“พลังงาน” จ่อชง "กพช." เคาะช่วย "ค่าไฟ-แอลพีจี" เป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย
“พลังงาน” ชง กพช. เคาะมาตรการพลังงานเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย พร้อมตรึงค่าไฟฟ้างวดแรก ม.ค.-เม.ย. 2566 ดูแลผู้ใช้ฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย และ 500 หน่วยต่อไป กระทรวงต่างประเทศ คาดราคาพลังงานโลกยังขาขึ้น แนะคนไทยร่วมมือประหยัดสอดคล้องทิศทางโลก
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวเสวนาหาทางออกฝ่าวิกฤติ “พลังงานโลก” ทางรอด “พลังงานไทย” ในหัวข้อ “ถอดบทเรียนวิกฤติพลังงานโลก สะเทือนถึงไทย” จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ประเทศไทยและทั่วโลก ต่างเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา การใช้พลังงานลดลง แต่แล้วเมื่อโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงในช่วงปลายปี 2564 ความต้องการใช้น้ำมันก็กลับมาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และถูกซ้ำเติมจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนในช่วงเดือนก.พ.2565 ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นระดับ 122-140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยน้ำมันดีเซล ทำสถิติสูงสุด 180 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
วิกฤติดังกล่าวส่งผลให้ราคาพลังงานปรับขึ้นยกแพง ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รัฐบาลได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากที่มีเงินสะสมอยู่ราว 4 หมื่นล้านบาท อุดหนุนราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) มาตลอด 2 ปี ก่อนทยอยปรับขึ้น 15 กิโลกรัม 15 บาทต่อถัง จนล่าสุดตรึงไว้ที่ 408 บาทต่อถัง จากต้นทุนที่แท้จริง 460 บาทต่อถัง
ส่วนราคาน้ำมันดีเซล ประเทศนำเข้า 92% ที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากตะวันออกกลาง จึงต้องอ้างอิงราคาดูไบ โดยในช่วงไตรมาส 1/2565 ราคาน้ำมันปรับขึ้นไปทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กระทรวงการคลัง ออกมาตรการเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565ลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร ขณะที่กระทรวงพลังงานได้ปรับลดสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซล จากบี 7, บี20, บี10 เหลือแค่ บี5 ซึ่งในช่วงนั้นเงินกองทุนน้ำมันเหลืออยู่หลัก 2 พันล้านบาท แต่ก็ช่วยพยุงราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จนมาถึงปัจจุบันที่พยุงไว้ที่ 35 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน จนขณะนี้กองทุนน้ำมันติดลบกว่า 1 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ประเมินว่า หากราคาน้ำมันดิบในปี 2566 อยู่ที่ระดับ 100-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยังเป็นระดับที่บริหารจัดการได้ เพราะปัจจุบัน กองทุนน้ำมันใช้เงินเข้าไปพยุงราคาดีเซล ประมาณ 2-3 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้ราคาขายปลีกเกิน 35 บาทต่อลิตร จากก่อนหน้าที่ที่ต้องเข้าไปพยุงถึง 14 บาทต่อลิตร ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบแตะระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบช่วงไตรมาส 3-4/2565 ปรับลดลงมาที่ 95-98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ น้ำมันดิบยังมีความต้องการใช้สูงขึ้น เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวในต่างประเทศ ทำให้ราคาพลังงานในช่วงปลายปียังมีความเสี่ยงด้านราคา โดยประเมินว่าช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ราคาก๊าซ LNG จะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขณะที่ดูราคา spot LNG เดือน ธ.ค.นี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 30 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู โดยกลุ่มปริซึม ปตท. (PTT PRISM) มองว่า จะอยู่ประมาณ 39 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู
สำหรับก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า สัดส่วน 70% ซึ่งเดิมมาจากแหล่งก๊าซในประเทศ ก็ต้องหันไปนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) หลังเกิดปัญหาเปลี่ยนผ่านการบริหารจัดการแหล่งเอราวัณ ทำให้กำลังผลิต ลดลงเหลือ 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิม 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ. ผู้รับสัมปทานรายใหม่อยู่ระหว่างเร่งการผลิตก๊าซอย่างเต็มที่ และที่ผ่านมารัฐได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าไปช่วยแบกรับภาระจากการชะลอปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจนเป็นเงินกว่า 1 แสนล้านบาท
นายกุลิศ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานยังเตรียมดำเนินมาตรการพยุงอัตราค่าไฟฟ้าในไตรมาส 4 ปีนี้ ถึงไตรมาส 1 ของปี 2566 ให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 4.72 บาทต่อหน่วย เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยหากราคาLNG สูงเกิน 25 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก็จะให้ กฟผ. และโรงไฟฟ้าเอกชน หันไปใช้น้ำมันดีเซลเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซฯ ซึ่งคาดว่า จะใช้ดีเซลประมาณวันละ 200-300 ล้านลิตร
รวมถึงขยายระยะเวลาปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะ(ถ่านหิน) โรงที่ 8 ที่จะหมดอายุ 31 ธ.ค.2564 ให้ยืดอายุต่อไปอีก 2 ปี ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มประมาณ 300 เมกะวัตต์ ในอัตราประมาณ 2-3 บาทต่อหน่วย และยังมีแผนให้นำโรงไฟฟ้าแม่เมาะโรงที่ 4 ที่ปลดระวางไปแล้ว กลับมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา EIA คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอีก 200 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ จะต้องเร่งการผลิตก๊าซจากแหล่งในประเทศ ทั้งการเร่งเพิ่มกำลังผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณ และเพิ่มการผลิตก๊าซแหล่งอื่น ๆ ตลอดจนการจัดซื้อก๊าซจากเมียนมา เพิ่มเติมทั้งแหล่งซอติก้า และยาดานา รวมถึงซื้อก๊าซฯเพิ่มจากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ MTJA อีกทั้งการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากลาวเพิ่มเติม
รวมถึง ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพื่อลดการใช้น้ำมัน ซึ่งจากข้อมูลช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ยอดซื้อรถอีวี เพิ่ม 223% หรือ อยู่ที่ 13,298 คัน ซึ่งบอร์ดอีวี ก็อยู่ระหว่างจัดทำมาตรการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ เพื่อลดต้นทุนรถอีวี ให้ประชาชนเข้าถึงรถอีวีได้ง่ายขึ้น รวมถึงดูแลเรื่องของการจัดทำระบบชาร์จไฟฟ้าที่บ้านเพื่ออำนวยความสะดวก ขณะเดียวกัน 3 การไฟฟ้า คือ กฟผ.,กฟน.และกฟภ. ก็ได้เร่งประสานงานจัดทำเรื่องข้อมูลเชื่อมโยงการใช้แอพลิเคชันรองรับการใช้งานรถอีวีที่หลากหลายยี่ห้อ ให้สามารถเชื่อมฐานข้อมูลทั้งระบบ และในช่วงกลางปี 2566 กฟผ.จะเริ่มจัดทำระบบชำระค่าบริการชาร์จไฟฟ้าของรถอีวีที่ชำระร่วมกันได้
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังเร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เข้าสู่ระบบตามแผน PDP ฉบับใหม่ รวมกว่า 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ 6,000 เมกะวัตต์ และมีโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ.อีกประมาณ 2,700 เมกะวัตต์ แม้ว่า กฟผ.จะมีศักยภาพทำได้ถึง 10,000 เมกะวัตต์ใน 20 ปี ตลอดจนพื้นที่เหมืองแม่เมาะของ กฟผ. ที่หากใน 20ปีข้างหน้า เลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ยังมีศักยภาพที่จะทำโซลาร์ฟาร์มได้อีก ทำให้ต่อไป กฟผ.จะกลายเป็นผู้ลงทุนพลังงานสะอาด
“รัฐจะเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมอีก 5 เท่า เป็น 1,500 เมกะวัตต์ และรับซื้อไฟฟ้าจากขยะด้วย ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 เมกะวัตต์ในอนาคต ภาครัฐจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบส่งไฟฟ้าให้ทันสมัย ปรับแก้กฎระเบียบรองรับสมาร์ทกริด และสมาร์ทมิเตอร์ ให้พร้อมรองรับเรื่องของพลังงานหมุนเวียน และรถอีวี ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ได้เตรียมจัดทำของขวัญปีใหม่ให้คนไทย โดยจะเสนอในการประชุม กพช.เดือน พ.ย.นี้ พิจารณาทั้งเรื่อง LPG และค่าไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งในส่วนของค่าไฟ ยังจะดูกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย และ 500 หน่วยต่อ รวมถึงจะมีมาตรการเสริมสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปด้วย”
สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินของกองทุนน้ำมันหลังจากกระทรวงการคลัง ได้เข้ามาค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 150,000 ล้านบาท ตามกำหนดระยะเวลา 1ปี (6 ต.ค.65-5ต.ค.66) นั้น ทางสกนช.ได้ออกหนังสือเชิญชวนให้สถาบันการเงินร่วมเสนอเงินกู้แล้ว คาดว่าต้นเดือนพ.ย.นี้ จะได้รับเงินกู้ก้อนแรก เบื้องต้นแผนเงินกู้จะทยอยกู้เงิน 12 งวด โดย 1-2 งวดแรกวงเงิน 30,000 ล้านบาท งวดต่อไปวงเงิน 20,000 ล้านบาท แต่จะต้องกู้เงินให้เสร็จตามระยะเวลาเงื่อนไข 1 ปี แต่ในส่วนของการชำระเงินกู้ยังดำเนินการไปต่อเนื่อง ซึ่งในอดีตที่เคยกู้เงิน 70,000 ล้านบาท จะใช้เวลาชำระคืนประมาณ 3-4 ปี
ด้านนางสาวสมฤดี พู่พรอเนก รองอธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ความขัดแย้งของรัสเซีย และยูเครน ที่เกินเวลายาวนานมากว่า 8 เดือน และน่าจะยังยืดเยื้อต่อไปอีกนั้น ทำให้เกิดวิกฤติพลังงานไปทั่วโลก คาดว่าพลังงานโลกยังขาขึ้น การแก้ปัญหาสำหรับประเทศไทย สิ่งแรกคือการประหยัดการพลังงานอย่างจริงจัง ส่วนการที่รัฐบาลช่วยเรื่องราคาพลังงานเป็นสิ่งที่ดี แต่โดยส่วนตัวอยากให้ภาครัฐพิจารณาราคาที่ช่วยให้เหมาะสมกว่านี้ เพราะถ้าต้องจ่ายในราคาต่ำเกินไป ก็อาจไม่ได้ตระหนักถึงการประหยัดอย่างจริงจัง
“ภาครัฐอาจหาพันธมิตรประเทศต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหาวิกฤติพลังงาน และดึงคนไทยมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และประหยัดอย่างจริงจัง เพราะไม่ว่ารัฐจะหามาตรการช่วยเหลืออย่างไร แต่หากคนไทยไม่ตระหนักถึงการประหยัด หรือใช้อย่างรู้คุณค่าอย่างจริงจัง รัฐบาลช่วยเหลือเท่าไรก็ไม่เพียงพอ”