จีดีพี (GDP) -- ภาคหนึ่ง | ดร.สมหมาย ภาษี
เรื่องข้างต้นตามที่จั่วหัวไว้สั้นๆ ขณะนี้คนไทยส่วนใหญ่ยกเว้นชาวบ้านรากหญ้าล้วนเข้าใจกัน แต่คนที่เข้าใจจริงๆ นั้นมีน้อยมาก
ตัวผู้เขียนเองสมัยที่เพิ่งจบปริญญาใหม่ๆ จําต้องไปหารายได้พิเศษด้วยการไปเป็นอาจารย์พิเศษ ใช้เวลาวันหยุดหรือตอนเย็นนอกเวลาราชการไปสอนนักศึกษาที่วิทยาลัยหอการค้า ซึ่งตอนนี้เป็นมหาวิทยาลัยแล้วในวิชา “บัญชีรายได้ประชาชาติ” สอนอยู่ประมาณสองปีเศษ
ตอนสอนนักศึกษาใหม่ๆ ก็รู้แต่ทฤษฎีทั่วๆไป ไม่มากกว่าคนที่จบปริญญาตรีใหม่ๆ สักเท่าไหร่ เช่น รู้ว่าคําว่า GDP หมายถึง รายได้ประชาชาติมวลรวมในประเทศเท่านั้น นอกจากนี้ประเทศยังมีรายได้ประชาชาติมวลรวมทั้งหมดของคนไทยทั้งในและนอกประเทศอีกด้วย เรียกว่า GNP (Gross National Product)
หรือรู้ว่ารายได้ประชาชาติมวลรวมในประเทศ (GDP) จะเท่ากับการนํารายจ่ายของคนในชาติ บวกกับรายจ่ายในการลงทุนของทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐบาล บวกกับรายได้จากการส่งออกของสินค้าและบริการ (รวมรายได้จากการท่องเที่ยว) หักด้วยรายจ่ายในการนําเข้าของสินค้าและบริการ เป็นต้น
อย่าเพิ่งเบื่อว่าผมจะมาสอนวิชานี้ให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายนะครับ แต่วันนี้ผมกําลังจะมาวิเคราะห์ให้ท่านผู้อ่านได้รู้ว่า เมื่อนักการเมืองไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของ GDP คํานี้ แล้วเอาแต่พูดเรื่องการเติบโต หรือการขยายตัวของ GDP แล้วเฝ้าแต่พรํ่าเพ้อคําว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปเรื่อยๆ มีแต่จะนําประชาชน และประเทศชาติไปสู่หายนะได้นะครับ
นักการเมืองอาชีพ นอกจากจะต้องรู้ความหมายของ GDP ให้ถูกต้องแล้ว ยังต้องรู้ว่ารัฐบาลจะต้องดูแลและบริหารจัดการประเทศอย่างไร จึงจะทําให้ GDP เติบโตอย่างมั่งคั่งและยั่งยืน
ขอยกตัวอย่างการบริหารที่เป็นไปในทางที่ก่อผลด้านลบต่อ GDP นั้นมีมากมาย ที่สําคัญมีดังนี้
ประการแรก คือ บริหารประเทศโดยปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากจนติดอันดับที่เกิน 100 ติดต่อกันหลายปีของไทย ดูเหมือนรัฐบาลไทยจะไม่รู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อน ซึ่งเรื่องนี้มีส่วนในการถ่วงการขยายตัวของ GDP มาก
การปราบคอร์รัปชันนี้เป็นนโยบายด้านบริหารที่ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ของจีน ให้ความสําคัญสูงสูด เน้นทําทุกวิถีทางให้เหลือน้อยที่สุดในประเทศจีน ส่วนไทยผู้นําได้แต่พูด แต่ทําไม่เป็น
ประการที่สอง คือ นโยบายการจัดมาตรการต่างๆ มาดูแลให้เกิดการกระจายรายได้จากผู้มีรายได้สูงไปสู่ผู้มีรายได้น้อยทั้งประเทศ เรื่องนี้ต้องทําแบบมีผลให้กว้าง ไม่ใช่ทําแบบเงินบริจาค โดยการนํามาตรการด้านภาษีมาใช้เป็นหลัก ซึ่งจําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทําอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
แต่ตรงกันข้าม สําหรับประเทศไทย นักการเมืองกลับใช้แต่มาตรการลดภาษีเพื่อผลทางประชานิยม ก็ยิ่งทําให้ประเทศ ต้องตกอยู่ในภาวะการคลังถอยหลังเข้าคลองมาตลอด ตรงกันข้ามกับรัฐบาลของญี่ปุ่นและจีนที่ได้ พยายามนํามาตรการภาษีมาใช้เพื่อการกระจายรายได้อย่างต่อเนื่อง
เพราะหากปล่อยให้ผู้มีรายได้สูง สบายกันมากไป อย่าคิดว่าเขาจะเป็นผู้ลงทุนสร้างรายได้ให้ประเทศมากแต่อย่างเดียว ในด้านลบคนที่รํ่ารวยมักจะเอาเปรียบสังคมและใช้จ่ายเงินไปในการบริโภคแต่สินค้านําเข้าที่ฟุ่มเฟือย ทําให้ GDP ถดถอย ได้มาก ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้คนไทยมีมาก ต่างกับคนญี่ปุ่นที่เขานิยมบริโภคแต่สินค้าไม่ว่าถูกหรือแพงแต่ ต้องผลิตโดยญี่ปุ่นเท่านั้น
ประการที่สาม เป็นเรื่องหนึ่งที่คนไทยไม่ได้รับการดูแลหรือให้ความสําคัญจากรัฐบาลของเรา คือ การเน้นยกระดับการศึกษาของไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ
สิ่งที่ทํามักถูกอ้างว่าทํามากแล้วภายใต้ งบประมาณที่จํากัด แต่จริงๆแล้ว กล่าวได้ว่ารัฐบาลของเราปล่อยปละละเลยทิ้งให้คนไทยจมปลักอยู่กับ ความจนอย่างต่อเนื่อง แล้วยังปล่อยให้ทับถมด้วยการศึกษาที่มาตรฐานตํ่ากว่าชาติอื่นในระดับเดียวกัน
การปล่อยปละละเลยในเรื่องการให้การศึกษาแก่เยาวชนในภาวะที่ประชากรสูงวัยกําลังเพิ่มเป็นสัดส่วนที่ใหญ่มากของประเทศเช่นนี้ นึกไม่ออกว่าประเทศไทยในอนาคต GDP จะเติบโตสูงเหมือนประเทศอื่นได้อย่างไร
ถ้าจะพูดว่าแค่สามเรื่องที่ได้กล่าวมานี้ เป็นตัวถ่วงที่หนักมากที่จะทําให้ GDP ของไทยโตไม่ขึ้น หรือโตได้แต่ตามเพื่อนไม่มีทางทัน อย่างดีก็แค่ 3% ต่อปี แต่ถ้านําเอาเรื่องด้านสังคมที่เละเทะเกลื่อนเมืองในขณะนี้ เช่น เรื่องยาเสพติดที่ดูเหมือนว่าผู้มีหน้าที่ปราบปรามจะเปลี่ยนอาชีพเป็นผู้ค้าเสียเอง เรื่องการจี้ ปล้น ฆ่าแกงกันที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ก็ไม่รู้จะหาคําใดมาสาธยายถึงความเป็นประเทศไทยที่มั่นคงได้อีกแล้ว
ประการที่สี่สุดท้าย คือ การบริหารประเทศด้านการคลังแบบอนุรักษ์นิยมจนตามโลกาภิวัตน์ด้านนี้ไม่ทัน คือเป็นแบบโบราณทั้งด้านการจัดระบบภาษีเพื่อหารายได้เข้ารัฐอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สําคัญเพียงครั้งเดียวในสมัยประมาณ 30 ปีที่แล้ว ที่มีการนําภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ในสมัย รัฐบาลท่านนายกอานันท์ ปันยารชุน แต่หลังจากนั้นมีบ้างเฉพาะการปรับเล็กๆน้อยๆ
แต่ก็มีหลายรัฐบาล ช่วงหลังพยายามปรับลดอัตราภาษีโดยเอาใจผู้เสียภาษีให้มากขึ้น เพื่อให้เอกชนและธุรกิจมีอัตราใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าน แต่เป็นการกระทําที่น่าเป็นห่วง คือ เป็นการปรับลดภาษีหลายๆ แบบเป็นระยะๆ เพื่อปูทาง หาคะแนนนิยมทางการเมือง ตัวนี้แหละที่ทําให้ระบบภาษีของไทยบิดเบี้ยวและขาดประสิทธิผล แบบต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้
ในช่วงที่เศรษฐกิจร่อแร่อันเนื่องมาจากสงครามการค้าในปี 2562 แล้วมาต่อด้วยการระบาด ของโควิด-19 เป็นเวลา 3 ปี จนถึงปี 2565 นี้ มีนักการเมืองที่คิดว่าตนเองเก่งกาจด้านเศรษฐกิจมหภาค ได้พยายามหามาตรการกระตุ้นการบริโภคเพื่อให้คงอัตราเพิ่มของ GDP ให้เป็นบวกไว้ก่อน
จนถึงกับ รัฐบาลต้องกู้เงินเป็นพิเศษด้วยการออกเป็นพระราชกําหนดถึง 2 ครั้ง ได้เม็ดเงินมา1.5 ล้านล้านบาท ที่ได้หว่านลงไปเพื่อเพิ่มการบริโภคภาคประชาชนพร้อมๆ กับการเพิ่มหนี้สาธารณะแบบไร้ฐานรายได้มารองรับในภาครัฐ
ซึ่งก็ไม่ว่ากันเพราะมีเรื่องการระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุที่ถือได้ว่าเพื่อรักษาไม่ให้ รัฐบาลติดหล่มหนัก แต่อย่าได้คิดว่านี่เป็นวิธีที่ถูกต้องที่จะนํามาใช้ต่อไปอีกได้
ในช่วงต่อจากนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ถือว่ารัฐบาลสามารถเอาอยู่กับโควิด-19 แล้ว เพราะประเทศเราถูก รัฐบาลเปิดประเทศแล้ว และเป็นช่วงที่ความอดทนของประชาชนคนไทยกําลังจะหมดไปกับรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยครึ่งใบที่ใกล้จะม้วนเสื่อแล้วด้วย จึงไม่สามารถที่จะหาเงินก้อนใหญ่มาแจกอย่าง เมื่อก่อนได้อีกแล้ว
คำถามจึงมีว่ารัฐบาลใหม่ที่แต่ละค่ายก็เก่งพอและรู้เรื่องดีว่าการบีบรัดด้านการเงินการคลังจะไม่เปิดช่องว่างให้หาเงินมาอัดเพิ่มการบริโภคให้ GDP ขยายตัวดูดีได้อีกนั้นจะต้องเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศอย่างแน่นอนเท่าที่ได้ยินได้ฟังการหาเสียงของพรรคการเมืองทั้งเล็กและใหญ่ในตอนนี้มีแต่ความฝันว่าจะทำได้แต่ยังฟังไม่ได้ศัพท์ว่าพรรคใดจะเข้ามาแก้ปัญหานี้ให้เจ๋งได้อย่างไร
ไว้ค่อยเจอกันใน GDP- ภาค 2 ผมจะพยายามแก้ไขปัญหานี้ให้ฟังนะครับ