ข้อเสนอขายไฟสะอาดพุ่ง 1.7 หมื่นเมก ทยอยแจ้งผู้ผ่านเกณฑ์รายบุคคล
“กกพ.” ระบุ 3 การไฟฟ้า เร่งตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายหลังเอกชนแห่สนใจเสนอขายรวมก่วา 1.7 หมื่นเมกะวัตต์ รวม 670 โครงการ ด้าน “กฟผ.” เผย มีผู้ยื่นเสนอขายไฟกว่า 1.5 หมื่นเมกะวัตต์
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565–2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2565โดยได้กำหนดการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3 ประเภท ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) รวมปริมาณรับซื้อไฟฟ้าราว 5,203 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอผลิตไฟฟ้า ซึ่งภายหลังสำนักงาน กกพ. ได้ปิดระบบ REP แล้ว มีผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า รวม 670 โครงการ แบ่งเป็น 1. ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 272 โครงการ และ 2. ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จำนวน 398 โครงการ คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 17,400 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ เพื่อประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติภายในวันที่ 9 ธ.ค. 2565 ซึ่งผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ไม่ผ่านคุณสมบัติสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์พร้อมเอกสารหลักฐานต่อ กกพ. ได้ภายในวันที่ 22 ธ.ค. 2565 โดยสำนักงาน กกพ. จะประกาศผลการพิจารณาอุทธรณ์คุณสมบัติ ภายในวันที่ 11 ม.ค. 2565 และจะเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. อยู่ระหว่างพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น โดยจะแจ้งผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดรายบุคคลว่าผ่านไม่ผ่านตามขั้นตอนต่อไป โดยผู้ที่ยื่นขายไฟฟ้าให้กฟผ. ตามขนาดกำลังผลิตขนาด 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป โดยมีการขอตรวจสอบจุดเชื่อมต่อ 400 ราย และมีผู้ยื่นเสนอขายไฟรวม 269 ราย ที่ 15,085.83 เมกะวัตต์ ซึ่งหากต่ำกว่านี้จะต้องเสนอขายให้กับอีก 2 การไฟฟ้า และขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่จะตั้งโครงการ เป็นต้น