เศรษฐกิจโลก-ไทยปี 2023 ปีแห่งความไม่แน่นอน: งานไม่ใหญ่แน่นะวิ (ตอน 2)
สภาพัฒน์ฯ แถลงภาพ GDP-Q3/2022 ขยายตัว 4.5% เร่งตัวขึ้นจาก 2.5% ใน Q2/2022 (21 พ.ย. 2022) เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 และนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง บทความตอน 2 นี้ นำเสนอแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงปี 2023 เพื่อให้ทุกภาคส่วนเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนข้างหน้า
เศรษฐกิจไทยปี 2023 ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากแรงส่งด้านท่องเที่ยว แต่เริ่มเห็นสัญญาณความเปราะบางด้านการส่งออก จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก
เศรษฐกิจไทยปี 2022 ธปท. คาดจะขยายตัว 3.2% (เพิ่มขึ้นจาก 1.5% ในปี 2021) อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6.3% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 3.3% ของ GDP แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2023 ธปท. คาดขยายตัว 3.7% สอดคล้องกับสภาพัฒน์ฯ (3.0% - 4.0%) สภาหอการค้าไทย (3.5%-4.0%) และ IMF (3.7%) แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม ASEAN-5 ที่โต 4.9%
ภาคส่งออกไทยเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา หลังโควิด-19 คลี่คลายลง คาดว่า ภาคท่องเที่ยวจะฟื้นตัวและเป็นอีกแรงหนุนเศรษฐกิจ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงไม่เท่ากับช่วงก่อนโควิด-19
โดยในปี 2022 คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ตามเป้าหมาย และในปี 2023 ททท. ประมาณการว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 11-30 ล้านคน โดยกรณีปีฐานอยู่ที่ 18 ล้านคน
หากไม่มีความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น รายได้จากการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นแรงเสริมกับภาคส่งออกเหมือนเช่นในอดีต
อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่น่ากังวลต่อทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2023 เจาะลึกข้อมูลล่าสุดภาวะการค้าไทย 10 เดือนปี 2022 มีมูลค่า 243.1 Bil USD ขยายตัว 9.1% เทียบกับปีก่อนหน้า (%YoY)
ในมิติของตลาดส่งออกในคู่ค้าสำคัญ จะเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวในตลาดสหภาพยุโรป (สัดส่วนตลาด 7.9%) ไม่โตในตลาดญี่ปุ่น (8.6%) และเริ่มหดตัวในตลาดจีน (12%) ตามลำดับ (รูป F.1)
เมื่อวิเคราะห์ประเภทสินค้า พบว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญยังไปได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร เช่น ข้าว เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูปแช่แข็ง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว เป็นต้น
แต่สินค้าส่งออกกลุ่มสินค้าคงทน เริ่มเห็นสัญญาณหดตัวบ้างในหมวดสินค้ารถยนต์ และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
โดยอัตราเงินเฟ้อที่สูงโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ได้ส่งผลต่อรายได้และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงล่าสุด ธปท. และสภาพัฒน์ฯ คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยปี 2023 จะโต 1% จากปี 2022
ผู้เขียนประเมินว่า ความสามารถในการส่งออกของไทยพิจารณาจากมูลค่ายังมีระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 ที่เฉลี่ยประมาณ 220 Bil USD (2015-2019)
มองไปข้างหน้า จากผลสำรวจ JCER/Nikkei Consensus Survey ล่าสุด ณ ก.ย. 2022 ระบุว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 12 เดือนข้างหน้าอันดับ 1 คือ การชะลอตัวของจีน ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่ในระดับน่ากังวลด้วย Score = 75 จากสูงสุด =100
รองลงมาคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (60) และปัญหาเงินเฟ้อ (50) ซึ่งหล่นลงไปอยู่อันดับ 3 (จากเคยอยู่อันดับ 1 ในการสำรวจเมื่อ มิ.ย. 2022) (รูป F.2)
การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ตลาดการเงินโลกที่ผันผวน ส่งสัญญาณความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย
อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่เพิ่มสูงขึ้นตามการกลับสู่นโยบายการเงินแบบปกติ (Monetary policy normalisation) และมูลค่าของเงินดอลลาร์ (ดูจาก WSJ dollar index) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ก่อให้เกิดความกังวลจากหลายฝ่ายว่า
จะเกิดความผันผวนในสกุลเงิน ตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EMs) เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในคราวการยุตินโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) ในปี 2013
มุมมองของนักวิเคราะห์ เห็นว่า สถานการณ์แวดล้อมครั้งนี้แตกต่างจาก QE tapering-2013 โดยกลุ่ม EMs มีความเสี่ยงเพิ่มเติมจาก
(1) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงอาหาร สูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก
(2) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีทีท่าจะยืดเยื้อ และ
(3) เฟด ECB และธนาคารกลางรายใหญ่อื่น ๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่รวดเร็วและแรง มากกว่ารอบ QE tapering-2013
ส่งผลให้สกุลเงินของ EMs ส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. และเริ่มเห็นการลงทุนในหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ (FPT) เริ่มไหลออกจากกลุ่ม EMs สะท้อนจากดัชนี MSCI emerging markets ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
สอดคล้องกับมุมมองของสถาบัน IIF (8 พ.ย. 22) ที่ชี้ว่า ความต้องการซื้อพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของกลุ่มประเทศ EMs มีแนวโน้มลดลง (Weaker outlook) เพื่อไปลงทุนในแหล่งอื่น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2022 (รูป F.3)
(4) การใช้จ่ายฉุกเฉินและกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ในระดับสูง ทำให้บางประเทศ EMs ประสบปัญหาหนี้สินและการขาดดุลงบประมาณเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะทำให้การกู้ยืมมีต้นทุนสูงขึ้น
กรณีไทย ผู้เขียนประเมินว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติการเงินมีจำกัด เนื่องจากตลาดการเงินไทยมีความยืดหยุ่นในการรับแรงกระแทกจากความผันผวนได้ดีระดับหนึ่ง จากความมั่นคงทางการเงินที่ได้บทเรียนจากวิกฤติการเงินปี 1997
การพัฒนาและใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น รวมถึงมีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงอยู่ที่ 228.2 Bil USD หรือคิดเป็น 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และ 8 เดือนของมูลค่านำเข้าสินค้าและบริการ
ในท้ายนี้ จากความเสี่ยงทั้งด้านการค้าและการลงทุนที่อาจเกิดขึ้นในปี 2023 แล้ว ผู้เขียนหวังว่า ทุกภาคส่วนจะช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันตนเอง
โดย “ผู้ส่งออก” ควรเพิ่มผลิตภาพ ผลิตสินค้าที่ตรงตามความต้องการตลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุน หาตลาดใหม่ๆ และการใช้เครื่องมือประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
“นักลงทุน” ควรกระจายความเสี่ยงการลงทุน ทั้งมิติประเภทอุตสาหกรรม ประเภทสินทรัพย์ และประเทศที่ไปลงทุน “แรงงาน” ควรพัฒนาทักษะ มีการศึกษาและมีสุขภาพดี เพื่อให้มีงานและรายได้สูงขึ้น และมีระบบประกันสังคมคุ้มครอง
และเชื่อแน่ว่า เราทุกคนจะรอดจากความไม่แน่นอนในปี 2023 ไปได้ด้วยกันนะวิ!
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.