เปิดไทม์ไลน์ “กองทุนน้ำมัน” กว่า 1 ปี ดิ้นหาเงินก้อนแรก

เปิดไทม์ไลน์ “กองทุนน้ำมัน” กว่า 1 ปี ดิ้นหาเงินก้อนแรก

ผ่าแผนการกู้เงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภายหลังเริ่มติดลบเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ลากยาวมาเป็นเวลา 1 ปี ภายหลังกระทรวงการคลังออกหน้ารับค้ำประกัน สร้างความมั่นใจให้กับแบงก์ในการปล่อยสินเชื่อ

ปัจจุบันประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 30 ต.ค. 2565 ติดลบ 129,701 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 86,781 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ 42,920 ล้านบาท เงินเรี่ยไรจากกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประจำเดือน ที่ 1,000 ล้านบาท ส่งผลให้กองทุนน้ำมันติดลบ 128,701 ล้านบาท กระแสเงินสดรวม 3,945 ล้านบาท

จากการที่ต้องตัดลบอย่างหนักทะลุ 1 แสนล้านบาท กองทุนน้ำมันได้เดินหน้าที่จะกู้เงินเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง โดยตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ฐานะกองทุนน้ำมันวันที่ 31 ต.ค. 2564 ยังมีเงินอยู่ที่ 7,144 ล้านบาท กระแสเงินสดอีกกว่า 40,000 ล้านบาท จนเริ่มติดลบช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2564 มาจนถึงปัจจุบันกว่า 1.2 แสนล้าน

ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้เริ่มดำเนินตามขั้นตอนการกู้เงินก้อนแรกมูลค่า 20,000 ล้านบาท ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 โดยเริ่มส่งหนังสือเชิญชวนให้สถาบันทางการเงินส่งเงื่อนไขต่าง ๆ มายังสกนช. ภายในวันที่ 31 ม.ค. 2565 แต่ก็ไม่มีสถาบันการเงินไหนยื่นข้อเสนอมา

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กองทุนน้ำมันได้ขยายกรอบเวลาให้วสถาบันทางการเงินเป็นวันที่ 30 เม.ย. 2565 เนื่องจากยังไม่มีสถาบันทางการเงินไหนยื่นข้อเสนอ เพื่อให้ได้เงินเข้ามาพยุงบัญชีที่ปัจจุบันติดลบเพิ่มขึ้นทุกวันจนเลยเพดานในระดับที่กองทุนน้ำมันจะรับไหวที่มีการขยายเพดานเงินไว้ที่ 40,000 ล้านบาทไปแล้ว

“แม้ว่ากองทุนน้ำมันจะเริ่มติดลบในช่วงเดือนเม.ย. 2564 ครึ่งสนล้านบาทแล้ว แต่กองทุนน้ำมัน ยังคงอุดหนุนราคาดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ซึ่งรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้มีมติเลิกอุ้มราคาดีเซลโดยจะปล่อยการอุดหนุนคนละครึ่งจากราคาลิตรละ 30 บาท ซึ่งด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังมีความผันผวน และยังปรับสูงขึ้น ด้วยสาเหตุปัจจัยทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2564 ยังไม่มีทีท่าจะลดลง และสร้างผลกระทบต่อราคาพลังงานโลกโดยตรง”

อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2565 เห็นชอบแนวทางการปรับราคาน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับลิตรละ 32 บาท จากที่คงระดับลิตรละไม่เกิน 30 บาทมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ขณะที่กองทุนน้ำมันใช้เงินในการอุดหนุนลิตรละ 10 บาท ตกวันละกว่า 600 ล้านบาท

ซึ่งหากไม่อุดหนุนจะทำให้ราคาดีเซลจะอยู่ที่ลิตรละ 40 บาท และจากการอุดหนุนเพียงครึ่งเดียวตามมติ ครม.จะทำให้เพดานอยู่ที่ลิตรละ 35 บาท ทั้งนี้ ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 26 เม.ย. 2565 ติดลบ 56,278 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 24,302 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน LPG ติดลบ 31,976 ล้านบาท กระแสเงินสดปัจจุบันที่ 12,416 ล้านบาท

ทั้งนี้ แม้ว่ากองทุนน้ำมันจะขยายระยะเวลายื่นข้อเสนอการกู้เงินแต่ก็ยังไม่มีสถาบันทางการเงินมั่นใจที่จะปล่อยเงินกู้ ส่งผลให้ สกนช.ต้องหาวิธีอื่นโดยเฉพาะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อที่จะดำเนินการอย่างใดให้กับกองทุนน้ำมันได้บ้าง เนื่องจากช่วงกลางปี 2564 กองทุนน้ำมันติดลบทะลุกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว

ต่อมาบอร์ดกบน. วันที่ 11 ก.ค. 2565  ได้ตรึงราคาดีเซลไว้ลิตรละ 35 บาท สัปดาห์ที่ 4 โดยยืนยันว่าภายในเดือน ก.ค. 2565 จะเปิดเผยแผนการกู้เงินให้ชัดเจนอีกครั้ง

โดยจะแบ่งกรอบวงเงินเป็น 3 ก้อนหลัก อาทิ

1. การดำเนินการกู้ภายใต้การกู้ยืมเงิน ในสัดส่วน 50%

2. เงินที่มีการเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน รวมถึงเงินที่ใช้บริหารหนี้ต่าง ๆ ในสัดส่วน 25-30%

3. ขอความร่วมมือจาก 6 โรงกลั่นน้ำมัน ราว 20-25% ซึ่งก็ไม่สามารถตกลงกับโรงกลั่นได้ สุดท้าย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติงบ 3,000 ล้านบาท เดือนละ 1,000 ล้านบาท (ก.ย.-ต.ค.-พ.ย. 2565) ให้กับกองทุนน้ำมัน ในขณะที่แผนการกู้เงินก็ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ครม. วันที่ 25 ต.ค. 2565 ครม. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของสกนช. ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เบื้องต้นแผนเงินกู้ของกองทุนน้ำมันจะเป็นการทยอยกู้เงิน 12 งวด แบ่งเป็น 2 ล็อตการกู้เงิน ซึ่งล็อตแรกภายวงเงินอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 120,000 ล้านบาท จะเป็นล็อตที่ 2 ซึ่งจะต้องมาพิจารณาตามความเหมาะสมว่าจะแบ่งเป็นงวดละเท่าไหร่อีกครั้งตามช่วงของสถานการณ์ ทั้งนี้ การกู้เงินจะต้องเสร็จตามระยะเวลาเงื่อนไข 1 ปี แต่ในส่วนของการชำระเงินกู้ยังดำเนินการไปต่อเนื่อง ซึ่งในอดีตที่เคยกู้เงิน 70,000 ล้านบาท จะใช้เวลาชำระคืนประมาณ 3-4 ปี