เครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนไทย กับ ก้าวย่างสู่วิถีความยั่งยืนระดับสากล
ปัจจุบัน “ปาล์มน้ำมัน” และ “น้ำมันปาล์ม” กำลังอยู่ในความต้องการของโลก เพื่อนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวันของประชาชน
การนำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรมอาหาร พลังงาน และการเกษตร รวมทั้งยังเป็นส่วนผสมในหลายผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม จึงเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรสำคัญเป็นวัตถุดิบขั้นต้นของอุตสาหกรรมต่อเนื่องนั่นเอง
ทำให้การขยายพื้นที่เพาะปลูกจึงเพิ่มขึ้นทั่วโลกเช่นกัน โดยเฉพาะในแถบประเทศเขตร้อนชื้น จนเริ่มส่งผลกระทบเชิงลบต่อความหลากหลายของพืชและสัตว์ ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม และการเชื่อมโยงยังภาคธุรกิจ ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันทั้งระบบ เพื่อช่วยในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่สมดุล
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้สำรวจพบว่ากว่า 50% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต นั้นล้วนทำมาจากน้ำมันปาล์มทั้งสิ้น เช่น ลิปสติก พิซซ่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยาสระผม ไอศกรีม น้ำยาซักผ้า เนยเทียม ช็อคโกแลต สบู่ ไบโอดีเซล
และยังเป็นส่วนผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ เค้ก ผงซักฟอก ไปจนถึงอาหารสัตว์ และยังอุดมไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัวที่มีความสมดุลกันอย่างดี จึงมีส่วนดีต่อสุขภาพและช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดไม่ให้สูงจนเกินไป
สถานการณ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม
การผลิตปาล์มน้ำมันมีผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่ามากหมายทั้งในประบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งเกษตรและบริษัทผู้ปลูก พ่อค้า ผู้แปรรูปสินค้า สถาบันการเงิน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จากประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ปาล์มน้ำมัน
จึงเกิดแนวคิดเพื่อส่งเสริมการเติบโตและการใช้น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ผ่านมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยการรวมตัวของหลายภาคส่วนและสมาชิกก่อตั้ง จนเกิดเป็น องค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO)
ปัจจุบันมีสมาชิกทั่วโลกมากกว่า 500 ราย จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ภายใต้หลักเกณฑ์ 8 ประการ เพื่อสร้างความมั่นใจในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและให้เกิดการปฏิบัติร่วมกันทุกฝ่าย
โดยไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ปลูกใหม่ในพื้นที่ป่าพรุ ไม่ใช้ไฟจุดเผา พร้อมการปกป้องสิทธิมนุษยชนและแรงงาน และค่าแรงที่เหมาะสม เป็นต้น
การรับรองและวิถีความยั่งยืนระดับสากล
พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทย มีประมาณกว่า 6 ล้านไร่ ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในอยู่ในพื้นที่ภาคใต้กว่า 86% หรือประมาณกว่า 5 ล้านไร่และกระจายในภาคต่าง ๆ ของประเทศ ได้แก่ ภาคกลาง 5 แสนกว่าไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แสนกว่าไร่ และภาคเหนือเกือบ 1 แสนไร่ ซึ่งรวมแล้วมีผลผลิตประมาณ 17 ล้านตันต่อปี
แต่ผลผลิตส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อการบริโภคส่วนใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยที่มีการส่งออกและได้การรับรองมาตรฐาน โดยยังไม่มีเครือข่ายที่มีบทบาทสนับสนุนและส่งเสริมการผลิต และการใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันที่ได้รับมาตรฐานการผลิตอย่างยั่งยืนที่ชัดเจน
ยังคงเป็นการรวมกลุ่มรูปแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ หรือเป็นกลุ่มเฉพาะเพื่อช่วยเหลือกันตามความเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตและการบริโภคในระบบห่วงโซ่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา นำมาสู่ความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้อง ในการจัดการวางระบบการติดตามและประเมินผลเพื่อวิเคราะห์ความก้าวหน้า การดำเนินงาน
เพื่อพัฒนาและเพิ่มมาตรฐานเป็นทางเลือกในการรับรองการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมา ภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีการนำมาปรับและประยุกต์ใช้จนเกิดการรับรอบมาตรฐานบ้างแล้ว แม้จะยังไม่ได้แพร่หลายมากนัก เช่น มาตรฐาน RSPO-Roundtable for Sustainable Palm Oil การผลิตปาล์มยั่งยืนตามมาตรฐาน RSPO ที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
โดยยึดหลักการปฏิบัติทั้ง 8 หลักการ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติทั้งความรู้ด้านการจัดการสวน การบริหารจัดการดิน การบริหารจัดการน้ำ การเก็บเกี่ยวที่ดี และการจำหน่ายผลผลิตในราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากที่สุดในขณะนี้ มีความสอดคล้องกับมาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืนในประเทศไทย
ได้แก่ มาตรฐาน GAP เป็นแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี มาตรฐานคุณภาพทะลายปาล์มน้ำมัน (มกษ. 5702-2552) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับปาล์มน้ำมัน (มกษ. 5904-2553) มาตรฐานลานเท (มกษ.9037-2555) ดูแลเรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับลานเท มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (มกษ.5909-2563) ครอบคลุมการบริหารจัดการปาล์มที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องจากน้ำมันปาล์ม ได้แก่ มาตรฐานหลักการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนของประเทศไทย หรือ TSPO : Thai Sustainable Oil Palm and Palm Oil การรับรองคาร์บอนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศ หรือ ISCC : International Sustainability and Carbon Certification เป็นต้น
การริเริ่มเครือข่ายยกระดับความยั่งยืนสู่ระดับสากล
การพัฒนาเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย (Thailand Sustainable Palm Oil Alliance : TSPOA) ได้ริเริ่มขึ้น เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญของประเทศไทย โดย RSPO ประเทศไทย และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พร้อมด้วยองค์กรภาคีผู้ก่อตั้งหลักจาก 5 องค์กร
ได้แก่ สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม สมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตโอลีโอเคมี และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมย์และความมุ่งมั่นของภาคีผู้เกี่ยวข้องผนึกกำลังในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคีผู้เกี่ยวข้องในระบบห่วงโซ่คุณค่าการผลิตปาล์มน้ำมัน
เพื่อร่วมกันผนึกกำลังทุน หรือความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของสมาชิกและเครือข่ายในการผลิตและใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในด้านการค้าและบริโภคที่ยั่งยืน
เป็นการการันตีว่าอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทยพร้อมก้าวเข้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมาย SDG Goals และ BCG ของประเทศและตามกระแสโลกที่พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในปัจจุบันและขยายต่อไปในอนาคต ตลอดจนการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความสมดุลของระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในระยะต่อไป
5 ความมุ่งมั่นเพื่อขับเคลื่อนยกระดับสู่ความยั่งยืน
การดำเนินงานของเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย (Thailand Sustainable Palm Oil Alliance : TSPOA) องค์กรสมาชิกจะได้สานต่อเจตนารมย์ และความมุ่งมั่นของภาคีผู้เกี่ยวข้อง ในระบบห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มต่อการยกระดับด้านมาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืน
การจะผลักดันอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มสู่วิถีความยั่งยืนในระดับสากล โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกรปาล์มน้ำมัน โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ตลอดจนโรงงานโอลีโอเคมี โรงงานไบโอดีเซล รวมไปถึงผู้บริโภคด้วย
โดยมี 5 เรื่องสำคัญที่จะได้ร่วมกันขับเคลื่อนในช่วงแรกนี้ คือ
1) การประสานและขยายภาคีการผลิตและการใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในทุกระดับ
2) การผนึกกำลังทุน หรือความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของสมาชิกและเครือข่าย
3) ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการใช้ประโยชน์จากปาล์มน้ำมันที่ได้รับมาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืน
4) เผยแพร่ข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักในการผลิตและใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืน และ
5) ส่งเสริมบทบาทการทำงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการผลักดันนโยบายและกำหนดมาตรฐานการผลิตการใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืนของประเทศไทยสู่สากล.
คอลัมน์ รักษ์โลก: Low Carbon Society
วิลาวรรณ น้อยภา
พรชนก เสวตวงษ์
นักวิจัยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย