BTS จี้ ครม.เคลียร์ 6.8 หมื่นล้าน ‘ส่วนต่าง’ สายสีส้ม
กรณีการล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งแรกจนปัจจุบันได้ผู้ชนะการประมูลในครั้งที่สอง มองว่าหากไม่มีการล้มประมูล ภาครัฐจะเสียงบประมาณในโครงการเพียง 9 พันกว่าล้านบาทเท่านั้น
ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ คีรี กาญจนพาสน์ ระบุ กรณีการล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งแรกจนปัจจุบันได้ผู้ชนะการประมูลในครั้งที่สอง มองว่าหากไม่มีการล้มประมูล ภาครัฐจะเสียงบประมาณในโครงการเพียง 9 พันกว่าล้านบาทเท่านั้น แต่การประมูลครั้งล่าสุดในปัจจุบันกลับพบว่าภาครัฐต้องเสียงบประมาณในโครงการถึง 7.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐและหน่วงงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ควรศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้
ภาครัฐควรพิจารณาในการประมูลด้วย หากผู้ยื่นข้อเสนอรายใดให้ประโยชน์แก่ประเทศชาติมากกว่าควรจะเป็นผู้ชนะ แต่กลายเป็นว่าผู้ชนะการประมูลในครั้งล่าสุดกลับทำให้ภาครัฐต้องเสียงบประมาณถึง 7.8 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้โครงการล่าช้าถึง 2 ปี เราสู้เพื่อความถูกต้องและเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
นอกจากนี้ ในการเสวนาเวทีขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น รฟม.ไม่ส่งตัวแทนในการมีส่วนร่วมเพื่อชี้แจงการประมูลของโครงการฯ เชื่อว่ามีเหตุผลที่ตอบไม่ได้ โดยเรื่องนี้จะต้องผ่านกระบวนการเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และผู้ที่มีอำนาจเป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
จี้นายกฯ สางปมสายสีเขียว
ส่วนปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ กทม.ค้างชำระนั้น เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาดำเนินการและแก้ไขปัญหาที่ กทม. ค้างจ่ายค่าจ้างบีทีเอสในการบริหารการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสโดยไม่ลอยตัวหรือโยนปัญหา ปัจจุบันศาลปกครองมีคำสั่งให้ กทม.ต้องชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถแก่บริษัท ซึ่งการทำสัญญาร่วมกันควรชำระหนี้ตามสัญญาที่กำหนด หากไม่พร้อมชำระหนี้ก็ควรเจรจาหารือร่วมกันได้ แต่ไม่ควรเมินปัญหาในเรื่องนี้ เพราะเอกชนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกวัน
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาภาครัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาการชำระหนี้ให้กับบริษัทในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ ส่งผลให้ความเจริญในการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าหลายเส้นทางมีความล่าช้าเพียงเพราะบางองค์กรไม่เข้าใจธุรกิจนี้มากพอ ผู้ว่า กทม. ควรตัดสินใจได้แล้ว เพราะที่ผ่านมานายกฯได้เป็นผู้สั่งการให้ดำเนินการตามมาตรา 44 บริษัทขอความกรุณาให้ภาครัฐและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ควรเข้ามาดำเนินการอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ยืนยันว่า บีทีเอสจะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน คือไม่หยุดเดินรถ เพราะหากหยุดเดินรถความเสียหายจะเกิดขึ้นกับประชาชน แต่ผู้ที่มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นกทม.หรือนักการเมืองของประเทศต้องดำเนินการได้แล้ว อย่าอ้างในสิ่งที่ไม่เข้าใจหรือพยายามไม่เข้าใจ เพราะจะทำให้ปัญหาล่าช้า เนื่องจากปัจจุบันภาครัฐมีมูลหนี้ที่ต้องชำระกับบริษัทราว 4 หมื่นล้านบาท เรื่องนี้ต้องคิดได้แล้วว่าใครเป็นผู้เสียหาย เราเชื่อว่าประชาชนที่เสียภาษีเป็นผู้เสียหาย
สำหรับหนี้สินที่กรุงเทพธนาคมมีต่อบีทีเอส ปัจจุบันมูลหนี้เกินกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยแยกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วยมูลหนี้ 2 หมื่นล้านบาทที่เกิดจากการติดตั้งระบบรถไฟฟ้า โดยกรุงเทพธนาคมได้ว่าจ้างบีทีเอสให้ดำเนินการ ซึ่งทางบีทีเอสเสนอดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนจึงค่อยชำระค่าใช้จ่าย ขณะนี้ติดตั้งระบบและให้บริการมา 3 ปี ทางกรุงเทพธนาคมก็ยังไม่ได้ชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว ส่วนมูลหนี้ที่เหลืออีกราว 2 หมื่นล้านบาท เกิดจากสัญญาจ้างให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ซึ่งเป็นสัญญาที่ลงนามร่วมกันมาเกือบ 10 ปี