“สุพัฒนพงษ์” หนุนไฟฟ้าพลังงานสะอาดอีก 1 หมื่นเมกฯ รับดีมานด์รถไฟฟ้าพุ่ง
“สุพัฒนพงษ์” ดันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 1 หมื่นเมกะวัตต์ ใน 6 ปี เสริมดีมานด์รถยนต์ EV ในไทยหลังยอดจองรถ EV ทะลุ 15,000 คัน ชี้ระยะสั้นเร่งดันผลิตรถ EV ในประเทศให้ได้ 10% คาดเติบโตได้อีกมาก
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานการเปิดโครงการ “Partner ship Action on Green Economy” หรือ “PAGE” ในประเทศไทยว่า ถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้ยกระดับการทำงานเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่มีการวางเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความสมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายในการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสีเขียวที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และได้ดำเนินการในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2560 มีการลงทุนในเรื่องที่เกี่ยวข้องไปกว่า 6.4 แสนล้านบาท และมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในหลายระดับตั้งแต่ระดับชุมชน เอสเอ็มอี ไปจนถึงโครงการขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมซึ่งรวมถึงการผลักดันและส่งเสริมการใช้และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในประเทศ
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าภายหลังจากที่รัฐบาลมีการออกมาตรการจูงใจ รวมทั้งการลดภาษีสรรพสามิตก็ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ประเทศชั้นนำของรถ EV ประเทศหนึ่งของโลก โดยในปีนี้มียอดจองรถ EV รวมแล้วกว่า 15,000 คัน โดยเมื่อมียอดจองรถ EV มากขึ้นขั้นต่อไปคือการผลักดันการผลิตในประเทศให้เร็วขึ้นเบื้องต้นต้องพยายามให้มีการผลิตรถ EV ในประเทศให้ได้ 10% ของยอดการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศให้เร็วที่สุด
“ภาครัฐมีการสนับสนุนทางการเงินแต่ไม่ได้เป็นการให้เปล่าไม่ได้เป็นการใช้จ่ายไปเฉยเฉยแต่เป็นการให้ผลประโยชน์เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้บริโภคให้กับคนที่ต้องการใช้รถไฟฟ้า และผู้ขายรถไฟฟ้ามีพันธะสัญญาที่จะต้องมาสร้างโรงงานในประเทศไทย ขณะนี้มีบริษัทผู้ผลิตรถ EV กว่า 5 บริษัทที่ตัดสินใจเข้ามาสร้างโรงงานในประเทศไทย ส่วนค่ายรถยุโรปก็มีคนสนใจทั้งเมอร์ซีเดสเบนซ์และบีเอ็มดับเบิลยูก็อาจจะเข้ามาลงทุนหลังจากนี้”
ทั้งนี้สิ่งที่คิดต่อก็คือเมื่อมีรถ EV มากขึ้นก็ต้องมีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้นด้วย ซึ่งสิ่งที่จะผลักดันคือการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาดที่มาจากพลังงานหมุนเวียน และพลังงานทดแทนทุกๆอย่างเพิ่มขึ้นอีก กว่า 10,000 เมกะวัตต์โดยมีการสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดในรถ EV ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเป้าหมายเรื่องของความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050
โดยอาจสามารถทำได้เร็วกว่าเป้าหมายที่วางไว้หากได้รับความช่วยเหลือทางหน่วยงานระดับโลกที่เป็นเครือข่ายของ PAGE ที่อาจเข้ามาช่วยในเรื่องของเทคโนโลยี ความช่วยเหลือทางวิชาการ และการเงิน
สิ่งที่จะช่วยให้ไทยสามารถไปถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้เร็วกว่าเป้าหมายที่วางไว้อาจต้องเร่งเรื่องของรถไฟฟ้า พลังงานสะอาด การจัดการขยะรวมทั้ง เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (CCS) ที่ลักษณะทางธรณีวิทยาของประเทศไทย สามารถที่จะกักเก็บคาร์บอนในใต้ดินได้
เนื่องจากมีลักษณะธรณีวิทยาคล้ายๆกับประเทศนอร์เวย์ซึ่งใช้เทคโนโลยีนี้ โดยเรื่องนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาหากสามารถที่จะทำได้ก็จะทำให้สามารถเลื่อนเป้าหมายการลดคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยขึ้นมาได้เร็วขึ้น