เอเปคในความไม่แน่นอนของการเมืองโลก | บัณฑิต นิจถาวร
เอเปค เป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ21 ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่การประชุมคราวนี้มีความไม่แน่นอนสูงจากความขัดแย้งของประเทศหลักและปัญหาภูมิศาสตร์การเมือง
จนอาจทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศจากนี้ไปจะชะงักงันหรือไม่ไปต่อ เป็นความท้าทายที่ทุกประเทศที่เข้าประชุม ต้องลดความแตกต่างและร่วมกันทําให้เอเปคเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่อไป นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
เอเปค หรือ Asian-Pacific Economic Cooperation (APEC) จัดตั้งเมื่อปี 1989 เป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก 21 ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจเป็นสมาชิก
และตั้งแต่ปี1993 ก็เป็นเวทีเดียวที่ผู้นำประเทศของ 21 ประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกจะเข้าร่วมประชุมกันทุกปีเพื่อผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
บทบาทสําคัญของเอเปคคือ สนับสนุนการเปิดประเทศ การค้าเสรี และเป็นเวทีนโยบายที่ขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ในเอเซียแปซิฟิก
จุดเด่นของเอเปคคือบทบาทภาคเอกชน 21 ประเทศที่ประชุมร่วมกันในเวทีนี้ขนานไปกับการประชุมของภาครัฐและผู้นำประเทศ ทําให้เอเปคเป็นเวทีความร่วมมือที่สามารถขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของ G20 ที่ได้เพิ่มสูงขึ้นในฐานะเวทีหารือของผู้นำยี่สิบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเรื่องเศรษฐกิจโลก รวมถึงการเติบโตกลุ่ม BRICS คือห้าประเทศใหญ่ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
ทําให้บทบาทด้านนโยบายของ APEC ลดลง เปลี่ยนมาเป็นบทบาทสนับสนุนผ่านการกำหนดมาตรฐานและระเบียบปฏิบัติ (Standards Setting) เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
การประชุมที่กรุงเทพคราวนี้จะเป็นครั้งแรกหลังโควิด19 ที่ผู้นำ 21 ประเทศของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคจะพบกันและประชุมกันต่อหน้าต่อตา การคาดหวังจึงสูงที่จะเห็นผู้นำโลกหารือกันเพื่อขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังโควิด
อย่างไรก็ตาม ช่วงปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจและการเมืองโลกได้เปลี่ยนไปมากและเร็ว หลายอย่างได้เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม รวมถึงปัญหาที่เศรษฐกิจโลกต้องแก้ไขก็เปลี่ยนและมีหลายประเด็นเร่งด่วน
เนื้อหาที่จะประชุมกันที่ตั้งประเด็นไว้ล่วงหน้าอาจไม่ตรงหรือสอดคล้องกับความเป็นจริงในเศรษฐกิจการเมืองโลกขณะนี้
หนึ่ง เศรษฐกิจโลกขณะนี้มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า ทั้งจากดิสรัปชั่นของโควิด19 ผลจากสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ปัญหาเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ เป็นความเสี่ยงที่จะกระทบเศรษฐกิจทั่วโลกและต้องการความร่วมมือของประเทศต่างๆในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะประเทศระดับนําของโลก
สอง ความขัดแย้งระหว่างเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและอันดับสองของโลกคือสหรัฐกับจีน นับวันจะทวีความรุนแรงและโจ่งแจ้งมากขึ้น ชี้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปแล้วและชี้ว่าบางประเทศมองประเด็นความมั่นคงสําคัญกว่าเศรษฐกิจ
เห็นได้จากสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น มาตรการการกีดกันทางการค้า การปิดกั้นการทําธุรกิจระหว่างประเทศ และการไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของการค้าโลกของประเทศหลัก
สิ่งเหล่านี้สวนทางกับสปิริตของเอเปคและ Theme หรือหัวข้อการประชุมคราวนี้ที่เน้นการเปิดประเทศ ความเป็นเสรี ความสมดุล และโอกาสทางเศรษฐกิจ
สาม ปัญหาภูมิศาสตร์การเมือง เช่น สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ที่ทําให้โลกจะไม่เป็นโลกที่สงบอีกต่อไป สงครามสร้างดิสรัปชั่นต่อการผลิตพลังงานและอาหาร ทําให้โลกเกิดความขาดแคลนและต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง กระทบความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก
ที่สำคัญมาตรการ Sanctions หรือการลงโทษทางการค้า การห้ามติดต่อธุรกิจ ห้ามทำธุรกรรมทางการเงิน เหล่านี้ล้วนขัดกับเป้าหมายของเอเปคที่สนับสนุนการค้าเสรีและความร่วมมือระหว่างประเทศ
ผลคือเศรษฐกิจโลกเริ่มมีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายในแง่การค้า ไม่เป็นหนึ่งเดียวเหมือนเดิม
สี่ โลกาภิวัตน์ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปัจจุบันการยอมรับได้ลดลงไปมาก ทั้งจากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่โลกาภิวัตน์ได้มีส่วนทำให้ความเหลื่อมลํ้าเลวร้ายมากขั้น และความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจที่มาจากโลกาภิวัตน์
ทําให้ประเทศหลักอย่างจีนหันมาให้ความสําคัญกับการพึ่งตนเองและขับเคลื่อนการเติบโตด้วยปัจจัยภายในประเทศ ขณะที่สหรัฐก็สนับสนุนการย้ายห่วงโช่การผลิตกลับเข้าประเทศเพื่อลดการพึ่งพาและลดความเสี่ยง
ยํ้าว่าโลกาภิวัตน์อาจหมดบทบาทและไม่ใช่ไอเดียหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอีกต่อไป
นี่คือภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเมืองโลกที่ยากขึ้น คําถามคือในภาวะเศรษฐกิจการเมืองโลกที่เปลี่ยนไป เวทีความร่วมมือระหว่างประเทศแบบเอเปคยังจะ revlevant หรือมีพื้นที่อยู่หรือไม่
ในความเห็นของผม ในภาวะที่เศรษฐกิจการเมืองโลกเปลี่ยนไปแบบนี้ การร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาจะยิ่งสําคัญ เพราะในโลกที่ปัญหาส่วนใหญ่จะเกินกําลังประเทศที่จะแก้ไขได้ เช่น โรคระบาดหรือภาวะโลกร้อน ความร่วมมือระหว่างประเทศมักเป็นทางออกเดียวของการแก้ปัญหา
ดังนั้นในการประชุมคราวนี้ สิ่งที่อยากเห็นคือทุกประเทศที่เข้าประชุมพยายามลดความแตกต่างและร่วมกันทําให้เอเปคเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่สำคัญต่อไป
โดย หนึ่ง ไม่เอาภูมิศาสตร์การเมืองมาปนกับเรื่องเศรษฐกิจในการประชุม การเมืองเป็นเรื่องการเมือง และเศรษฐกิจควรเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ
สอง สนับสนุนความคิดริเริ่มของภาคเอกชนที่จะร่วมมือกันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมไม่ว่าจะมีกี่ประเทศเข้าร่วม เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนเป็นพลังที่จะรักษาไว้ซึ่งสปิริตความร่วมมือของเอเปค
สาม โฟกัสการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศในประเด็นใหญ่ๆ ไว้เพียงหนึ่งหรือสองประเด็นที่สำคัญจริงๆ เช่น ภาวะโลกร้อน ทําเป็นความร่วมมือแบบสมัครใจเพื่อให้ประเทศที่สนใจสามารถเข้าร่วมและเริ่มงานได้แม้จะไม่ครบ21 ประเทศ เพื่อให้การแก้ปัญหามีความคืบหน้า.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]