นักธุรกิจไทยในจีนมั่นใจ “สีจิ้นผิง” สมัย 3 ฟื้นเศรษฐกิจ

นักธุรกิจไทยในจีนมั่นใจ  “สีจิ้นผิง” สมัย 3 ฟื้นเศรษฐกิจ

หอการค้าไทยในจีน ชี้ หากโควิดไม่กลับมาระบาดซ้ำ วิกฤติขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนไม่รุนแรง เศรษฐกิจจีนกลับมาเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวว่า จีนส่งสัญญาณทางบวกในการฟื้นเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยการลงมาแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ ก็อัดฉีดเงินลค่ามหาศาลเพื่อช่วยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จัดโครงการเทศกาลช้อปปิ้งในเทศกาลต่างๆของจีน เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อำนวยความสะดวกต่างๆมูลค่า 5 แสนล้านหยวน และกระตุ้นภาคการเกษตรในพื้นที่ชนบทของเกษตร โดยลงทุนผ่าน 3 ไตรมาสมีเม็ดเงินกว่า 1.2 ล้านล้านหยวน 

โดยหลังจากการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้วคาดว่านโยบายเหล่านี้ยังคงขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพราะจีนใช้การเมืองนำเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์การเมืองชัดเจนเรียบร้อย การอัดเม็ดเงินในการดำเนินการนโยบายใหม่ๆเพื่อต้อนรับผู้นำใหม่ซึ่งคาดว่าจะเป็นคนเดิม คือ นายสี จิ้น ผิง จะนั่งในตำแหน่งอีกสมัย ซึ่งนโยบายด้านเศรษฐกิจของจีนจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่คณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือโปลิตบูโร ทั้ง 7 คนที่จะถูกเลือกมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในเดือน มี.ค.ก็จะเห็นภาพชัดเจนว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ ซึ่งจะส่งสัญญาณถึงความต้องการหลักของ สี จิ้นผิง และเป็นสัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ต่อเนื่องไปไตรมาสแรกปี 66 ที่เป็นช่วงเทศกาลต่างๆ ที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจีนทั้งเรื่องการส่งออก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่จะต้องมีการจับจ่ายใช้สอยมากว่าปกติ ที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของจีน จะมีเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจีน 

“เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะกลับมา จากความชัดเจนของตัวผู้นำ และนโยบาย รวมทั้งใครจะขึ้นนั่งนายกฯคนใหม่ ยกเว้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจระลอกใหม่ที่รุนแรงจากปัญหาสงครามรัสเซียและยูเครน การระบาดโควิดรอบใหม่ในจีน นอกจากนี้จีนยังพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากปัญหาภายในประเทศ โดยเข้าไปกำกับดูแล เช่น วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ หากไม่มีปัญหาใหม่เข้ามาอีก ก็เชื่อว่า เศรษฐกิจจีนจะฟื้นและเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว”

ส่วนปัญหาเงินเฟ้อของจีนไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะจีนมีอัตราเงินเฟ้อต่ำเมื่อเทียบกับสหรัฐและยุโรป เพราะจีนสามารถควบคุมราคาสินค้า ราคาอาหารและราคาพลังงานได้ โดยขณะนี้จีนก็พยายามที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างจากสหรัฐและยุโรปที่ใช้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ดร.ไพจิตร กล่าวว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ต้องปิดเมืองจากมาตรการซีโรโควิด ทำให้ภาคการบริโภคจีนลดลง แต่ในไตรมาส 4 จีนอาจคลายล็อคหรือผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด เช่น ลดระยะเวลาการกักตัว ซึ่งคาดว่าหากไม่มีการแพร่ระบาดระลอกใหญ่มาอีก จีนอาจเหลือการกักตัวเพียง 3 วัน ก็จะส่งผลให้ภาคการบริโภคในไตรมาส 4 จะกลับมาฟื้นตัว และไตรมาสแรกปีหน้าก็จะดีขึ้นต่อเนื่องภายใต้เงื่อนไขไม่พบการระบาดใหญ่ 

ทั้งนี้มองว่า หากเศรษฐกิจจีนฟื้นกลับมาและมีการเปิดประเทศ ก็จะส่งผลดีต่อประเทศไทยโดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศระหว่างจีนและไทย โดยจีนเป็นคู่ค้าลำดับต้นๆของไทย เพราะเมื่อเศรษฐกิจจีนฟื้นความต้องการสินค้าก็จะตามมากขึ้น จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไทยได้เปรียบมากเนื่องจากระยะทางใกล้กับจีน การส่งออกไปได้เร็ว อีกทั้งไทยยังเป็นแหล่งส่งออกวัตถุดิบไปยังจีนเพื่อผลิตสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งไปขายในสหรัฐและประเทศอื่นๆ รวมทั้งซึ่งดูจากตัวเลขการส่งออกสินค้าของจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐ ยุโรป รวมไปถึงประเทศที่อยู่ในประเทศที่อยู่ใน โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือThe Belt and Road แม้ว่าในปี 64 จะมีปัญหาค่าระวางเรือปรับสูงขึ้นแต่จีนก็ปรับเปลี่ยนการขนส่งทางเรือมาเป็นการขนส่งผ่านรถไฟที่จีนพัฒนา ส่งสินค้าไปยังรัสเซีย ผ่านไปยังยุโรป 

นอกจากนี้เรายังจะได้โอกาสในภาคการท่องเที่ยวเมื่อจีนเปิดประเทศ ไฟเขียวคนจีนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางของคนจีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยมากทั้งการค้าและการลงทุน

ด้านกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้วิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจจีน หลังการประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ ว่า ในภาพรวม-จีนยังคงมีบทบาทในเวทีการค้าระหว่างประเทศ แต่ปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ/นโยบายจีนเดียว ทำให้บรรยากาศการค้าและการลงทุนของจีนมีความตึงเครียด เช่น สงครามการค้า การขาดแคลนชิพ ฯลฯ นอกจากนี้ จีนได้รับผลกระทบจากประเทศลูกหนี้ ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น 

แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน นั้น เศรษฐกิจของจีนยังคงเติบโต แต่อัตราจะไม่สูงแบบก้าวกระโดดเหมือนในอดีต (จีนมี GDP growth rate ช่วงปี 2002-2011 เฉลี่ย 10.68% และช่วงปี 2012-2019 เฉลี่ย 7% ทั้งนี้ เว็บไซต์ OECD* คาดการณ์ว่า GDP growth rate ของจีนปี 2022 จะอยู่เติบโต 4.4% และปี 2023 จะเติบโตที่ 4.9%) เนื่องจากรัฐบาลจีนต้องการรักษาการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในเชิงคุณภาพ (ประชากรอยู่ดีกินดี) มากกว่าตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยมี

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจของจีน คือ

1. การเปิดเผยนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ภายหลังการประชุมฯ ต่อประชาชน จะช่วยทุกภาคส่วนรับทราบทิศทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน

2.นโยบายการเน้นการบริโภคจากภายในประเทศ จะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีน (จีนมีจุดเด่นด้านจำนวนประชากรและชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น ทดแทนรายได้จากการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ) 

3.เงินหยวนที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ยังคงเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของจีน 

4.จีนมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบาย Zero Covid มากขึ้น หลังการประชุมใหญ่สมัชชาฯ

ส่วนปัจจัยลบคือ 1. ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ และกำลังซื้อของคนในประเทศน้อยลงและไม่หมุนเวียน 2. การย้ายการลงทุนของประเทศตะวันตก ญี่ปุ่น และไต้หวัน จากสงครามการค้าและความเข้มงวดในการใช้นโยบาย Zero Covid