2 แบงก์ยื่นปล่อยกู้ก้อนแรก 5 พันล้าน "กองทุนน้ำมัน" เร่ง “คลัง” ค้ำประกัน

2 แบงก์ยื่นปล่อยกู้ก้อนแรก 5 พันล้าน "กองทุนน้ำมัน" เร่ง “คลัง” ค้ำประกัน

“กองทุนน้ำมัน” เฮ 2 แบงก์รัฐยื่นข้อเสนอปล่อยเงินกู้ก้อนแรก 5,000 ล้าน เร่งเสนอ “คลัง” ลงนามค้ำประกัน หวังเดินเรื่องเร่งนำเงินเข้าบัญชีเคลียร์หนี้คู้ค้าน้ำมัน ก่อนเปิดแบงก์ยื่นข้อเสนออีกรอบสัปดาห์หน้าอีกำ 5,000 ล้าน ส่วนสถานะกองทุนน้ำมันล่าสุดติดลบ 1.29 แสนล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภายหลังสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ทำหนังสือเชิญชวนสถาบันทางการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนราว 7 แห่ง เพื่อให้ทางสถาบันทางการเงินต่าง ๆ ยื่นข้อเสนอต่าง ๆ พร้อมดอกเบี้ยเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับกองทุนน้ำมัน โดยมีกำหนดตอบรับมาในวันที่ 3 พ.ย. 2565 เพื่อทำสัญญาทันที แต่สิ่งสำคัญคือสถาบันทางการเงินจะต้องนำหนังสือค้ำประกันการกู้เงินของกระทรวงการคลังประกอบด้วย ซึ่งขึ้นตอนจะเร็วช้าก็อยู่ที่กระทรวงการคลังด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เบื้องต้นกองทุนน้ำมันจะกู้เงินล็อตแรก 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการกู้งวดแรกที่ 5,000 ล้านบาท และจะทยอยกู้งวดที่ 2 อีก 5,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเสนอให้สถาบันทางการเงินยื่นข้อเสนอสัปดาห์หน้า สวนงวดที่ 3 ที่เหลืออีก 20,000 ล้านบาท จะต้องมาพิจารณาอีกทั้งว่าจะกู้เท่าไหร่ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะได้เงินเข้ามาเติมบัญชีได้ภายในเดือนพ.ย. 2565 นี้แน่นอน

“ทราบว่าเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2565 มีธนาคารรัฐ 2 แห่ง ยื่นข้อเสนอ จากข้อมูลจากกองทุนน้ำมันทราบว่าเป็นแบงก์รัฐ แต่จะเป็นแบงก์ไหนอยากให้ สกนช. เปิดเผยเองดีกว่าเพราะการตัดสินใจน่าจะมีเงื่อนไขข้อเสนอของแบงก์ ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ ลงลึกตนไม่ทราบแน่ชัด ซึ่งเงินจะเข้าเมื่อไหร่ก็ต้องรอกระทรวงการคลัง เห็นชอบการกู้เงินเพื่อให้แบงก์ดำเนินการต่อ แม้จะเดาลำบากว่ากระทรวงการคลังจะเซ็นหนังสือค้ำประกันให้เมื่อไหร่ แต่เท่าที่ทราบการรายงานของสกนช.ก็ยืนยันมาว่ากระทรวงการคลังจะพยายามทำให้ได้เร็วที่สุด” แหล่งข่าว กล่าว 

สำหรับประมาณการฐานกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 30 ต.ค. 2565 ติดลบ 129,701 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 86,781 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ 42,920 ล้านบาท เงินเรี่ยไรจากกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประจำเดือนพ.ย. 2565 ที่ 1,000 ล้านบาท ส่งผลให้กองทุนน้ำมันติดลบ 128,701 ล้านบาท กระแสเงินสดรวม 3,945 ล้านบาท

รายงานข่าวจากวงการธนาคารแจ้งว่า สำหรับ 2 แบงก์ ที่เสนอยื่นปล่อยกู้กองทุนน้ำมัน ได้แก่ ธนาคารออมสินและกรุงไทย

ขณะที่นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภายหลังกระทรวงการคลัง ได้เข้ามาค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 150,000 ล้านบาท ตามกำหนดระยะเวลา 1ปี (6 ต.ค. 2565-5 ต.ค.2566) นั้นทาง สกนช. ได้เร่งจัดทำรายละเอียดการใช้เงินและแผนชำระหนี้ พร้อมออกประกาศเชิญชวนให้สถาบันการเงินร่วมเสนอเงินกู้ได้ต้นเดือนพ.ย. 2565 นี้ และน่าจะได้รับเงินกู้ก้อนแรกในเดือน พ.ย. 2565 นี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นแผนเงินกู้ของกองทุนน้ำมันจะเป็นการทยอยกู้เงิน 12 งวด แบ่งเป็น 2 ล็อตการกู้เงิน ซึ่งล็อตแรกภายวงเงินอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 120,000 ล้านบาท จะเป็นล็อตที่ 2 ซึ่งจะต้องมาพิจารณาตามความเหมาะสมว่าจะแบ่งเป็นงวดละเท่าไหร่อีกครั้งตามช่วงของสถานการณ์ ทั้งนี้ การกู้เงินจะต้องเสร็จตามระยะเวลาเงื่อนไข 1 ปี แต่ในส่วนของการชำระเงินกู้ยังดำเนินการไปต่อเนื่อง ซึ่งในอดีตที่เคยกู้เงิน 70,000 ล้านบาท จะใช้เวลาชำระคืนประมาณ 3-4 ปี

“คาดว่าราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3-ไตรมาส 4 ปีนี้ ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 95-98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 นี้ น้ำมันดิบยังมีความต้องการใช้สูงขึ้น เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวในต่างประเทศ อีกทั้งกลุ่มโอเปกได้ประกาศลดกำลังการผลิตลงอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ราคาพลังงานในช่วงปลายปียังมีความเสี่ยงด้านราคาเป็นอย่างมาก” นายกุลิศ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ประเมินว่าหากราคาน้ำมันดิบในปี 2566 อยู่ที่ระดับ 100-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยังเป็นระดับที่บริหารจัดการได้ เพราะปัจจุบัน กองทุนน้ำมันก็ใช้เงินเข้าไปพยุงราคาดีเซลประมาณลิตรละ 2-3 บาท เพื่อไม่ให้ราคาขายปลีกเกินลิตรละ 35 บาท จากก่อนหน้าที่ที่ต้องเข้าไปพยุงถึง 14 บาทต่อลิตร ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบแตะระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล