'เอเชีย แค็บ' เล็งผลิตแท็กซี่อีวี ชงรัฐหนุนลดภาษี - ยืดอายุใช้งาน
“เอเชีย แค็บ” ประกาศความพร้อมปีหน้า เปิดตัวแท็กซี่อีวีสัญชาติไทย ชูจุดขายเรียกรถ ตรวจสอบเส้นทาง และจ่ายค่าโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน หนุนผู้โดยสารหันใช้ขนส่งสาธารณะ พร้อมจี้ภาครัฐประกาศนโยบายซัพพอร์ตเอกชนไทย ลดภาษี – ยืดอายุใช้งานแท็กซี่
นายคฤงคาร สุทัศน์ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด เปิดเผยภายในงานสัมมนา Thailand Smart City : Bangkok Model Session 6 : Smart Commuter, Smart Transportation ระบบขนส่งมวลชนอัจฉริยะ เพื่อรองรับการเติบโตของมหานคร จัดโดย “เนชั่น กรุ๊ป” โดยระบุว่า ไทยถือเป็นเป้าหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่ปัจจุบันมีแท็กซี่ให้บริการอยู่ 8 หมื่นคัน และมีอายุการใช้งาน 8 ปีขึ้นไป
อย่างไรก็ดี จากความต้องการของนักท่องเที่ยวในเรื่องของความสะดวกสบาย และบริการด้วยแท็กซี่ที่ทันสมัย จึงเป็นที่มาของการเริ่มธุรกิจแท็กซี่ โดยเลือกรถยนต์ที่มีดีไซน์สวยงาม โดดเด่นในสไตล์ลอนดอนแท็กซี่ เพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้บริการให้แก่ผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบันบริษัท เป็นทั้งผู้ให้บริการแท็กซี่ และเป็นผู้ผลิตประกอบรถแท็กซี่สไตล์ลอนดอน โดยเป็นการผลิต และประกอบในประเทศไทยราว 40%
ขณะที่การตอบรับของผู้โดยสารหลังจากที่บริษัท ให้บริการแท็กซี่สไตล์ลอนดอนมาแล้วกว่า 2 ปี พบว่าความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีมากกว่าซัพพลายจำนวนแท็กซี่ที่ให้บริการ ด้วยรูปลักษณ์ที่แปลกตา และบริการที่ส่วนตัว รวมถึงจุดเด่นที่บริษัท ได้พัฒนาแอปพลิเคชันในการเรียกรถแท็กซี่ ที่ทำให้ผู้โดยสารสามารถเรียกรถ ตรวจสอบสถานะให้บริการ เส้นทาง คำนวณระยะเวลา และจ่ายค่าโดยสารผ่านแอปพลิเคชันได้ทั้งหมดจึงทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสารในปัจจุบัน
“รถแท็กซี่เราออกแบบมาให้สามารถรองรับวีลแชร์ได้ จุดเด่นของแท็กซี่เราคือ คุณภาพของชีวิต ประสิทธิภาพของรถแท็กซี่ที่เพิ่มมากขึ้น เพราะจากการสำรวจแท็กซี่ในกรุงเทพฯ 8 หมื่นคัน ปัจจุบันวิ่งเปล่าไม่ได้รับผู้โดยสารถึง 4 ชั่วโมง ทำให้บริษัท มองแนวทางในการกำหนดจุดที่แท็กซี่จะไปจอดรอรับได้ทั่วกรุงเทพฯ และสามารถเช็กเวลาในการให้บริการ ทำให้คนขับแท็กซี่สามารถประเมินเวลาทำงานได้ และผู้โดยสารก็วางแผนการเดินทางได้ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการตรวจสอบความปลอดภัยด้วย”
นายคฤงคาร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัท ได้ประกอบรถแท็กซี่สไตล์ลอนดอนแล้วเสร็จจำนวน 600 คัน แต่ทยอยนำมาให้บริการแล้วราว 400 คัน โดยระยะต่อไปมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตในปีหน้า จะต่อยอดพัฒนาแท็กซี่ด้วยระบบไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และจะสามารถลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของผู้โดยสารได้ เบื้องต้นจะมีกำลังการผลิตราว 1 พันคันต่อปี คาดว่าในไตรมาส 4 ปี 2566 หรือไตรมาส 1 ปี 2567 อาจจะได้เกิดขึ้น
“ในแต่ละวันรถแท็กซี่ 1 คัน สามารถให้บริการเทียบเท่าแทนรถเก๋ง 17 คัน อีกทั้งต้นทุนค่าจอดรถในกรุงเทพฯ ก็เพิ่มต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าหากพัฒนาแท็กซี่หรือระบบขนส่งสาธารณะให้สะดวก ปลอดภัย ประชาชนจะหันมาใช้บริการรถสาธารณะเพิ่มขึ้น แต่ราคาต้องเป็นธรรม และตอบโจทย์ผู้โดยสาร นี่คือ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคิด อีกทั้งภาครัฐต้องสนับสนุนผู้ประกอบการไทยด้วย”
ทั้งนี้ ปัจจุบันทราบว่ารัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนต่างชาติในผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยต่างชาติจะไม่เสียภาษี และได้เงินสนับสนุน 1.5 แสนบาท ของราคารถยนต์ โดยมีเงื่อนไขภายใน 1 ปีต้องประกอบรถในเมืองไทยให้แล้วเสร็จ ส่วนตัวผมจึงต้องถามหาคำตอบจากรัฐบาลว่า บริษัทไทยจะได้รับมาตรการลดภาษีเหล่านี้หรือไม่ และจะแข่งกับบริษัทเหล่านี้ยังไง หากว่ารัฐยังไม่ได้สนับสนุนเรื่องนี้กับบริษัทไทย และภาครัฐกำหนดอายุรถบริการสาธารณะ หากว่าผมทำอีวีมีส่วนช่วยลดคาร์บอน ก็อยากขอต่ออายุใช้รถให้ถึง 15 ปี เทียบเท่าอังกฤษในมาตรฐานรถรุ่นเดียวกัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์