'การบินไทย' ลุยท่องเที่ยวไฮซีซัน เพิ่มพนักงาน 'เอาท์ซอร์ส' ระยะสั้น
อุตสาหกรรมการบินเร่งเพิ่มพนักงานรองรับเดินทางช่วงไฮซีซั่น “การบินไทย” ลุยจ้างเอาท์ซอร์สระยะสั้นเดินหน้าฝ่ายปฏิบัติการ "ไทยไลอ้อน” ดึงพนักงานเก่าร่วมงานฟื้นธุรกิจ ทอท.ส่งบริษัทลูก AOTGA เตรียมพร้อมบริการภาคพื้น คาดปี 2566 ผู้โดยสารฟื้นตัวก้าวกระโดด 96 ล้านคน
การสัญจรของสายการบินโดยสารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มฟื้นตัวแตะ 73% ของระดับปี 2562 ภายในสิ้นปี 2565 ซึ่งเป็นการประเมินของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) เนื่องจากมีการผ่อนปรนการบังคับใช้มาตรการสกัดโควิด-19
ขณะที่แนวโน้มผู้โดยสารทางอากาศของไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.คาดว่าปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค.2565-30 ก.ย.2566) จะมีผู้โดยสาร 96 ล้านคน และจะฟื้นตัวเป็นปกติเทียบก่อนโควิด-19 จำนวน 142 ล้านคน ในปี 2567
นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มเห็นชัดเจนถึงการฟื้นตัวของการเดินทางทั่วโลก โดยการบินไทยในฐานะผู้ให้บริการสายการบิน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งบริการภาคพื้น ครัวการบิน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ได้เร่งเพิ่มจำนวนพนักงานเพื่อมาให้บริการทันต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม แต่ยังเป็นการรับพนักงานลักษณะของจ้างเหมา หรือ Outsource
สำหรับการรับสมัครพนักงานเอาท์ซอร์ส ดำเนินการผ่านบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งการบินไทยถือหุ้นและดำเนินธุรกิจการจัดหาบุคลากรให้การบินไทย เพื่อปฏิบัติงานเป็นพนักงานบริการภาคพื้น ปฏิบัติหน้าที่และอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้โดยสารภาคพื้น โดยการจ้างงานส่วนใหญ่จะจ้างลักษณะเอาท์ซอร์สระยะสั้น ทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จ เช่น เร่งทำความสะอาดเครื่องบิน ซ่อมอากาศยานระยะเร่งด่วน
“การบินไทยได้จัดสรรงบส่วนหนึ่งให้วิงสแปนเร่งจัดหาพนักงานมาดำเนินภารกิจที่เร่งด่วน และเตรียมรองรับการฟื้นตัวของปริมาณผู้โดยสารช่วงไฮซีซั่น โดยไม่ได้เป็นพนักงานประจำของการบินไทย เพราะตามแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย มีกรอบกำหนดพนักงานไม่เกิน 15,000 คน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระดับ 14,000 คน”
เร่งจ้างเอาท์ซอสสัญญาระยะสั้น
นายสุวรรธนะ กล่าวว่า การจ้างงานลักษณะเอาท์ซอร์สสัญญาระยะสั้น เป็นผลดีต่อการบินไทย เพราะทำให้การบินไทยบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ดี อีกทั้งงานส่วนใหญ่ที่จ้างเอาท์ซอร์สเป็นงานระดับปฏิบัติการ และมีหัวหน้างานควบคุมคุณภาพโดยพนักงานการบินไทย ดังนั้นทำให้มั่นใจว่ามาตรฐานบริการอยู่ในมาตรฐานการบินไทย
ทั้งนี้ ช่วงเข้าแผนฟื้นฟูกิจการมีโครงการร่วมใจจากของพนักงานการบินไทย ขณะนั้นการบินไทยมีพนักงานประจำและเอาท์ซอร์สรวม 20,000-30,000 คน และได้เลิกจ้างเอาท์ซอร์สไป 5,000-6,000 คน ดังนั้นเป็นการยืนยันว่าการบินไทยไม่ได้เลิกจ้างเพียงพนักงานประจำ แต่ช่วงเวลาที่ต้องบริหารจัดการก็มีการเลิกจ้างเอาท์ซอร์ส และขณะนี้เปิดรับพนักงานเอาท์ซอร์สก็รับเพื่อทำงานชั่วคราวตามสัญญาจ้าง
ขณะเดียวกัน การบินไทยมีแผนรับสมัครพนักงานประจำขององค์กรต่อเนื่อง เพราะมีโควต้าพอสำหรับการบริหารงานภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการที่ต้องมีพนักงานไม่เกิน 15,000 คน แต่การรับพนักงานใหม่จะเน้นพนักงานที่มีประสบการณ์ทำงาน มีความรู้ความสามารถที่องค์กรต้องการ เพื่อควบคุมงานระดับปฏิบัติการ เช่นเดียวกับตำแหน่งนักบินและลูกเรือ ขณะนี้การบินไทยยังมีจำนวนเพียงพอ ส่วนจะรับพนักงานใหม่อย่างไรจะประเมินสถานการณ์การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมหลังไฮซีซั่นนี้
ทอท.มั่นใจปี66โตก้าวกระโดด
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2565 (1 ต.ค.2564-30 ก.ย.2565) มีผู้โดยสารเดินทางผ่านท่าอากาศยานของ ทอท.รวม 45.6 ล้านคน ซึ่งฟื้นตัวเทียบเท่า 1 ใน 3 ของปริมาณผู้โดยสารก่อนเกิดโควิด-19 หรือในปี 2562 ที่มี 142 ล้านคน
นอกจากนี้ แนวโน้มผู้โดยสารฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค.2565-30 ก.ย.2566) จะมีปริมาณผู้โดยสารที่ 96 ล้านคน และฟื้นเป็นปกติเทียบกับก่อนโควิด-19 จำนวน 142 ล้านคน ในปี 2567 ซึ่งสอดคล้องกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่ระบุว่าอุตสาหกรรมการบินจะฟื้นตัวสู่สถานการณ์ปกติปี 2567
อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของปริมาณผู้โดยสารจึงจะเห็นว่าปี 2566 ต้องจับตาดูใกล้ชิดเพราะเป็นปีของการฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด โดย ทอท.ยืนยันความพร้อมต่อการให้บริการ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้ลดพนักงาน อีกทั้งปัจจุบันเตรียมเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร
นอกจากนี้ ทอท.เปิดบริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ AOTGA โดย ทอท.ถือหุ้นสัดส่วน 49% ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการรองรับบริการภาคพื้นในท่าอากาศยาน รองรับความต้องการของลูกค้าสายการบินต่างๆ ที่ทำการบินเข้ามาท่าอากาศยาน ทอท.แต่ไม่ได้เตรียมพร้อมบริการภาคพื้นไว้ โดย AOTGA เป็นบริษัทใหม่จึงเปิดรับพนักงานบริการภาคพื้นจำนวนมาก
สำหรับ AOTGA มีเป้าหมายไม่ให้การบริการในท่าอากาศยานทอท.ไม่สะดุด และเรื่องรองคือการให้บริการลูกค้าภายนอก เช่น สายการบินที่อาจเข้ามาจ้างบริการภาคพื้น
“ตอนนี้ AOTGA เปิดรับพนักงานต่อเนื่อง เพราะดีมานด์ความต้องการบริการภาคพื้นฟื้นตัวตลอด และปีนี้ AOTGA จะทำกำไรแน่นอน”
เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวจีน
นายนิตินัย กล่าวว่า สำหรับปัจจัยเงินบาทอ่อนค่า ทอท.ประเมินว่าเป็นผลบวกเล็กน้อย เพราะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเดินทางในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากฝั่งสหรัฐซึ่งที่ผ่านมามีสัดส่วนเดินทางมาเที่ยวไทยไม่มากหากเทียบนักท่องเที่ยวฝั่งเอเชียเช่นจีนญี่ปุ่น ดังนั้นปัจจัยบวกช่วงไฮซีซั่นที่ต้องจับตา คือ การผ่อนคลายมาตรการเดินทางของจีนในวันที่ 16 ต.ค.นี้ อาจทำให้เกิดการเดินทางเพิ่มมากขึ้น
ส่วนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในไทย ทอท.แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.การเตรียมความพร้อมของ ทอท.เอง โดยยืนยันว่าความพร้อม 100% เมื่อเทียบช่วงก่อนโควิด-19 เพราะไม่ได้ลดพนักงาน เนื่องจากพนักงานประจำสนามบินส่วนใหญ่ต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐาน ICAO ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานจึงไม่ได้เลิกจ้าง
2.ผู้ประกอบการในธุรกิจการบิน อาทิ สายการบิน บริการภาคพื้น และแท็กซี่ ในส่วนนี้ยอมรับว่าช่วงเกิดโควิด-19 มีการลดพนักงานมากทำให้ ทอท.วางแผนรับมือเพื่อไม่ให้การบริการติดขัด โดยเตรียมพร้อมผ่าน AOTGA
ดังนั้น ภาพรวมการฟื้นตัวของผู้โดยสารขณะนี้ ทอท.จึงไม่กังวลเพราะมีพนักงานเตรียมพร้อมเทียบเท่าก่อนโควิด แต่สิ่งที่กังวล คือ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมการบินจะเตรียมพร้อมทันหรือไม่ เช่น แท็กซี่ ก่อนหน้านี้มีแท็กซี่ลงทะเบียนให้บริการที่สนามบินดอนเมือง 2,000 คัน แต่ปัจจุบันกลับมาให้บริการเพียง 400-500 คัน
“ไทยไลอ้อนฯ” ดึง พนง.เก่าร่วมงาน
นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า ไทยไลอ้อนแอร์เตรียมพร้อมบุคลากร รองรับการฟื้นตัวของธุรกิจสายการบินหลังจากวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย โดยปัจจุบันมีพนักงาน 2,000 กว่าคน
“พอธุรกิจของไทยไลอ้อนแอร์เริ่มกลับมา ฟื้นตัวดีขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 มีคนอยากกลับมาทำงานกับเราอีกครั้ง หลังจากช่วงโควิด-19 ต้องออกไปทำอาชีพอื่นก่อน โดยตอนนี้ไทยไลอ้อนแอร์เริ่มเรียกพนักงานส่วนต่างๆ เช่น นักบิน ลูกเรือ และพนักงานภาคพื้นสายการบินกลับมาทำงานกับเรา”
ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ต่างจากกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวอื่น เช่น โรงแรม ที่อาจประสบปัญหานี้มากกว่า
ชี้ราคาตั๋วพุ่งตามดีมานด์
ด้านสถานการณ์ราคาตั๋วเครื่องบินเส้นทางระหว่างประเทศ หลังจากประเทศต่างๆ ประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกันมากขึ้น จากการติดตามตลาดพบว่าราคาตั๋วเครื่องบินแพงขึ้นเป็นบางเส้นทางเท่านั้น เช่น เส้นทางญี่ปุ่น ซึ่งแพงขึ้นตามดีมานด์ความต้องการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ซัพพลายเที่ยวบินยังมีน้อย หลังจากญี่ปุ่นประกาศเปิดประเทศแบบไร้เงื่อนไข มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา
“ภาพรวมราคาตั๋วเครื่องบินเส้นทางระหว่างประเทศไม่ได้แพงขึ้นเยอะมาก เพราะเส้นทางส่วนใหญ่ก็มีคู่แข่งเข้ามาเปิดเส้นทางบิน เพิ่มเที่ยวบิน เพื่อแย่งชิงผู้โดยสารกัน”