับตัวขึ้น 1.24 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 87.76 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2565
ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 1.57 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 93.37 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2565
ก่อนหน้านี้ โอเปคพลัส มีมติลดกำลังการผลิต 100,000 บาร์เรล/วันสำหรับเดือนต.ค. ซึ่งเป็นการปรับลดกำลังการผลิตเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2563 เพื่อพยุงราคาน้ำมันในตลาด
ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (อีไอเอ) รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 1.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 4.7 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 2.3 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 3.4 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล
ขณะที่ผลสำรวจทัศนะภาคครัวเรือนของสำนักสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐครั้งล่าสุด บ่งชี้ว่า ภาวะเงินเฟ้อสูงในขณะนี้ทำให้ประชาชนเผชิญความยากลำบากมากขึ้นในการหาเงินมาชำระค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ทั้งยังกระทบแผนการเกษียณ รวมถึงทำให้ประชาชนต้องจำกัดการเดินทางและระมัดระวังการใช้จ่าย โดยปัญหาเงินเฟ้อสูงทำให้ประชาชนมีความตื่นตระหนกเป็นวงกว้างและรุนแรง
ผลสำรวจระบุว่า ประมาณ 65% ของผู้ใหญ่ในสหรัฐพบว่า ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นสร้างความเครียด “อย่างมาก” หรือ “ปานกลาง” โดยผลสำรวจฉบับนี้เริ่มสอบถามเรื่องราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรก
ความเครียดจากปัญหาราคาสินค้าแพงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ใหญ่ที่มีเชื้อสายฮิสแปนิกและผิวดำมากกว่ากลุ่มอื่นเล็กน้อย ขณะที่ ชาวอเมริกันผู้ใหญ่ที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมีความเครียดน้อยกว่ากลุ่มอื่น โดยอยู่ที่ประมาณ 54% ส่วนผู้มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์ต่อปีกว่า 80% รู้สึกเครียดเพราะภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน เทียบกับระดับ 38% ในกลุ่มผู้ที่มีรายได้กว่า 200,000 ดอลลาร์ต่อปี
ผลสำรวจฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า เงินเฟ้อสูงส่งผลกระทบต่อรูปแบบการใช้จ่ายและจิตวิทยาของประชาชน หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) โดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 8% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี